เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (23 เม.ย. 67) มีมติเห็นชอบหลักการ Digital wallet แล้ว โดยยังคงเป้าหมายการเปิดให้ลงทะเบียนในไตรมาส 3 และเริ่มใช้จ่ายได้ตามแผนเดิมในไตรมาส 4 ปี 2567
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเริ่มใช้งาน Digital wallet ยังไม่สามารถเคาะวันได้ และจะไม่กำหนดเวลาเร่งรัดเกินไปเพราะอาจเกิดปัญหาอื่นๆ จากการเร่งทำโครงการ โดยโครงการนี้ถือเป็นนโยบายกึ่งการคลัง เป็นกระบวนการดำเนินงานตามมาตรา 28 เป็นงบประมาณประเภท 1 ที่จะเริ่มดำเนินการตามกรอบเวลาของมาตรา 28 ที่จะเริ่มต้น ต.ค. 2567
ขณะเดียวกันยังตอบคำถาม กรณีที่สังคมแสดงความกังวลต่อสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า ธ.ก.ส. มีรัฐบาลถือหุ้นทั้ง 100% มีสภาพคล่องเพียงพอ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และการดำเนินการต่างๆ จะไม่ส่งกระทบพนักงานและผู้เกี่ยวข้องภายใน ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ ด้านแอปพลิเคชันในโครงการ Digital wallet ยังคงไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ต้องรอความคืบหน้าต่างๆ แต่โครงการนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การลงทะเบียน และ ส่วนเพื่อการใช้จ่าย ซึ่งจะมีลักษณะ Open loop ที่เปิดให้เชื่อมต่อได้ในหลายภาคส่วน
ทั้งนี้ เงื่อนไขเดิมคือ Digital Wallet จะให้สิทธิ์แก่ประชาชนที่อยู่ในทะเบียนบ้าน สัญชาติไทย อายุ 16 ปีขึ้นไป
- ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี
- มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
ในด้านการใช้จ่าย ระบุเงื่อนไข ได้แก่
1) ประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก
2) ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า
2.1 ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น
2.2 ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า
ทั้งนี้ สินค้าที่ไม่เข้าร่วมโครงการฯ เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม น้ำมัน ฯลฯ ขณะที่คุณสมบัติและเงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ: ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax CIT)
ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
ส่วนแหล่งเงินของโครงการจากยอดรวมเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท มาจาก 3 ส่วน ได้แก่
1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวนประมาณ 152,700 ล้านบาท
2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวนประมาณ 172,300 ล้านบาท
3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนประมาณ 175,000 ล้านบาท
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : คาด 'บรรจุภัณฑ์ไทย' ปี 67 โตแตะ 3.85 แสนล้าน มั่นใจงาน ProPak Asia 2024 พัฒนาศักยภาพการผลิตมากขึ้น
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine