บัตรกรุงไทย หรือ KTC ยังไม่ละทิ้งเป้าหมายกำไรเติบโตขึ้น 10% ในปี 2560 สานต่อประสานคู่ค้าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ล่าสุดเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มตัวโดยยกเครื่อง TapKTC ให้โดนใจสมาชิกบัตรกว่าเดิม หวังขยายกลุ่มผู้ใช้เป็น 2 ล้านรายภายในกรกฎาคม 2561
ผลกำไรในปี 2560 ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น 10% จากปีก่อนหน้าคือหนึ่งในเป้าหมายที่
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เน้นย้ำว่าอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ด้วยเพราะยังคงความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรจากการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัวต่อเนื่องรวมถึงยังควบคุมให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมหรือไม่ทะลุ 1% แม้จะต้องพบกับความท้าทายใหม่ๆ จากหลายปัจจัยก็ตาม
“เราเชื่อในเรื่องการประสานความร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบจึงนับเป็นปีที่เรามีโอกาสดีกว่าคนอื่นช่วยให้ KTC ปรับสู่สถานะที่ดีกว่าเดิมพร้อมมุ่งมั่นทำการตลาดด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน”
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2561 จากการเปิดเผยของระเฑียรระบุว่า ยังเน้นขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ แบบไร้ขีดจำกัดไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางการตลาด กลุ่มสตาร์ทอัพ ฟินเทค หรือกลุ่มร้านค้าที่มีจุดแข็ง ซึ่งพร้อมที่จะทำงานร่วมกับ KTC เพื่อนำเสนอบริการและรองรับธุรกรรมการเงินที่ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
“เรามีแผนปรับกลยุทธ์การตลาดในธุรกิจหลักคือ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และร้านค้า เพื่อสร้างโอกาสจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายใหม่และรักษาฐานสมาชิกเดิมให้อยู่กับแบรนด์ KTC อย่างยั่งยืน”
ด้านแผนการตลาดของ KTC ที่เดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจต่างๆ เพื่อสรรหาสิทธิพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อทุกหมวดการใช้จ่ายที่จำเป็นและตอบสนองทุกเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ที่จะเกิดขึ้น เช่น หมวดกีฬาท่องเที่ยว ของเล่น ของสะสม สัตว์เลี้ยงและคอมมูนิตี้ต่างๆ รวมทั้งจะมุ่งสร้างการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ และช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้จ่ายผ่านบัตร รวมถึงพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้สมาชิก KTC ทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ผ่าน “Click KTC” บน www.ktc.co.th โฉมใหม่ หรือผ่านโมบายล์แอพพลิเคชั่น “TapKTC”
ส่วนธุรกิจสินเชื่อบุคคลซึ่งน่าจะมีการแข่งขันสูงและมีความท้าทายมากขึ้นกว่าเดิมในปีหน้า จากกฎเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา บริษัทจึงจะขยายฐานสมาชิกใหม่ไปยังกลุ่มเป้าหมายศักยภาพที่มีรายได้ 30,000 บาทมากขึ้นเพราะไม่มีการจำกัดวงเงินและจำนวนสถาบันการเงิน อีกทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของบริษัท โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาและมีงานประจำทำ รวมทั้งบริหารจัดการพอร์ตลูกหนี้ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสูดและผูกพันกับ KTC ด้วยโปรแกรมการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างและตรงกับความต้องการของสมาชิก เช่น การแบ่งเบาภาระหนี้และค่าครองชีพ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ KTC มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะหยิบยกกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีทางการเงินมาเป็นทัพหน้านำพาบริษัทไม่ให้ตกขบวนสู่เส้นทางสังคมไร้เงินสด (cashless society) ดังแผนธุรกิจในปี 2561 นั้น ระเฑียรระบุว่า KTC มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีโดยยึด 3 แนวทางหลัก คือ 1. ระบบต้องมีความเสถียร 2. โมเดลธุรกิจที่จับต้องได้และ 3. กระบวนการทำงานถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
“เราศึกษาและทดสอบระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นบริการที่มีนวัตกรรมดีที่สุดและเหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเรา” ระเฑียรเล่าถึงจุดยืนในการพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัทไม่เพียงเท่านั้นยังดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าจากฐานข้อมูล (big data) และวิเคราะห์ปัญหา (pain points) ที่มาจากลูกค้าจริงๆ เพื่อให้แน่ใจว่านวัตกรรมที่นำเสนอลูกค้าเป็นประโยชน์ มีความเสถียรรวดเร็ว ใช้งานง่าย และปลอดภัยที่สุด รวมถึงเมื่อลูกค้ามีการใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ก็ต้องแน่ใจว่าบริษัทมีระบบดีที่สุดสำหรับร้านค้าในการรองรับธุรกรรมที่จะเติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน ที่สำคัญต้องนำเสนอประสบการณ์ที่ดี (CX-Customer Experience) และ เหนือความคาดหมายของผู้ถือบัตรเครดิตในการทำธุรกรรม
ทั้งนี้ KTC จะเปิดให้บริการ QR code บนบัตรเครดิตเพื่อชำระเงินภายในไตรมาส 4 ของปี2560 ซึ่งนับเป็นบัตรเครดิตรายแรกของประเทศไทย โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการยื่นขออนุญาตทำการทดสอบบนนวัตกรรมการเงินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Regulatory Sandbox) กับ ธปท. แล้ว
โดยเริ่มจากนำระบบดังกล่าวมาใช้ได้ ภายในบริษัท เมื่อ ธปท. อนุมัติแล้วทำให้บริษัทสามารถนำระบบ QR code มาใช้กับฐานลูกค้าของบริษัท และขยายออกไปสู่ลูกค้าของธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) อื่นๆ ได้ ทั้งนี้ด้วยบริการ QR code จะส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกมากขึ้น แม้ช่วงแรกอาจจะยังไม่เห็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะผู้ใช้บัตรอาจยังไม่คุ้นชินกับระบบดังกล่าว แต่ในระยะยาวน่าจะเป็นตัวที่เพิ่มการใช้จ่ายผ่านบัตรได้
อย่างไรก็ตาม KTC ได้ขับเคลื่อนไปอีกขั้นด้วยการปรับปรุงแอพพลิเคชั่น
TapKTC เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้ TapKTC ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 6 แสนราย เพิ่มเป็น 2 ล้านรายภายในเดือนกรกฎาคม 2561 ด้วยการปรับปรุงผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ
1. Smart Design ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้ทันสมัย เรียบง่าย และสบายตา เมนูการใช้งานอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม จึงพบข้อมูลและฟังก์ชั่นที่ต้องการได้รวดเร็วและเลือกใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย
2. Smart Process เน้นการใช้เวลาในทุกขั้นตอนบนแอพพลิเคชั่นให้น้อยที่สุดโดยทุกฟังก์ชั่นจะทำสำเร็จด้วยการกดเพียงไม่กี่ครั้ง
3. Smart Move ใช้หลัก Business Agility คือ ปรับเปลี่ยนและอัพเดตแอพพลิเคชั่นอย่างสม่ำเสมอ รวดเร็ว และต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานใหม่ๆ เป็นระยะทว่าจุดเด่นของ TapKTC น่าจะอยู่ที่ระบบความปลอดภัยที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในการยืนยันตัวตนหรืออัตลักษณ์ (Biometrics)
นอกเหนือจากการใช้รหัส (Pin) และการสแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint) ด้วยเทคโนโลยีสแกนม่านตา (Iris) ผ่านบริการซัมซุง พาส (Samsung Pass) ซึ่ง KTC ยืนยันว่าเป็นสถาบันการเงินรายแรกและรายเดียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่ 3 ของโลกที่เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ โดยผู้ใช้สมาร์ทโฟน Samsung Galaxy ที่มีอินฟราเรดสแกนม่านตาจะสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้แล้ว
โดยที่ข้อมูลทางชีวภาพของสมาชิกจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยที่คลาวด์ในชื่อ FIDO (Fast Identity Online) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ธปท.