ยามสองขายืนเฉียดริมหน้าผา เผชิญหน้ากับความเวิ้งว้างของท้องทะเล หรือถูกโอบล้อมด้วยหิมะขาวโพลนที่ห่มคลุมผืนโลกสุดลูกหูลูกตา สิ่งที่จะทำให้ผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ไม่ใช่การงานสูงส่งหรือชื่อเสียงสั่งสม แต่คือพลังกายพลังใจอันแข็งแกร่งและสติในทุกย่างก้าวเพื่อเอาชีวิตรอดไปให้ถึงปลายทางที่หวังไว้
“เมื่อคุณอยู่ต่อหน้าธรรมชาติ คุณเป็นเพียงธุลีดิน คุณเป็นเพียงพริบตาของจักรวาล” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วัย 39 ปี เริ่มบทสนทนากับ Forbes Thailand ถึงความจริงของชีวิตที่ได้เรียนรู้หลายปีมานี้
บทบาทเด่นของธนาธรคือรองประธานกรรมการ กลุ่มไทยซัมมิท อาณาจักรผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทยที่มีรายได้รวมราว 7.2 หมื่นล้านบาทในปี 2559 พร้อมตั้งเป้าสู่ตัวเลข 1.1 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี ขณะที่อีกด้าน เขาคือผู้ที่ชื่นชอบการท่องโลกกว้างผ่านกีฬาแนวเอ็กซ์ตรีมและไม่รีรอที่จะสร้างโจทย์ยากขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อท้าทายขีดจำกัดของตน
ล่าสุดได้ปลุกปั้นโครงการ “TJ’s True South” เดินทางสู่ขั้วโลกใต้เป็นระยะทางกว่าพันกิโลเมตรในปลายปี 2561 ไม่เพียงเป็นบทพิสูจน์แรงกายแรงใจ แต่เส้นทางยาวไกลครั้งใหม่ยังเป็นการแสวงหาคุณค่าชีวิตของธนาธรอีกด้วย
จิตวิญญาณแสวงหา
ธนาธรเป็นลูกคนที่ 2 ในจำนวน 5 คนของ พัฒนา-สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยซัมมิท โดยธนาธรในวัย 20 ต้นๆ หลังเรียนจบชั้นปริญญาตรีได้เข้ามาดูแผนกการผลิต เขาเรียนรู้งานอย่างรวดเร็วและปี 2552 ก็มีส่วนสำคัญในดีลระดับหมื่นล้านบาทเข้าซื้อกิจการ Ogihara Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และแม่พิมพ์รายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในที่สุด Ogihara Group ก็สามารถเป็นฐานให้กลุ่มไทยซัมมิทเติบใหญ่ในระดับสากล
ตัวอย่างล่าสุดคือการปรับตัวให้สอดรับกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (electric vehicle-EV) ที่ธนาธรเห็นว่า EV ไม่ได้เป็นเพียงสินค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่เป็นเรื่องที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลก จึงเล็งการณ์ไกลด้วยการเป็นพันธมิตรกับ Tesla, Inc. โดยกลุ่มไทยซัมมิทเป็นผู้ผลิตระบบสายไฟฟ้าและตัวถังให้กับรถยนต์ Tesla
พลังที่มีในตัวทำให้ธนาธรทุ่มเททำงานและใช้ชีวิตสังสรรค์เต็มที่ กระทั่งอายุราว 31 ปี ร่างกายก็ส่งสัญญาณเตือนผ่านโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน เขาเคลื่อนไหวลำบากและเป็นเรื้อรังนาน 2-3 ปี จึงทำกายภาพบำบัดและเล่นโยคะ จากนั้นก็ปั่นจักรยานตามคำชักชวนของเพื่อนฝูง
สายลม แสงแดด และทิวทัศน์สองข้างทางทำให้ธนาธรดื่มด่ำความงามของธรรมชาติ นำพาให้เข้าสู่โลกของการวิ่งระยะไกลรวมถึงไตรกีฬา และเมื่อคำถาม “เราทำได้แค่ไหน” ดังก้องในห้วงความคิด จึงเพิ่มระยะทางในการวิ่งไปถึงกว่า 500 กิโลเมตร และเล่นกีฬาแนวผจญภัยอย่างการพายเรือคายัคล่องแม่น้ำจากเชียงใหม่ถึงสิงห์บุรี ปีนเขาในยุโรป นิวซีแลนด์ เป็นต้น
ผู้บริหารหนุ่มเล่าว่าหากเป็นเวลาปกติผู้คนมักกลัวครอบครัวไม่รัก กลัวสังคมไม่ยอมรับ กลัวการสูญเสียธุรกิจ ฯลฯ แต่พออยู่บนภูเขา สิ่งเหล่านี้จะหายไปสิ้น เหลือไว้เพียง “ความกลัวตาย”
“การปีนเขาสอนให้เราไม่บ่นและไม่ท้อถอยกับเรื่องที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าคุณคิดเล็กคิดน้อย คิดว่านั่นก็ปัญหา นี่ก็ปัญหาคุณก็จะคิดใหญ่ไม่ได้ ดังนั้นคุณต้องก้าวผ่านปัญหาเล็กๆ พวกนี้ไปให้ได้”
ท้าทาย “ขั้วโลกใต้”
ธนาธรกำลังมุ่งมั่นกับการไปขั้วโลกใต้ที่ตั้งเป้าไว้นานแล้ว เกิดเป็นโครงการ “TJ’s True South” ที่เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 หาเพื่อนร่วมทีมชาวไทยอีก 9 คนเดินทางไปขั้วโลกใต้กับเขาในราวเดือนพฤศจิกายน ปี 2561
ผู้บริหารหนุ่มมองว่าการทำธุรกิจและโครงการ “TJ’s True South” มีสิ่งที่เหมือนกันคือความกล้าเสี่ยง ผู้ประกอบการคือ “risk taker” การยอมรับความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่พร้อมเสียเงินหรือเสียชื่อเสียง ก็ไม่สามารถผลักดันความคิดใหม่ๆ สู่สังคมได้
เช่นเดียวกับการแสวงหาครั้งใหม่ของเขาก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง เพราะจะเริ่มต้นที่ประเทศชิลีเพื่อไปยังขอบทวีป Antarctica จากนั้นทั้ง 10 คนต้องเดินบนหิมะกว่า 1,100 กิโลเมตร ลากเลื่อนซึ่งบรรจุสัมภาระน้ำหนักราว 100 กิโลกรัม/คนเป็นเวลาประมาณ 45 วันท่ามกลางอุณหภูมิต่ำกว่า -30 องศาเซลเซียส หากสำเร็จก็จะเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่เดินทางด้วยเท้าไปถึงขั้วโลกใต้
แม้จะยาก แต่ก็มีผู้สมัครกว่า 200 คน ทั้งหมดต้องผ่านการทดสอบร่างกาย เช่น วิ่งทางไกล ลากล้อยาง เดินป่า สเก็ตน้ำแข็ง ฯลฯ ทดสอบ IQ EQ ทดสอบจิตใจภายใต้สภาวะกดดัน รวมถึงความสามารถในการทำงานเป็นทีม และคัดออกเรื่อยๆ เพื่อให้เหลือ 9 คนภายในปลายปีนี้
“ถ้าให้นิยามตัวเอง ผมไม่ใช่ผู้นำที่ยืนข้างหลังแล้วสั่งคนอื่นไปรบ แต่ผมเป็นผู้นำที่จะยืนอยู่แถวหน้าด้วยกันกับคนอื่น ดังนั้นเวลาจัดกิจกรรมอะไรผมก็ต้องทำด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือทีม เพราะสำหรับผมการสร้างทีมเป็นเรื่องสำคัญ คุณจะเก่งคนเดียวหรือไปคนเดียวไม่ได้”
โครงการมีผู้สนับสนุนคือ มูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนา ซึ่งธนาธรกล่าวว่าขณะนี้ยังไม่ต้องใช้งบประมาณมากเท่าไร เนื่องจากฝึกซ้อมที่พัฒนากอล์ฟคลับแอนด์รีสอร์ท อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี ซึ่งเป็นธุรกิจในกลุ่มไทยซัมมิท แต่ปีหน้าที่ต้องไปฝึกซ้อมต่างประเทศที่แคนาดาหรือไอซ์แลนด์เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศหนาวเย็น ต้องใช้งบมากกว่า 10 ล้านบาท และยังมีทุนที่โครงการจะมอบให้ผู้เข้าร่วมทั้ง 10 คน คนละ 1 ล้านบาทเพื่อให้นำไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมตามความชอบ ดังนั้นปี 2561 จึงจะเดินเรื่องหาพันธมิตรผู้สนับสนุนมากขึ้น
เหตุไม่คาดฝันคือสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ก่อนไปจึงจำเป็นต้องมีแผนรองรับความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบด้าน รวมทั้งการรับมือความเสี่ยงขั้นสุดเช่นเหตุฉุกเฉินที่ต้องเรียกเฮลิคอปเตอร์มารับ “แต่เราอยากให้เป็นทางเลือกสุดท้าย ดังนั้นต้องพร้อมที่สุด” เขาย้ำ
อีกสิ่งที่ธนาธรอยากทำก็คือการปีนเขา Vinson Massif ซึ่งอยู่ในทวีป Antarctica หากบริหารจัดการเวลาที่ขั้วโลกใต้ได้อย่างเหมาะสมและความพร้อมเอื้ออำนวย เขาและลูกทีมก็อาจได้ขึ้นไปฉลองปีใหม่ 2562 ที่นั่น
“ผมคิดว่ายังไปได้ไกลกว่านี้ ถ้ายังไม่เข้าใจศักยภาพตัวเองลึกพอและไม่ถูกท้าทายมากพอ บทเรียนพวกนี้เอามาใช้ในการทำงานได้หมด ผมอยากแสวงหาตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารความเสี่ยงให้ดีที่สุด”
เมื่อเราถามว่าแสวงหาอะไรให้ชีวิต ธนาธรนิ่งคิดนิดหนึ่งก่อนตอบว่า “นั่นสิ...ถ้ารู้ก็ไม่ต้องแสวงหาแล้ว” พลางระเบิดเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ภาพ : กิตติเดช เจริญพร และ TJ’s True South