อุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อผู้สูงอายุของบีโอไอ - Forbes Thailand

อุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อผู้สูงอายุของบีโอไอ

ปี 2564 นี้ ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (Aged Society) แล้ว โดยมีการประมาณการณ์ว่ามีสัดส่วนผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุ80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.5 ล้านคน เมื่อสังคมผู้สูงอายุขยายตัวเพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความแข็งแกร่งทางการแพทย์ในประเทศมาโดยตลอด บีโอไอได้ขับเคลื่อนการให้การส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิต และการบริการ เช่น การให้ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยา ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ การให้บริการสถานพยาบาลและบริการทางการแพทย์ ซึ่งกิจการเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับการดูแล รักษาบำบัด และฟื้นฟูผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการรองรับผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร เมื่อปลายปี 2563 บีโอไอได้เปิด 2 ประเภทกิจการใหม่สำหรับการดูแลผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะคือ 1. กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ โดยผู้ที่ได้รับการส่งเสริมฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี และ 2. กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี ขณะที่เทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะถูกนำมาใช้ในการดูแล รักษาหรือฟื้นฟูสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุมีความต้องการผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ทั้งนี้ เทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยปัจจุบันบีโอไอมีประเภทกิจการให้การส่งเสริมการลงทุน 3 กิจการ คือ 1. กิจการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี 2. กิจการซอฟต์แวร์ กลุ่มกิจการพัฒนา Enterprise Software และ/หรือ Digital Content รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี ไม่จำกัดวงเงิน และ 3. กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่แม้ว่าจะไม่มีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ก็จะได้สิทธิประโยชน์อื่น เช่น การอนุญาตให้นำช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน ซึ่งถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่จะทำให้เกิดการดึงดูดโปรแกรมเมอร์เก่งๆ มาร่วมงานที่ประเทศไทย ทำให้เกิดการถ่ายทอด    องค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ รวมถึงการช่วยสร้างระบบนิเวศน์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นอีกหนึ่งกิจการใหม่ที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้สูงอายุ คือ กิจการอาหารทางการแพทย์ และกิจการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีหลายสูตรหลายรูปแบบให้เลือกสรร กิจการดังกล่าวสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์กิจการผลิตอาหารทางการแพทย์ (Medical Food) หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement) โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี การเติบโตของสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นตาม บีโอไอพร้อมให้การส่งเสริมฯ ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ที่สะดวกและมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งการส่งเสริมเหล่านี้เป็นหนึ่งใน    เป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)