แบงก์ชาติแจงข้อกังวลการใช้ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล - Forbes Thailand

แบงก์ชาติแจงข้อกังวลการใช้ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล มีความร้อนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโลกยุค Metaverse ข้อมูลล่าสุดจาก coinmarketcap วันที่ 1 พ.ย. 2564 มูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ 2.63 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในประเทศไทยมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 1.39 แสนล้านบาท ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นี่คือความร้อนแรงของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในแง่ของการลงทุน

ปัจจุบัน ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มเข้ามามีบทบาทในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นจุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกังวล และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการกำกับดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ติดตามการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อการลงทุนและการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน รวมถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในรูปแบบที่เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น “ขอย้ำว่า ธปท. ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน ที่จะส่งผลต่อร้านค้า ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้รับความเสียหาย” สิริธิดากล่าว ทั้งนี้ ในระยะต่อไป หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างแพร่หลาย ความเสี่ยงข้างต้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ และความเสียหายแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสม ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อจำกัดความเสี่ยงข้างต้น โดยจะยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม แจงข้อกังวลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้ชี้แจงสื่อมวลชนอีกครั้งในประเด็นข้อกังวลในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ โดย ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ยืนยันว่า ธปท.มองเห็นประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล และไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ลุกขึ้นมาศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบบริการทางการเงินในประเทศไทย แก้ pain points ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศ เพิ่มโอกาสการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ การต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มบริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ในแง่ของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระสินค้าและบริการ จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึงได้ สามารถคงมูลค่าได้ มีความปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้และผู้รับ ซึ่งหากพิจารณาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Stablecoin มีสินทรัพย์หนุนหลัง หรือ Blank Coin ที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ไม่สามารถคงมูลค่าได้ 100% เหมือนเงินสด สำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ได้แก่ ความผันผวนด้านราคา มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการใช้ชำระ อาทิ ภัยไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสาธารณชน หากมีการใช้แพร่หลาย คือ เสถียรภาพระบบชำระเงิน และ เสถียรด้านการเงิน โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้เต็มที่ เช่น ธปท.ไม่สามารถให้ผู้ประกอบการกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ หากเกิดปัญหา เป็นต้น “ธปท.ยืนยันให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบชำระเงิน รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินดิจิทัล” ชญาวดีกล่าว ก.ล.ต.กำกับ แพลตฟอร์ม DeFi ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในส่วนของการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมบน Decentralized Finance Platform (แพลตฟอร์ม DeFi) ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการในวงกว้าง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง มีกรณีที่เป็นการหลอกลวงและการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้เสียหายและอาจไม่มีโอกาสในการดำเนินคดีหรือติดตามทวงคืน ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินรูปแบบ Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นบริการทางการเงินรูปแบบกระจายศูนย์ ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยใช้กลไกควบคุมการดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่านสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจให้บริการให้คำแนะนำ หรือจัดการนำเงินทุนหรือสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปแสวงหาประโยชน์ผ่านการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม DeFi เช่น การให้ยืมและยืมสินทรัพย์ดิจิทัล การนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปเพิ่มสภาพคล่องเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เป็นต้น ก.ล.ต. เห็นว่า การทำธุรกรรมดังกล่าวยังเป็นเรื่องใหม่ มีรูปแบบและลักษณะของบริการที่หลากหลาย รวมทั้งอาจจะอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับและส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าการให้บริการดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของหน่วยงานใด รวมทั้งมีความเสี่ยงสูง และที่ผ่านมามีกรณีที่เป็นการหลอกลวง มีการโจรกรรมทางไซเบอร์ ทำให้ผู้ลงทุนเสียหายและอาจไม่มีโอกาสติดตามทวงคืน เนื่องจากอำนาจในการเข้าถึงและควบคุมทรัพย์สินเป็นของผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแต่เพียงผู้เดียว ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลและที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความชัดเจน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 ดังนี้ (1) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปทำธุรกรรมใด ๆ บนแพลตฟอร์ม DeFi และ (2) ห้ามมิให้ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลให้คำแนะนำแก่ลูกค้า หรือจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ DeFi เพื่อป้องกันการชักชวนให้ประชาชนมาใช้บริการดังกล่าวในวงกว้าง อ่านเพิ่มเติม: อสังหาฯ ปี 65 จ่อฟื้น หันลงทุนบ้านเดี่ยว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine