EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 กระทบหนักกว่าที่คาด สูญกว่า 8.5 แสนล้านบาท ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือโตร้อยละ 0.7 ปีหน้าขยายตัวร้อยละ 3.4 ฟื้นตัวช้า เกิดปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจลึก ธุรกิจส่อแววปิดกิจการ ว่างงานพุ่ง รายได้ลดลง แนะรัฐบาลเร่งอัดงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ รายได้คนไทย
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจไทย ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 โดยระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมที่เข้มข้นของรัฐบาลอย่างรุนแรง เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 8.5 แสนล้านบาท โดยได้ปรับลดประมาณการจีดีพีในปีนี้เหลือขยายต้วร้อยละ 0.7 (เดิมคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9) ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 จากสายพันธุ์เดลต้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน มีความรุนแรง และมีระยะเวลายาวนานกว่าการระบาดสองระลอกแรก ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่หดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก ทำให้ซัพพลายเชนมีปัญหา เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเลกทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามคาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 15 ส่วนปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 สำหรับภาคการท่องเที่ยว EIC ได้ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เหลือ 1.7 แสนคน จากเดิม 3 แสนคน เนื่องจากโครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 1 แสนคน ส่วนปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 6.3 ล้านคน ซึ่งภาคการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากหลายประเทศยังคงระมัดระวังการระบาดใหม่ที่จะเกิดขึ้น และไทยยังคงอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง “เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวกลางปี 2566 เป็นต้นไป ถึงจะกลับมาเหมือนปี 2562 ซึ่งหลายประเทศขณะนี้ เศรษฐกิจได้ฟื้นกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว มีประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหา รวมถึงไทยที่มีช่องว่างเกือบ 10% ของจีดีพี สะท้อนความสูญเสียทางเศรษฐกิจ รายได้ที่หายไป ความมั่งคั่งของครัวเรือน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐ เป็นประเด็นหลักที่ทำให้เรามีมุมมองว่านโยบายการคลังยังคงมีบทบาทในการกระตุ้นและชดเชย รายได้ที่หายไปในส่วนนี้ได้” ดร.ยรรยงกล่าวแผลเป็นทางเศรษฐกิจลึกขึ้น
ดร.ยรรยง กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิดระลอก 3 ที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน รุนแรงกว่า 2 ครั้งแรก และกินระยะเวลานานมาก ทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึกขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านที่หนึ่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การว่างงาน และหนี้ครัวเรือน โดยในส่วนภาคธุรกิจ มีแนวโน้มปิดกิจการมากขึ้น ธุรกิจที่ไม่มีความสามารถชำระหนี้ (ซอมบี้ เฟิร์ม) รวมถึงธุรกิจ SMEs กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ฟื้นตัวได้ช้า มีธุรกิจเปิดใหม่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตร และมีขนาดเล็กลง สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านที่สองขณะที่ปัญหาการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2564 มีสัดส่วนร้อยละ 2 แต่มีกลุ่มที่เสมือนว่างงานกว่า 5 แสนคน ชั่วโมงการทำงานลดลงอีกราว 2 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่มีงานทำแต่มีรายได้ลดลงร้อยละ 20-30 และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากกลุ่มที่มีรายได้สูงมาสู่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำลง จากลูกจ้างของบริษัทเอกชนเป็นลูกจ้างอิสระมากขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยมีรายได้ลดลง โดยภาพรวมรายได้จากภาคแรงงานหายไปประมาณ 7 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 4 ของรายได้แรงงานในภาพรวม และด้านสุดท้ายปัญหาหนี้ครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น โดยไตรมาส 2 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 90.5 ปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 90-92 แนวโน้มสินเชื่อภาคครัวเรือนลดลง แต่สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงความเดือดร้อนที่ครัวเรือนได้รับ และยังคงมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นทั้งในระบบและนอกระบบ “EIC มองว่ามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐจากการระบาดในครั้งนี้ไม่เพียงพอ ทั้งที่ปัญหามากกว่าสองระลอกแรก โดยระลอกแรกรัฐบาลใช้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อชดเชยรายได้ในช่วง 3 เดือน ระลอกสองใช้เงิน 2.5 แสนล้านบาทในช่วง 2 เดือน ขณะที่ระลอกสามรัฐใช้เงินเพียง 2.1 แสนล้านบาท ทั้งที่ระยะเวลายาวนานถึง 6 เดือน และชดเชยเพียงแค่ 29 จังหวัด ทั้งที่ผลกระทบเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจยิ่งลึกขึ้นมาก” ดร.ยรรยงระบุแนะรัฐกู้เริ่งเพิ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ดร.ยรรยง กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยใช้เงินตาม พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท นำมาใช้ไตรมาส 4 กว่า 2 แสนล้านบาท และอีก 2 แสนล้านบาทในปีนี้ จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งสำคัญคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รัฐบาลควรกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท หรือ 1 ล้านล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ เพราะช่องว่างทางเศรษฐกิจของไทยกว้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น หากไม่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังโควิดจะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต “พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อาจไม่เพียงพอในการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ให้สอดรับกับโลกหลังโควิดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การกู้เงินเพิ่มเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีโอกาสผลักดันให้จีดีพีเติบโตได้มากขึ้น ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ และสภาพคล่องในระบบมีสูง แต่รัฐบาลต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการลงทุนเพื่ออนาคต การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม การอัพสกิล รีสกิล รัฐบาลต้องอาศัยวิสัยทัศน์ที่กล้าหาญและความเชื่อมั่นในการนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต” ดร.ยรรยง กล่าวทิ้งท้าย อ่านเพิ่มเติม: “แสนสิริ” พร้อม รับดีมานด์ต่างชาติซื้ออสังหาฯ เชื่อกำลังซื้อปี’65 ฟื้นไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine