"พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์" ถอดสูทควบทะยานความเร็วระดับโลก - Forbes Thailand

"พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์" ถอดสูทควบทะยานความเร็วระดับโลก

ทุกคนมีความฝัน แต่จะก้าวไปถึงหรือไม่ มีองค์ประกอบมากมายระหว่างทาง บางคนปล่อยให้ความฝันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิด ในขณะที่บางคนวางมือจากทุกอย่างหันมาทุ่มเทกับสิ่งที่ฝัน แน่นอนความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกล เช่นเดียวกับ "พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์" นักธุรกิจหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นนักกีฬาความเร็ว ทำความฝันให้เป็นจริง และสามารถนำพาตัวเองไปสู่เวทีโลกได้สำเร็จ

พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ หรือ “พี่ปั้น” ชื่อเรียกที่คุ้นเคยของผู้คนในแวดวงมอเตอร์สปอร์ตและกีฬาขี่ม้า หนุ่มใหญ่ วัย 65 ปีเป็นอีกหนึ่งคนดังที่สร้างชื่อและการยอมรับด้วยผลงานและความมุ่งมั่นที่มีต่อสิ่งที่เขาหลงใหล ทั้งกีฬามอเตอร์สปอร์ตขับรถแข่งที่เฉือนกันด้วยความเร็วแบบเสี้ยววินาทีทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ก่อนจะก้าวเข้าสู่วงการขี่ม้ามาราธอน อีกเกมกีฬาที่เขาทุ่มเทเต็มที่มากว่า 15 ปี หลังลดความแรงในกีฬามอเตอร์สปอร์ตลง

ความเร็ว” คือ เสน่ห์ที่พฤฒิรัตน์หลงใหล หลังจากลดความถี่ในกีฬามอเตอร์สปอร์ต เขาหันมาเอาดีทางม้าแข่งด้วยการทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มีเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง แต่ทว่าเกมกีฬาบนหลังอานอาชามีรูปแบบความเร็วที่ต่างออกไป เป็นความเร็วที่ต้องประสานสองชีวิตคนกับม้า ต้องควบเข้าจังหวะไปด้วยกัน ต่างกับการห้ำหั่นแบบดุเดือดในการแข่งขันความเร็วของมอเตอร์สปอร์ต

ถึงกระนั้นพฤฒิรัตน์ก็ทำได้ดีไม่ต่างจากรถแข่ง เขาสามารถคว้าแชมป์ระดับอาเซียน และทีมที่เขาสร้างขึ้นสามารถกำชัยชนะในสนามการแข่งขันขี่ม้ามาราธอนหรือ endurance ได้สำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว

พฤฒิรัตน์ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกกีฬาขี่ม้าแข่งมาราธอนของไทย ฝึกฝนและสร้างทีมกระทั่งไปคว้าแชมป์ประวัติศาสตร์ ด้วยการแข่งขันชิงแชมป์สุลต่านคัพที่มาเลเซียได้เป็นผลสำเร็จ เป็นม้ามืดที่สร้างชื่อให้ประเทศไทยได้ภาคภูมิใจกับการแข่งขันระดับอาเซียน ก่อนจะก้าวไปทำคะแนนติดอันดับต้นๆ ของโลกในเวลาต่อมาที่รายการแข่งม้าชื่อดังของประเทศฝรั่งเศส

ความทรงจำวัยเด็กสู่กีฬาขี่ม้า

“ผมจำได้สมัยเด็กๆ ที่บ้านมีคอกม้าและมีม้าแข่งที่ผมเคยได้ลองขี่เล่นๆ ที่สนามหน้าบ้านย่านประดิพัทธ์ สมัยนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นการแข่งขันหรืออะไร ยังเด็กมากแต่จำอารมณ์ที่อยู่บนหลังม้าได้” พฤฒิรัตน์เล่าให้ทีมงาน Forbes Thailand ฟังระหว่างการสัมภาษณ์ที่ The Horses Endurance Stable คอกม้าแข่งของเขาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ 100 ไร่ที่เขาใหญ่ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เขาเล่าอย่างเป็นกันเองว่า ทุกวันนี้ชีวิตเขาผูกพันและทุ่มเทให้กับม้าแข่งที่มี ดูแลเอาใจใส่และทำทุกอย่างให้คอกม้าได้ มาตรฐานสากล พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่ฝึกฝนของนักกีฬาเป็นบ้านพักผ่อนในวันสุดสัปดาห์ และเป็นที่รวมตัวกันของนักกีฬาขี่ม้าในทีม

ด้วยการทุ่มเทพัฒนา ฝึกฝน และเดินสายแข่งขันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเปลี่ยนมุมมองทุกคนที่มีต่อนักขี่ม้าแข่งจากประเทศไทย จากสถานะม้านอกสายตามาเป็นม้าเต็งกลุ่มต้นๆ ของรายการได้สำเร็จ

หนทางที่ยาวนานเกือบทศวรรษทำให้ปัจจุบันทีมขี่ม้ามาราธอนของไทยกลายเป็นตัวเต็งอันดับต้นๆ ของโลกที่หลายประเทศต้องจับตา พลิกภาพหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมที่ไม่เคยมีใครสนใจ หลายคนในเวทีการแข่งขัน endurance ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไปว่า ประเทศไทยอยู่ส่วนไหนของโลก

“ตอนที่ไปแข่งสุลต่านคัพที่มาเลเซียแล้ว เราได้แชมป์มาครั้งนั้นก็เป็นที่รู้จักแค่ในระดับอาเซียน แต่หลังจากนั้นมีคนส่งเสริมให้เราก้าวไปแข่งระดับโลก นั่นคือสนามแข่งที่ประเทศฝรั่งเศส ตอนที่ไปปีแรกๆ ไม่มีใครรู้จักเราเลย นักแข่งม้าทีมยุโรปมองข้ามหัว แถมไล่เราไปอยู่ข้างหลังด้วยซ้ำ” พฤฒิรัตน์ย้อนประสบการณ์ครั้งแรกในเวทีแข่งม้ามาราธอนระดับเวิลด์คลาสที่เขาเคยสัมผัส

มันเป็นประสบการณ์ที่เขาจำไม่ลืม และตั้งใจว่าต้องสร้างชื่อสร้างการยอมรับทีมม้าแข่งของไทยให้ได้ เพราะเขามั่นใจในนักแข่งไทยว่า ไม่ได้น้อยหน้าทีมดังระดับโลก ทิ้งห่างกันไม่เท่าไร ซึ่งในเวลาต่อมาเขาทำได้สำเร็จสมความตั้งใจ

แต่ที่เห็นประสบความสำเร็จสูงเขาเพิ่งมา ทุ่มเทในรอบทศวรรษหลังๆ นี้เอง เพราะเส้นทางความฝันของเขาข้ามจากม้าไปเริ่มด้วยการแข่งรถมาก่อน ส่วนกีฬาม้าที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กยังคงเป็นความทรงจำ เนื่องจากที่บ้านมีคอกม้าแข่งจึงขี่ม้าเป็น แต่ด้วยช่วงนั้น (ราว 50 ปีก่อน) ยังไม่มีสมาคมขี่ม้า ไม่มีองค์กรเป็นเรื่องเป็นราว เขาจึงหันเหไปเป็นนักแข่งรถและใช้เวลากับเกมกีฬาแห่งความเร็วบนสนามแข่งต่อเนื่องยาวนานถึง 20 กว่าปี

เมื่ออายุมากขึ้นจึงเริ่มคิดหากีฬาอื่นๆ เพราะเป็นคนชอบกีฬา พฤฒิรัตน์เล่นกีฬาได้หลากหลายมาตั้งแต่เด็ก เช่น เป็นนักวิ่งให้โรงเรียน สามารถเล่นกีฬาได้เกือบทุกชนิด ไม่เฉพาะการแข่งรถที่เป็นเจ้าสนามความเร็วในวัยหนุ่ม

“หลังแข่งรถมานานคิดจะเลิกจึงเริ่มมองหากีฬา ตอนนั้นเล่นกอล์ฟอยู่แต่ไม่รู้สึก challenge เราชอบกีฬาหนักๆ นานๆ และต้อง fight ด้วย ก็พอดีลูกศิษย์ชวนไปดูม้าที่ ม.29 สนามเป้า เราไปดูเคยเรียน challenge ที่นี่ พอเห็นม้าก็อยากลอง ความรู้สึกเดิมเริ่มกลับมา” เขาเล่าว่า ที่จริงแล้วสนใจเรื่องม้ามาโดยตลอด

“ตอนแข่งรถที่เมืองนอกก็ซื้อmagazine ม้ามาเป็นปึก สนใจและพยายามไถ่ถามว่า เขามีแข่งม้ารายการอะไรบ้าง พอรู้ว่ามีโชว์ jumping มี dressage มี eventing เขาบอกมา 3 อัน โชว์ jumping eventing ไม่เอากลัวตกมาแล้วหาอะไหล่ไม่ได้” พฤฒิรัตน์เล่าติดตลกก่อนจะสรุปว่า

ในที่สุดเขาก็ได้เลือกรายการแข่งที่เหมาะกับตัวเองนั่นคือ การแข่งมาราธอน หรือ endurance เขาบอกว่า ทีแรกไม่รู้หรอกว่าอะไร แต่พอไปแข่งแล้วรู้สึกว่าใช่ จากนั้นจึงได้ติดต่อเพื่อนในประเทศต่างๆ สมัยแข่งรถว่า สนใจอยากซื้อม้าแข่ง และมาได้ที่ออสเตรเลีย เพื่อนบอกถ้าอยากเล่นให้มาออสเตรเลีย เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ม้าอาราเบียน จึงได้ซื้อมาจากฟาร์มที่ออสเตรเลีย ตั้งแต่นั้นมาก็ซื้อม้าจากฟาร์มนี้มาโดยตลอด

“พอได้แข่ง ได้ฝึก และได้ซื้อม้ามาทำคอกม้าแข่งเองก็ยิ่งผูกพันและเพิ่มความสนใจ ใส่ใจเข้าไปเรื่อยๆ ทำทีม มีนักแข่ง มีรางวัลก็สนุก ผูกพัน และต่อเนื่องมาปีนี้ก็เข้าปีที่ 15 แล้ว” เขาเล่าไปเรื่อยๆ ด้วยสีหน้าที่แสดงถึงความสุข กีฬาขี่ม้าคงสร้างความสุขให้พฤฒิรัตน์ไม่น้อย

เพราะนับตั้งแต่เขาก้าวเข้าสู่วงการม้าแข่งมาราธอนความสำเร็จเกิดขึ้นเร็วมาก ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เขาเริ่มเข้าสู่วงการ รายการที่สร้างความประทับใจให้เขามั่นใจในก้าวย่างสู้สนามพร้อมอาชาคู่ใจคือ สุลต่านคัพ ที่ตัวเขาและทีมชนะอย่างเหนือความคาดหมายเป็นครั้งแรก

พฤฒิรัตน์เป็นแชมป์การแข่งขันสุลต่านมิซานคัพ 2011 ประเภทบุคคล และชนะการแข่งขันประเภททีมในรายการมาเลเซียไทยแลนด์ โอเพน เอ็นดูรานซ์ ชาลเลนจ์ 2011 สนามที่ 2 ที่ประเทศมาเลเซีย

ปีต่อมาพฤฒิรัตน์เป็น 1 ใน 3 นักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทยผู้เข้าแข่งขันสุลต่านมิซานคัพ 2012 ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2555 ณ รัฐ Terengganu ประเทศมาเลเซีย ที่ซึ่งมีนักกีฬาจาก 10 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน โดยพฤฒิรัตน์ได้เป็นรองแชมป์ขี่ม้ามาราธอนรายการมาเลเซียไทยแลนด์ โอเพน เอ็นดูรานซ์ ชาลเลนจ์ โทรฟี

ลดความแรงมอเตอร์สปอร์ต

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พฤฒิรัตน์จริงจังตั้งใจกับกีฬาขี่ม้าแข่งมาราธอน ซึ่งเขาทำต่อเนื่องไปจนถึงการแข่งขันระดับเวิลด์คลาสที่ประเทศฝรั่งเศส ในช่วง 10 กว่าปีหลังมานี้ เขาลดความถี่ในเกมกีฬามอเตอร์สปอร์ตลงแต่ยังคงมีแข่งบ้างในรายการสำคัญๆ และก่อนหน้านี้เขาเต็มที่กับกีฬานี้มีรางวัลหลายสนามเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จที่เขามุ่งมั่นในวัยหนุ่ม

ด้วยผลงานในระดับแชมป์ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นผู้ก่อตั้งการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบชิงแชมป์ประเทศไทยที่มีชื่อว่า “ไทยแลนด์ แกรนด์ ทัวริง คาร์” รวมถึงการแข่งขันรถยนต์สำหรับผู้หญิงในรายการ “ฟีเมล ชาลเลนจ์” ที่จัดขึ้นในปี 2542

วันที่ 3 กรกฎาคม ปี 2553 พฤฒิรัตน์เข้าแข่งขันรถยนต์ทางเรียบรายการสิงห์ โปรเอ็นดูรานซ์ เรซซิง 6 ชั่วโมง 2010 ให้แก่ ทีมมอเตอร์สปอร์ตแลนด์ โดยทีมของเขาได้อันดับ 2 จากการแข่งขันครั้งดังกล่าว และในวันที่ 10 กันยายน ปี 2554 พฤฒิรัตน์เข้าแข่งขันรถยนต์ทางเรียบรายการ “อาร์เอเอที ไทยแลนด์ เอ็นดูรานซ์ แชมเปี้ยนชิพ 2011” ที่สนามแก่งกระจานเซอร์กิต จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับทีมเอมมอเตอร์สปอร์ต ซึ่งทีมของเขาได้อันดับ 3 จากการแข่งขันนี้

วันที่ 4 สิงหาคม ปี 2555 พฤฒิรัตน์เข้าแข่งขันรถยนต์ทางเรียบมาราธอนรายการ “อาร์เอเอทีไทยแลนด์ เอ็นดูรานซ์ แชมเปี้ยนชิพ 2012” ร่วมกับทีมเอมมอเตอร์สปอร์ต โดยได้อันดับ 2 ในรุ่นโอเวอร์ออล และวันที่ 21 ธันวาคมในปีเดียวกัน พฤฒิรัตน์ได้ที่ 2 จากการแข่งขันรายการ “บางแสน ไทยแลนด์ สปีด เฟสติวัล 2012” ในรุ่นโตโยต้าบางแสนเอ็นดูรานซ์

จะเห็นว่าแม้เข้ามาจับกีฬาแข่งม้าพฤฒิรัตน์ยังคงแข่งรถควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ได้ลงทุนลงแรงเต็มที่เท่ากีฬาม้าแข่งที่เขาทำคอกม้าเป็นของตัวเอง ใช้เม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านทั้งการซื้อที่ดินบนเขาใหญ่รวบรวมได้กว่า 100 ไร่ และยังได้สร้างคอกม้า มีทีมงานคอยดูแลและฝึกฝนม้า เป็นกิจวัตรตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ พฤฒิรัตน์ยังได้พัฒนาทีมนักแข่งทีมชาติไปแข่งในสนามต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“ม้าทำให้ผมเย็นลงเยอะ อารมณ์เย็นลงใจเย็นขึ้น เพราะเราต้องถนอมเขา มันต่างจากรถที่เราจะเร่งความเร็วอย่างเต็มที่ แต่ม้าเป็นสิ่งมีชีวิตเราต้องรู้จัก คุ้นเคย และเอาใจใส่เขาจึงจะประคองสู่ชัยชนะได้ เราจะชนะไม่ได้ถ้าม้าเราไม่พร้อม หรือเราใช้งานเขาหนักเกินไป”

พฤฒิรัตน์ย้ำว่า ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนที่ค่อนข้างใจร้อน เป็นคนที่เร็วและแรงพอๆ กับกีฬารถแข่ง แต่มาช่วงหลังเขาอ่อนลง สุขุมและใจเย็นมากขึ้น รอได้ รับฟังได้มากขึ้น

ทำคอกม้าแข่งจริงจังตั้งใจ

พฤฒิรัตน์ลงทุนลงแรงทุ่มเทและสร้าง The Horses Endurance Stable ขึ้นมา เพื่อเป็นที่อยู่ของบรรดาม้าแข่งที่เขาสะสมไว้กว่า 60 ตัว ตลอดกว่า 10 ปีที่เขาทุ่มเทให้กับกีฬาขี่ม้ามาราธอนอย่างจริงจัง จนกระทั่งสร้างทีมม้าแข่งของไทยไปคว้าแชมป์ระดับนานาชาติมาได้สำเร็จ

