แบงก์ชาติ – ก.ล.ต. – คลัง ออกเกณฑ์คุม สินทรัพย์ดิจิทัล เปิดร่างกฎหมายห้ามใช้ชำระสินค้าและบริการ พร้อมเปิดรับความคิดเห็นถึง 8 ก.พ.นี้ ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามภายใน 15 วันหลังกฎหมายประกาศใช้ ระบุบทลงโทษตั้งแต่ 1 หมื่นถึง 3 แสนบาท
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของ สินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า การที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน หน่วยงานกำกับดูแลตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยหน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไปเปิดร่างหลักเกณฑ์คุมใช้เงินดิจิทัล
จารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจตัวกลางและตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่า ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ให้อำนาจ ก.ล.ต.ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้ลงทุนสามารถใช้ สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อการลงทุนได้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการให้บริการ ซื้อขาย แลกเปลี่ยนได้ แต่ไม่สามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยมีร่างหลักเกณฑ์ 6 ข้อ ดังนี้ 1.ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ 2.ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใด ๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 3.ไม่ให้บริการเปิดประเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล 4.ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น 5.ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงินจากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ 6.ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ กรณีพบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องแจ้งเตือน หรือพิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือระงับบัญชี เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับอนุญาต หากดำเนินการให้บริการจะมีความผิดตาม พรก.สินทรัพย์ดิจิทัล มีบทลงโทษตั้งแต่ปรับวันละ 1 หมื่นบาท ถึง 3 แสนบาท จารุพรรณ กล่าวว่า จะดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่วันนี้ – 8 กุมภาพันธ์ 2565 และหลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ สำหรับสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้เตรียมพิจารณา สเตเบิลคอยน์
สิริธิดา กล่าวว่า ปัจจุบัน หลักเกณฑ์การคุมสินทรัพย์ดิจิทัลในแต่ละประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาบังคับใช้ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ เช่น เอกวาดอร์ มีการเปิดให้ใช้อย่างเต็มที่ ขณะที่จีนห้ามใช้ทุกประเภท สำหรับไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ระหว่างประโยชน์และความเสียงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในกรณีสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถอนุญาตให้ได้ เช่น สเตเบิล คอยน์ ที่มีใช้สกุลเงินเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งหลายประเทศกำลังพิจารณาให้สามารถนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ ไทยก็จะมีเงินบาทดิจิทัลเช่นกัน โดยจะมีหลักเกณฑ์ในการอนุญาตตามมา อ่านเพิ่มเติม: Non-Fungible Token (NFT) และโอกาสสร้างคุณค่าให้เศรษฐกิจไทยไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine