เศรษฐกิจไทยปี 2016 จีดีพีเติบโต 3.2% และปิดท้ายปีด้วยปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกนั่นคือผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาโดย Donald Trump เป็นผู้คว้าชัยชนะ ผ่านไตรมาสแรก 2017 เศรษฐกิจทั้งของโลกและประเทศไทยจะดำเนินไปอย่างไร?
ดร.สุรจิต ลักษณะสุต ผู้บริหารส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นเวทีวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจโลกกระเพื่อมสู่เศรษฐกิจไทยในงานสัมมนา “สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินปี 2560” จัดโดย
สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย
โดยดร.สุรจิตวิเคราะห์ปัจจัยจากต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2017 และต้องจับตามอง ได้แก่ นโยบายของ Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, การเมืองในสหภาพยุโรป, นโยบายดูแลเสถียรภาพทางการเงินของจีน และข้อพิพาทในภูมิภาคเอเชีย
นโยบาย Trump ทั้งบวกและลบต่อไทย
ดร.สุรจิตกล่าวว่า เศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มเติบโตขึ้นและเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ G3 (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) จากปี 2016 ที่จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) เติบโต 1.6% หลังมีการเลือกตั้ง นโยบายที่หวือหวาของ Trump ทำให้ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้น นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นโดยเฉพาะภาคพลังงาน และเศรษฐกิจกลับมาเป็นช่วงขาขึ้น มีประชาชนว่างงานลดลง ทำให้การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศดีขึ้นตาม โดยธปท.คาดการณ์ว่าจีดีพีสหรัฐฯปี 2017 จะเติบโต 2.2%
นโยบายของ Trump ที่มีประเด็นชัดเจนและอาจส่งผลต่อไทย ได้แก่ นโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-นิติบุคคล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหล่านี้เป็นปัจจัยบวกเพราะกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
แต่มีปัจจัยลบคือ นโยบายการค้าการลงทุนตามแนวคิด Make America Great Again ซึ่งอาจจะใช้มาตรการเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้า แม้อาจจะกระทบต่อไทยโดยตรงไม่มากแต่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน ซึ่งมาตรการด้านภาษีนำเข้าจะส่งผลต่อการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และอาจส่งต่อผลนั้นมาถึงไทยได้
อย่างไรก็ตาม ดร.สุรจิตมองว่านโยบาย Trump ที่ประกาศไว้อาจไม่สามารถทำได้จริงได้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ความพยายามล้มเลิก Obama Care ไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้เห็นว่าแต่ละนโยบายของเขาต้องจับตาใกล้ชิดว่าจะเป็นจริงได้แค่ไหน
การเมืองร้อนที่ฝรั่งเศส
ปัจจัยต่อมา ดร.สุรจิตมองว่า ปีนี้เศรษฐกิจใน
สหภาพยุโรป (EU) ยังไม่หวือหวา เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการเมือง มี 3 ประเทศที่มีการเลือกตั้งใหม่ในปีนี้ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ที่หย่อนบัตรไปเมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ฝรั่งเศสในเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเยอรมนีในเดือนกันยายน ทั้ง 3 ประเทศ ต่างมีผู้ลงสมัครที่ยึดนโยบายต่อต้านหรือต้องการลาออกจากสมาชิก EU โดยน้ำหนักความสำคัญอยู่ที่ฝรั่งเศสและเยอรมนี ซึ่งเป็นหัวแรงหลักในการเชื่อมโยงภายใน EU
“ถ้ามีประเทศไหนจะออกจาก EU อีก โดยเฉพาะเยอรมนีหรือฝรั่งเศส ถ้าประเทศเหล่านี้ลาออกจะกระทบ EU ยิ่งกว่าที่อังกฤษลาออก เพราะพวกเขาคือหัวใจของภูมิภาคนี้ สำหรับฝรั่งเศส พรรคฝ่ายขวาของ Marine Le Pen ที่เป็นกลุ่ม anti-EU จากผลสำรวจเธอมีคะแนนตีตื้น แม้อาจจะยังไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้ แต่ผลสำรวจทุกสำนักเคยผิดพลาดมาแล้วทั้งในรอบ Brexit และการเลือกตั้งสหรัฐฯ”
ความสำคัญต่อไทยคือ สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญ และการลาออกจาก EU ของประเทศขนาดใหญ่จะทำให้เศรษฐกิจของ EU ผันผวนและดำดิ่งลงไป จากปีก่อนจีดีพีเติบโตได้ 1.7% ปีนี้ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจ EU จะเติบโตได้ 1.6%
มั่นใจจีนคุมสมดุลการเงินอยู่หมัด
ฟากประเทศจีน ยังคงดำเนินนโยบายลดความร้อนแรงการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยจีดีพีจีนปี 2016 เติบโต 6.7% ปีนี้ธปท.คาดว่าจะลดเหลือ 6.5% ก่อนหน้านี้ จีนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้งส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินหยวนอ่อนตัว ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจจีนแข็งแรงและเป็นผลดีต่อไทย
อีกประเด็นสำคัญคือการเมืองในภูมิภาคเอเชีย นอกจากข้อพิพาททะเลจีนใต้แล้ว ปีก่อนสหรัฐฯยังได้ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธในเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนไม่พึงพอใจ เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตามอง
“สรุปว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณดีขึ้น โดยมีผู้นำคือสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากวัฏจักรเศรษฐกิจที่ตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2008 ปีนี้อาจถึงเวลาเป็นขาขึ้นแล้ว” ดร.สุรจิตกล่าวปิดท้าย