แต่ราว 2 ปีก่อนเขาต้องเผชิญวิกฤตครั้งสำคัญ เมื่อเกิดโรคระบาดม้าขึ้น จากการนำเข้าม้าลายและไม่ได้มีการตรวจคัดกรองที่ดีพอ คอกม้าของเขาที่เขาใหญ่ได้รับเชื้อจากการแพร่ระบาดโดยที่พฤฒิรัตน์ก็ไม่รู้มาก่อน

“ช่วงนั้นม้าตายทุกวัน วันนี้ 5 ตัว พรุ่งนี้ 7 ตัว ตายจนท้อ เบ็ดเสร็จม้าตายไป 26 ตัว กว่าจะหาแนวทางป้องกันได้ ทำให้ตอนนี้เราเหลือม้าอยู่ 29 ตัว” พฤฒิรัตน์เล่าอย่างรวบรัดถึงผลกระทบโรคระบาดม้า ทำให้ม้าแข่งในคอกของเขาล้มตายเป็นว่าเล่น ทุกวันนี้ไม่แน่ใจว่าโรคม้ายังแพร่อยู่แค่ไหน แต่เขามีมาตรการป้องกัน ติดตาข่ายถี่ขนาดเล็กกันแมลงสามารถลดปัญหาการติดเชื้อของม้าลงได้มาก กลายเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานที่เขาใช้ในการป้องกันโรคระบาด

“เสร็จจากโรคระบาดก็มาเจอโควิดต่อเนื่องเลย รายการแข่งม้าจึงพลอยหยุดไปด้วย เราไม่ได้เข้าแข่งรายการอะไรมาตลอด 2 ปีที่มีโควิด แต่ก็ยังคงมีการฝึกซ้อมให้ม้าออกกำลังกาย และนักขี่ก็มาฝึกซ้อมการขี่ที่เขาใหญ่แทบทุกสัปดาห์” เป็นกิจวัตรที่เขาและทีมม้าแข่งยังคงปฏิบัติเป็นกิจวัตรเพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งม้าระดับโลก

“ผมตั้งใจปี 65 จะไปควอลิไฟน์แข่งเวิล์ดคลาสที่อิตาลีเป็นครั้งสุดท้าย นักแข่งที่จะไปเวิล์ดได้มี 3 คน ผม วิภาวรรณ (ผึ้ง-วิภาวรรณ พาวิทยลาภ) และวริศ (วริศ คุณธาราภรณ์) 2 คนนั้นสามารถแข่งได้ ตอนนี้กะว่า 3 คน ตอนแข่งเวิลด์ครั้งแรก 2 คน ตอนนั้นเพื่อนว่าถ้าไป 3 จะติด 1 ใน 5 ประเภททีม ตอนนี้เราก็ไปกัน 3 คน ขอให้ติด top 5 1 ใน 5 ของโลก ถือว่าสำเร็จแล้ว” เจ้าของ The Horses Endurance Stable ยืนยันด้วยแววตาที่มุ่งมั่น

นำทัพวงการขี่ม้าไทยสู่เวทีโลก

รายการแข่งขันระดับโลกที่พฤฒิรัตน์กล่าวถึงจะมีขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้ ทำให้เขาต้องเตรียมตัวให้มากยิ่งขึ้น แต่ก็มีอุปสรรคเพราะหลังจากม้ามีเรื่องโรคเข้ามา 2 ปีผ่านมาไม่มีการแข่งขันเลย มีแต่การขี่ระยะสั้น ถือเป็นอุปสรรคที่ไม่ได้ซ้อม ตัวนักขี่ก็ไม่ค่อยได้ซ้อมยาวๆ ได้แต่ซ้อมขี่ช่วงสุดสัปดาห์วนเวียนในระยะสั้นๆ ไม่ได้ซ้อมยาวๆ ให้ฟิตเท่าที่ควร แต่พฤฒิรัตน์ยืนยันว่า ทุกคนพร้อมเต็มที่เตรียมตัวกันอย่างดีเพื่อรายการใหญ่ครั้งนี้เป็นการทิ้งทวน ซึ่งหลังจากนี้เขาจะยังคงอยู่ในวงการขี่ม้า แต่อาจไม่ได้แข่งเอง อาจเป็นการส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น

“เราเป็นสโมสรหนึ่งในสมาคมขี่ม้า เริ่มหาตัวแทนเด็กใหม่มาแทนเราหลายคนแล้ว แต่คลับเรายังปิดอยู่ โรคภัยและม้าตาย มีม้าสอนน้อยลง ปีนี้จะจัดโชว์ jumping ให้คนรักม้ามาใช้ activity กับเราได้ เอาม้ามาพักผ่อน ไปเดินออกกำลังกายก็ได้ The Horses Endurance Stable แพลนเดิมจะเปิด 2 ปีที่แล้ว พอดีมีโรคม้าเลยชะลอไป แต่ถ้าเป็นแหล่งที่นักขี่ม้าทุกคนมารวมตัวที่นี่ได้ แลกเปลี่ยนกัน ผมว่าโอเคนะ” เขาย้ำถึงเป้าหมายของคอกม้าที่เขาใหญ่ว่าจะไม่ใช่แค่เพียงที่ฝึกม้า แต่อยากให้เป็นแหล่งรวมกิจกรรมของคนเลี้ยงม้า คนขี่ม้า และคนรักม้าได้มารวมตัวกัน

แม้พฤฒิรัตน์จะคลุกคลีกับการขี่ม้ามากว่า 15 ปี วงการนี้ก็ยังคงอยู่ในวงจำกัด “กีฬาม้าตอนนี้น่าเสียดายเป็นเฉพาะกลุ่ม การยอมรับสิ่งใหม่หรือความเปลี่ยนแปลงต้องจูนกันไป ผมเป็นอุปนายกสมาคมขี่ม้าก็พยายามอบรมวิธีการเลี้ยงการเทรนม้าจะได้กระเตื้องขึ้นบ้าง”

ทำให้ตอนนี้เริ่มมีจำนวนคนขี่เยอะขึ้น คนเลี้ยงม้าเยอะ สโมสรขี่ม้ามีเกือบ 100 สโมสร ที่เป็นสมาชิกสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย ซึ่งกลุ่มใหญ่โชว์จั๊มปิ้ง ส่วนเอนดูรานซ์กระจายในภูมิภาคมีเยอะภาคกลาง ภาคอีสานเยอะหน่อยเขาใหญ่ ร้อยเอ็ด สกลนครก็มี

พฤฒิรัตน์เล่าว่า กิจวัตรสำหรับม้าแต่ละสัปดาห์ ถ้าเรารู้ตารางการแข่งขันแน่นอนก็จะแพลนการซ้อม การให้อาหารต่างๆ อีก 2 เดือนแข่ง 80 กม. “ก็จะมีตารางทำอะไรบ้าง ขี่แบบไหนอะไรต่างๆ วิ่งใกล้วิ่งไกล เตรียมตัว 2 เดือน ก่อนจะไปเวิลด์ จ้างคนที่โน่น (ยุโรป) ดูแล โดยนักกีฬาจะบินไปก่อนสัก 7 วันเพื่อทำความคุ้นเคยกับม้าก่อน”

เกมกีฬาขี่ม้ามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แม้จะไม่ได้ลงทุนรถยนต์เพื่อแข่งขัน แต่ก็ต้องลงทุนเรื่องม้า ต้นทุนการเลี้ยง การดูแลม้าค่อนข้างสูง ต้องมีทั้งใจและกำลังทรัพย์

“กีฬาขี่ม้าเป็นอีกกีฬาที่ฝึกจิตใจคน แม้แต่เด็กออทิสติกขี่ม้าสามารถปรับอารมณ์ได้ พ่อเคยพูดว่า ใครได้ลูบขนม้าส่วนใหญ่จะติดใจ เราได้ลูบและขี่แล้วก็ติดใจ แต่อย่าลืมม้าเป็นสัตว์เหมือนกัน คนจะมาเล่นกีฬาประเภทนี้ต้องดูแลเขาให้ดี” พฤฒิรัตน์กล่าวทิ้งท้ายสำหรับใครก็ตามที่กำลังสนใจกีฬาขี่ม้าต้องเตรียมตัว เตรียมใจ และต้องผูกพันไปด้วยกันกับม้าที่แข่งถึงจะไปถึงเส้นชัยได้สำเร็จ

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ The Horses Endurance Stable อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine