แต่ดร.เชาว์เชื่อว่าอัตราหนี้เสียเมื่อไตรมาสก่อนเป็นจุดต่ำสุดของอัตราหนี้เสียสินเชื่อบ้านแล้ว คาดว่าปี 2560 นี้จะเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปีก่อนสถาบันการเงินเพิ่มระดับความเข้มงวดในการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านขึ้น เนื่องจากเห็นแนวโน้มการเติบโตของ NPLs สินเชื่อบ้านอย่างมีนัยยะสำคัญ และบริษัทจัดสรรต่างๆ มีการปรับตัวตามโดยคัดเลือกผู้ซื้อบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ปีนี้เชื่อว่าอัตราหนี้เสียในสินเชื่อบ้านจะลดลง
ดร.เชาว์กล่าวถึงประเด็นที่น่าจับตามองอีกส่วนคือ หนี้ครัวเรือน เมื่อปี 2559 พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยปรับลดจาก 81.2% เมื่อปี 2558 ลงมาเหลือ 80.2% และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าปีนี้จะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยเหลือ 80.1%
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะทวีความรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปแล้วหลายครั้ง และคาดว่าจะยังมีการปรับขึ้นอีก 2-3 ครั้งเพื่อไปให้ถึงอัตราดอกเบี้ย 3% ตามที่ตั้งเป้าไว้ ถึงแม้ในประเทศไทยปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% แต่เชื่อว่าใน 2-3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเช่นเดียวกับแนวโน้มของทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนของไทย