เมื่อ กนง. ยังเลือก ‘คง’ดอกเบี้ยฯ 2.50% ย้ำไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง-ห่วง Digital Wallet - Forbes Thailand

เมื่อ กนง. ยังเลือก ‘คง’ดอกเบี้ยฯ 2.50% ย้ำไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง-ห่วง Digital Wallet

กนง. เปิดผลการประชุมล่าสุด มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี ถือเป็นระดับสอดคล้องกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเน้นย้ำว่านโยบายการเงินช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้จำกัด โดยคาดว่าปี 67 GDP โต 2.6% อัตราเงินเฟ้อฯ จะอยู่ที่ 0.6% พร้อมแสดงความเป็นห่วงต่อโครงการ Digital Wallet


    นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. (10 เม.ย. 2567) คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่า อัตราดอกเบี้ยฯ ในปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

    ขณะที่กรรมการอีก 2 เสียงเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

    อย่างไรก็ตาม ในด้านเศรษฐกิจไทยปี 2567 นี้ คาดว่าจะขยายตัว 2.6% (ลดลงจากกรอบประมาณการก่อนหน้าที่ 2.5-3.0%) ถือว่ามีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน เพราะมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว (ปีนี้คาดว่าจะมีจำนวน 35.5 ล้านคน) รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนปี 2568 GDP คาดว่าจะอยู่ที่ 3.0%

    ทั้งนี้ ด้านอัตราเงินเฟ้อช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ คาดว่าในช่วงปลายปีเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยทั้งปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.6% และปี 2568 ที่ 1.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% ในปี 67 และ 0.9% ในปี 68 ซึ่งยังต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

    อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ทั้งนี้ ธปท. จะการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

    ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน ช่วงหลังที่ค่าเงินบาทอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาคเป็นผลตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และปัจจัยในประเทศ (ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตตามคาด) โดยค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูง

    ขณะที่ความเห็นต่อ โครงการ Digital Wallet ที่ทางรัฐบาลประกาศรายละเอียดเบื้องต้นในช่วงเที่ยงวันนี้
    นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธปท เปิดเผยว่า ทางธปท.ได้เข้าไปแสดงความห่วงใยต่อโครงการฯ ในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ในฐานะธปท. ต้องมั่นใจว่าเม็ดเงินที่ต้องใช้จะมีครบถ้วน เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.เงินตรา อีกทั้งต้องพิจารณาเรื่องสภาพคล่อง โดย ธปท. อยากให้เห็นการทำโครงการได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยต้องดูทั้งเสถียรภาพการเงิน การคลังในภาพรวม นอกจากนี้มองว่า ระบบ Open loop ที่จะใช้ในโครงการนี้ต้องมีความเสถียรและดูแลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างครบถ้วน



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อ่านเงื่อนไข “Digital Wallet” พร้อมแจก 10,000 บาทใน 50 ล้านคน คาดเริ่มใช้จ่ายไตรมาส 4/67
​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine