ครบรอบ 25 ปี ซี.พี.เวียดนาม มูลค่าลงทุนกว่าพันล้านเหรียญ เสริมทัพใหญ่ชิงตลาดอาหารเเปรรูป 40% ปรับกลยุทธ์รับสไตล์โชห่วยท้องถิ่น วางเป้าปีนี้รายได้โต 12% ปักหมุดฐานการผลิต สร้างโรงงานทันสมัยสุดในอาเซียน ขยายส่งออกทั่วโลก
สุพัฒน์ ศรีธนาธร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัทซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอร์เรชั่น เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอาหารเเละเครื่องดื่มในเวียดนาม มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยสูงถึง 20% ต่อปี เเละปัจจุบันมีมูลค่าการตลาดกว่า 1.73 เเสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนมาจากการขยายตัวของผลิตัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่เวียดนามมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 6-7% ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับว่าอยู่ในระดับดีมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
ขณะเดียวกัน เวียดนามยังมีประชากรมากถึง 95 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปีอยู่ถึง 60% ซึ่งถือเป็นโอกาสทองที่จะเข้ามาตีตลาดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเเละอัตราการบริโภคอาหารต่อวันค่อนข้างสูง
“การจำหน่ายสินค้าในตลาดเวียดนามเเตกต่างจากไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากห้างค้าปลีกในประเทศยังมีน้อย เเต่มีร้านโชห่วยมากถึง 2-3 เเสนร้าน ขณะที่ร้านโมเดิร์นเทรดมีเพียง 5 พันร้าน ซึ่งในจำนวนนี้รวมร้านสะดวกซื้อทั่วไป ที่มีอยู่เพียง 3,000 สาขา จึงเป็นประเด็นสำคัญเราจะมุ่งเน้นกลยุทธ์ไปที่การกระจายสินค้าให้เข้าถึงร้านโชห่วยให้มากที่สุด”
เปลี่ยนสไตล์โชห่วยเวียดนาม หวังโมเดิร์นเทรดโต
โดยปัจจุบัน ซี.พี.เวียดนาม มีส่วนเเบ่งการตลาดเนื้อไก่สดอยู่ที่ 32% เป็นเบอร์ 1 ของกลุ่มผู้ผลิตไก่สดบรรจุถุงมีแบรนด์ และวางเป้าหมายจะขยายเป็น 40% ในปี 2562 ส่วนผลิตภัณฑ์ไส้กรอกมีส่วนแบ่งตลาด 25% เป็นเบอร์ 2 รองจากบริษัทท้องถิ่นอย่าง VISSAN มีเป้าหมายจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปีหน้า อีกทั้งยังมีเเผนจะพัฒนาสินค้ากลุ่มไฟท์ติ้งเเบรนด์ หรือเเบรนด์รองขึ้นมาทำตลาดเพิ่ม“ตอนนี้ซี.พี.ส่งสินค้าผ่านร้านโชห่วยเป็นสัดส่วนประมาณ 70% เเละร้านโมเดิร์นเทรด 30% เเต่ด้วยการที่เวียดนามมีการเติบโตสูง เป็นตลาดใหม่ที่ยังไปได้ไกล เเละรับเทรนด์สมัยใหม่เข้ามามาก คาดว่าใน 3-5 ปีนี้โมเดิร์นเทรดจะพลิกขึ้นมาได้ในสัดส่วน 60% เเละความนิยมร้านโชห่วยจะลดลงเหลือ 40%”
ทั้งนี้ ร้านซี.พี.เฟรชมาร์ทมีอยู่ประมาณ 8 สาขาในปัจจุบัน ซึ่งทางบริษัทมีแผนจะพัฒนาและปรับปรุงแบรนด์และเพิ่มจำนวนสาขาอีก 10 สาขา รวมเป็น 18 สาขา ซึ่งจะเป็นการลงทุนเองทั้งหมดเพื่อเป็นโมเดล ก่อนจะขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 5-8 เเสนบาทต่อสาขา ซึ่งแต่ละสาขาจะต้องจำหน่ายให้ได้ราว 3 หมื่นบาทต่อวัน
รุกหนัก Ready Meal ชิงตลาดอาหารเเปรรูป 40%
ด้านเทรนด์การรับประทานอาหารในเวียดนาม สุพัฒน์เผยว่า อาหารปรุงสุกพร้อมทาน (ready meal) มีเเนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นในปี 2562 บริษัทจึงวางเเผนจะวางจำหน่ายอาหารพร้อมทานจำพวกติ่มซำ อาหารกล่อง ซูชิ อาหารแปรรูปและอื่นๆ ราว 50 เมนู ออกตีตลาดในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า ซึ่งนับเป็นการเปิดตลาดอาหารประเภทปรุงสุกพร้อมทานครั้งแรกในเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายยอดขายส่วนนี้อยู่ที่ 1.5 พันตันต่อปีในปีแรก
“เราต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมที่เข้ากับเทรนด์ตลาด เพิ่มความหลากหลายของสินค้าเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ในเวียดนาม โดยมุ่งหวังจะเพิ่มส่วนเเบ่งการตลาดอาหารเเปรรูปทั้งหมดเป็น 40% พร้อมการสร้างเเบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ใช้สื่อโฆษณาต่างๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ซึ่งทุกวันนี้คนเวียดนามใช้สมาร์ทโฟนเเละสื่อออนไลน์อย่างเเพร่หลาย”
เมื่อถามถึงความนิยมของธุรกิจร้านอาหารซุ้ม 5 ดาวหรือ C.P. Five Star ที่ซี.พีได้เริ่มสร้างธุรกิจไก่ทอด โดยเปิดบริการในเวียดนามมากกว่า 7 ปีนั้น ผู้บริหาร ซี.พี.ชี้ว่ามีกระเเสตอบรับที่ดีมาก ปัจจุบันเปิดเเล้วกว่า 650 สาขาเเละมีเเผนจะขยายเป็น 800 สาขาในปี 2562
โดยเป็นการสนับสนุนให้ชาวเวียดนามเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตนเอง เป็น “เถ้าเเก่เล็ก” ที่ร่วมงานกันเเบบ self-employed กับ 500 ครอบครัวเเละจะเพิ่มเป็น 600 ครอบครัวในปีหน้า ซึ่งทางบริษัทได้ช่วยเหลือด้านองค์ความรู้การจัดการเเละการสนับสนุนการขายในด้านต่างๆ ทั้งนี้ซี.พี. เวียดนามมีการจ้างงานทั้งสิ้นกว่า 2.2 หมื่นคน เป็นชาวเวียดนามถึง 2.1 หมื่นคน
สำหรับกำลังการผลิตสำคัญในปัจจุบัน คือโรงงานอาหารแปรรูป C.P. Ha noi Food Processing Factory ซึ่งเป็นโรงงานที่มีกำลังการแปรรูปไก่ 60,000 ตัวต่อวัน แต่ตอนนี้ยังคงใช้กำลังการผลิตเเค่ 50% คือปริมาณ 30,000 ตัวต่อวัน โดยมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเป็น 40,000 ตัวต่อวันในปีหน้า และจะขยายให้ครบ 60,000 ตัวภายใน 2 ปีนี้ เเละในปีหน้ามีแผนขยายกำลังการผลิตไส้กรอกจาก 900 ตันต่อเดือนเป็น 1,200 ตันต่อเดือน
ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวมีการนำไก่มาเเปรรูปเป็นไส้กรอกในสัดส่วน 30% เเละอีก 70% เป็นการจำหน่ายเนื้อไก่สดในประเทศ เเละขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการส่งออกผลิตภัณฑ์ไส้กรอกไปต่างประเทศ
ตั้งเป้ารายได้โต 12%
ด้าน มนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปีนี้ซี.พี.เวียดนาม ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 12% จากปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,947 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยช่วง 9 เดือนของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2561) ธุรกิจของซี.พี.ในเวียดนามทำรายได้อยู่ที่ 1,891 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31%
โดยแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจฟาร์ม 60% อาหารสัตว์ 33% และอาหารแปรรูป 7% ในส่วนของฟาร์มมีกำลังการผลิตทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ แบ่งเป็นหมูขุน 6.5 ล้านตัว, ไก่เนื้อ 66 ล้านตัว, ไข่ไก่ 750 ล้านฟอง, ปลา 4.58 หมื่นตัน, กุ้ง 6.5 พันตัน และกุ้งแช่แข็ง 1.12 หมื่นล้านตัว มีการส่งออกไปยังญี่ปุ่น, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, จีน, ฮ่องกงเเละยุโรป
ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลเวียดนาม ตั้งเป้าหมายเป็นประเทศส่งออกกุ้งเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568 จากปีที่ผ่านมาส่งออกที่ 3.3 แสนตันต่อปี ซึ่งนับเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ของโลก ในส่วนนี้ซี.พี.เวียดนาม ตั้งเป้าหมายจะมีส่วนแบ่งตลาด 5 แสนตันต่อปี โดยปี 2562 มีแผนขยายโรงเพาะอีก 50,000 ล้านตัวต่อปี และขยายโรงงานผลิตอาหารกุ้งเพิ่มอีก 2 แสนตันต่อปี จากปัจจุบัน 3 แสนตันต่อปี
“ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนในเวียดนามไปแล้วกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนอกจากจะมีแผนลงทุนโรงงานแปรรูปไก่เพื่อการส่งออกทางภาคใต้ในปีหน้าแล้ว ยังมีแผนลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปสุกร มูลค่าการลงทุนอีก 20 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563 และในระยะถัดไปมีแผนลงทุนโรงงานอาหารสัตว์อีกประมาณปีละ 1-2 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 7 โรง กำลังผลิต 4 ล้านตันต่อปี”
ปักหมุดฐานผลิตอาหาร- ส่งออก CPTPP
สำหรับโครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นในเวียดนามปีหน้า คือโรงงานผลิตไก่ครบวงจร ทั้งอาหารสัตว์ ฟาร์ม และอาหารแปรรูปที่จังหวัด Binh Phuoc ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 156 ไร่ ใช้งบประมาณลงทุน 200-240 ล้านเหรียญสหรัฐ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเฟสแรกในปี 2561 และคาดว่าจะเดินเครื่องผลิตได้ในไตรมาส 1 ปี 2562
“โรงงานครบวงจรแห่งนี้ถือว่ามีความทันสมัยที่สุดในอาเซียน” มนตรีระบุ
โดยโรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตไก่ได้ 1 ล้านตัวต่อสัปดาห์ หรือ 50 ล้านตัวต่อปี และในส่วนของโรงงานแปรรูปจะมีกำลังผลิต 36,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายต่อในเฟสที่ 2 ภายใน 2-3 ปี หากผลดำเนินการเฟสแรกประสบความสำเร็จ
มนตรี กล่าวอีกว่า การลงทุนต่อไปของซี.พี.เวียดนามนั้นพิจารณาจากการขยายตัวของจีดีพีในประเทศ ซึ่งเวียดนามยังอยู่ที่ 6.5% เเละการเมืองมีเสถียรภาพ โดยประชากรเวียดนามมี 95 ล้านคน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1% มีรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีประมาณ 2,629 เหรียญ เเละอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 31 ปี เท่ากับประชากรส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว ทำให้มีความต้องการบริโภคสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่มีแรงงานจำนวนมาก เเละมีค่าแรงงานต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน มีภูมิประเทศมีชายฝั่งทะเลยาว จึงมีการพัฒนาท่าเรือและมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์
นอกจากนี้ยังมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงข้อตกลงใหม่ในนาม “CPTPP” หรือ ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งไทยไม่ได้เข้าร่วม ดังนั้น ซี.พี.จึงจะใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศข้อตกลงเขตค้าเสรีต่างๆ ต่อไป