เปิดศักราชด้วยมิติการลงทุนที่ก้าวอีกขั้นด้วยการชูแนวคิด “Beyond Investment” ขยายขอบเขตใหม่ของการลงทุนที่เหนือกว่าด้วยโอกาสสร้างผลตอบแทนและบริหารความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ที่หาไม่ได้ในประเทศ
บริษัทหลักทรัพย์ภัทรจำกัด (มหาชน) เปิดมุมมองการลงทุนของปี 2019 ด้วยกิจกรรมสำหรับลูกค้า Wealth Management ภายใต้ธีมงาน The Year Ahead 2019 “Opportunity Harnessed” เพื่อให้ข้อมูลด้านการลงทุนที่เป็นประโยชน์กับลูกค้าคนสำคัญ
ณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล บล.ภัทร เผยถึงที่มาของการจัดงานที่ฉีกกรอบจากทุกครั้งอย่างน่าสนใจว่า นิยามของความหลากหลายในการลงทุนไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่การกระจายประเภทสินทรัพย์แบบเดิม แต่หมายรวมถึงการกระจายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ เพราะหากพิจารณาจากขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ของประเทศไทยคิดเป็นเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั่วโลก หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นในแง่ประเภทสินทรัพย์ ผลิตภัณฑ์ หรือภูมิภาคยังมีโอกาสสำหรับการลงทุนนอกประเทศที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุนไทยอีกมาก ประกอบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะฝ่ายกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนก็ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การนำเงินลงทุนออกไปต่างประเทศมาเป็นระยะๆ
“ที่ผ่านมานักลงทุนไทยทยอยไปลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกองทุน FIF ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น แต่กองทุน FIF ของไทยมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศที่มีอยู่ในโลก เพราะฉะนั้น บล.ภัทร จึงได้จับมือกับบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน และสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกที่เชี่ยวชาญบริการในด้านนี้เพื่อนำเสนอบริการ Global Investment Service (GIS) เป็นตัวช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนในต่างประเทศได้บนแพลตฟอร์มที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าได้แสวงหาผลประโยชน์จากการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น โดยไม่ต้องรอว่าจะมีกองไหนมาตั้งเป็นกองทุน FIF แถมยังช่วยให้ลูกค้าจ่ายค่าธรรมเนียมถูกกว่าเดิม”
ทั้งนี้ ณฤทธิ์ ยังสะท้อนภาพตลาดการลงทุนในปีที่ผ่านมาว่า การจะบริหารพอร์ตให้มีผลตอบแทนที่พอใจนั้นเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยหากมีการจัดพอร์ตที่มีความหลากหลายของภูมิภาค สินทรัพย์ ผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่สกุลเงินของการลงทุนในต่างประเทศเข้ามาก็สามารถช่วยปรับพอร์ตการลงทุนให้ทนทานต่อภาวะผันผวนได้มากขึ้น
เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพของบริการและโอกาสในการลงทุน สัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่ช่วยตอกย้ำถึงความน่าสนใจของการขยายขอบเขตการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยในช่วงเช้าเนื้อหาของการสัมมนาจะฉายภาพสภาวะการลงทุนให้เห็นเป็นภาพใหญ่ (Global Macro Outlook) โดยสะท้อนผ่านมุมมองของวิทยากร จาก บล.ภัทร และวิทยากรที่เป็นตัวแทนจากพาร์ทเนอร์ระดับ Global Player อย่าง BlackRock Asset Management และ J.P. Morgan Asset Management ซึ่งสามารถให้ภาพรวมการลงทุนในระดับโลกได้เป็นอย่างดี ต่อด้วยการเสวนาในภาพรวมของตลาดหุ้นไทย และการเข้ามามีบทบาทในเรื่องการลงทุนของ Artificial Intelligence (AI) หรือ “ปัญญาประดิษฐ์”
“สมัยก่อนเวลาจะลงทุนในหุ้น ถ้าเป็นการลงทุนแบบพื้นฐานเราใช้การหาข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนจากความรู้ที่สร้างจากข้อมูลดังกล่าว แต่ตอนนี้เทคโนโลยีจำพวก Big Data และระบบ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ยกตัวอย่างจะวิเคราะห์หุ้นในกลุ่มรีเทลว่ายอดขายจะดีหรือไม่ดี สมัยก่อนต้องรอดูผลประกอบการแต่ละไตรมาสว่าเป็นอย่างไร แล้วมีแนวโน้มอย่างไรต่อไป แล้วจึงมาดูผลกระทบในภาพรวมประกอบ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราสามารถนำดาต้าของการใช้จ่ายบัตรเครดิตมาประเมินประเภทของการจับจ่ายโดยไม่ต้องรอให้มีการแถลงผลประกอบการ เพราะมีข้อมูลที่สามารถนำมาประเมินถึงรายได้ที่จะเกิดขึ้นได้ นี่คือตัวอย่างของการนำบิ๊กดาต้ามาเสริมทัพกับสมองคน ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มี แต่ในต่างชาติพัฒนามาเป็น10 ปี และนั่นคือโอกาสที่เราจะไป”
อีกหนึ่งความพิเศษของการสัมมนาครั้งนี้ คือมีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงหัวข้อที่ Beyond Investment อาทิ การวางแผนสืบทอดกิจการ และบริหารจัดการผู้สืบทอดธุรกิจว่าควรจะเป็นไปรูปแบบไหน โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ สุพล วัธนเวคิน ประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อนุรัตน์ ก้องธรนินทร์ ที่ปรึกษาด้าน Family Business & Wealth และ เปรมฤดี ปริณายก ตัวแทนจากบล.ภัทรที่เชี่ยวชาญด้านภาษีและการจัดการโครงสร้างและการสืบทอดธุรกิจครอบครัวมาแลกเปลี่ยนมุมมองการสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่น่าสนใจ
“การทำอย่างไรให้ยั่งยืนเกิน 3 รุ่น ตรงนี้มีปัญหามาก ทั้งโครงสร้างทางกฎหมายที่ไม่ดี บางรายโครงสร้างค่อนข้างดีแต่เกิดความขัดแย้งในครอบครัว เนื่องจากมีเอกสารทางกฎหมายไม่สนับสนุนโครงสร้างนั้น ไม่มีการตกลงสิทธิหน้าที่สมาชิก สวัสดิการของสมาชิกครอบครัว รวมทั้งมีปัญหาในการสื่อสาร การที่จะแก้ปัญหาตรงนี้ต้องมี governance หรือ “การกำกับดูแล” ซึ่งไม่จำเป็นเฉพาะทางกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องมีการตกลงของการอยู่ร่วมกัน คุณค่าของครอบครัว ค่านิยม สิทธิ หน้าที่ สวัสดิการ และความหมายของสมาชิกครอบครัว ส่วนในทางกฎหมาย มีการจัดโครงสร้างการถือหุ้น จัดสรรความเป็นเจ้าของครอบครัว ทรัพย์สินของครอบครัวต้องมีความชัดเจน มีความยุติธรรม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องเท่ากัน เป็นเรื่องที่แต่ละครอบครัวต้องมาดูกันว่าจะแบ่งกันอย่างไร”
นอกจากนี้ ยังมีสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อาทิหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ที่มีหลากหลายตั้งแต่ยา อุปกรณ์การแพทย์ ไบโอเทคโนโลยี ตลอดจนหัวข้อเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยค็อกเทลปาร์ตี้ในธีม “Passion & Beyond” ด้วยการพาลูกค้าทุกท่านไปดื่มด่ำกับหลากหลายไลฟ์สไตล์ผ่านเรื่องราวของแบรนด์คุณภาพ นำโดย Aston Martin, Leica, McIntosh และ Treasury Wine Estate
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของงานสัมมนา The Year Ahead 2019 “Opportunity Harnessed” ได้ที่ http://theyearahead.info