ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี เพื่อสกัดความรุนแรงของเงินเฟ้อที่พุ่งไปถึงร้อยละ 8.6 ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 40 ปี หอการค้าไทยหวั่นกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ปรับลดคาดการณ์จีดีพีเหลือโตร้อยละ 3
หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 เพื่อสกัดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาพุ่งไปถึงร้อยละ 8.6 ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลต่อการตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก โดยธนาคารกลางยุโรปเรียกประชุมด่วนเพื่อหารือถึงสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดการเงินในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. อยู่ที่ร้อยละ 7.1 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. แม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.50 แต่ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ ทำให้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจหลายสำนักคาดการณ์ว่า กนง.มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในเดือน ส.ค.และมีโอกาสปรับขึ้น 3 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินบาทที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกหอการค้าลดจีดีพีเหลือโตร้อยละ 3.1
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับลดประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้เหลือเติบโตร้อยละ 3.1 จากประมาณการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นกดดันการเติบโตเศรษฐกิจไทย และหากกนง.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุกร้อยละ 0.25 จะส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจติดลบร้อยละ 0.1 “เศรษฐกิจทั้งโลกได้รับผลกระทบ ซึ่งเกิดจากปัญหาเดียวกัน คืออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่ง การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทย มีปัญหาต่างออกไป กำลังซื้อยังเพิ่มขึ้นไม่มาก แม้จะเพิ่มขึ้นจริง แต่อ่อนแอ และเปราะบาง การขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบต้นทุนการผลิต ต้นทุนการบริโภค ผู้ใช้บัตรเครดิตกระทบ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ต้องดูแลไม่ปล่อยให้เงินเฟ้อสูงเกินไป เพื่อดูแลค่าเงิน และป้องกันเงินไหลออก” สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของไทยเกิดจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลราคาพลังงานไม่ให้สูงเกินไป แต่หากราคาน้ำมันในตลาดโลกไปอยู่ในระดับ 140 เหรียญต่อบาร์เรล จำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาดีเซลจาก 35 บาท/ลิตร เป็น 38 บาท/ลิตร หรืออาจจะขยับเพดานเป็น 40 บาท/ลิตร ต้องรอดูความชัดเจน โดยผลการจากการปรับราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้นทุก 1 บาท/ลิตร จะกระทบทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบร้อยละ 0.3หวังครึ่งปีหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว
ธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายดูแลพลังงานถือเป็นแนวทางที่ช่วยปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ ดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป และทำให้คนไทยปรับตัวรับมือกับสถานการณ์พลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาดีเซล และ NGV ที่เป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเปิดให้นำเข้าวัตถุดิบบางประเภทได้ เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลน เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ถ้ามีการช่วยตรงนี้ จะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า รวมทั้งดูแลเอสเอ็มอี ด้วยการปล่อยสินเชื่อ เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ “จากการสำรวจภาคธุรกิจไม่อยากปรับขึ้นราคาสักเท่าไหร่ เพราะการแข่งขันในปัจจุบันรุนแรง และมีโอกาสที่ผู้บริโภคจะหันไปซื้อสินค้านำเข้าราคาถูกกว่าได้ หลายรายพยายามประคองสถานการณ์ให้ราคาสินค้าอยู่ในระดับเดิมมากที่สุด แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นจริง จึงต้องปรับตามความจำเป็น แต่ไม่มาก โดยยอมขาดทุนกำไร แต่ให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแล ค่อยๆ ปรับขึ้นราคา ผู้บริโภคจะยอมรับได้” สำหรับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะกลับมาดีขึ้น เนื่องจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ซึ่งกลุ่มธุรกิจนี้จะทำให้มีเงินสะพัด 3-5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 2-3 แสนล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังประมาณ 5 ล้านคน ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดอีก 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้จีดีพี ในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวร้อยละ 3.8 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลต่อราคาพลังงาน และการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ อ่านเพิ่มเติม:https: “ZORT x AUTOBOT” โชว์เคสแพลตฟอร์มอัจฉริยะ บริการจัดการธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine