เครือไทย โฮลดิ้งส์ หนึ่งในสายธุรกิจหลักด้านประกันและการเงินของกลุ่มทีซีซีเดินหน้า 6 กลยุทธ์พัฒนาระบบ ecosystem สู่แพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรรับโมเดลธุรกิจใหม่ ด้วยเป้าหมายการเป็นผู้นำธุรกิจการเงินในประเทศไทย และขยายการให้บริการไปยังภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568
-Thai Group ตั้งเป้านำการทำ Data Analytics จากข้อมูล Big Data ของบริษัท สู่ผู้นำการเงินในประเทศไทย -อาคเนย์ประกันชีวิต มี เบี้ยประกันภัยรับรวมปี 2563 จำนวน 8.35 พันล้านบาท คิดเป็นอันดับทางธุรกิจอันดับ 9 -ไทยประกันภัย มี สัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับตรง จำนวน 1.32 พันล้านบาท และมีสัดส่วนเบี้ยออนไลน์ จำนวน 332 ล้านบาท -อาคเนย์แคปปิตอล ผู้นำรถเช่าอันดับ 1 ในปี 2563 ด้วยรถจำนวน 22,100 คัน ประกอบด้วยลูกค้าภาครัฐ ร้อยละ 50 นอกกลุ่มทีซีซี ร้อยละ 30 และกลุ่มทีซีซี ร้อยละ 20
ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Group เปิดเผยว่า ในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมาภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ โดยเฉพาะการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ ที่ดำเนินธุรกิจด้านประกันและการเงิน ประกอบด้วย อาคเนย์ประกันภัย อาคเนย์ประกันชีวิต อาคเนย์แคปปิตอล อาคเนย์มันนี่ และไทยประกันภัย ซึ่งได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวสู่ยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบ New Normal นอกจากนั้น บริษัทยังต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้าให้มากที่สุด ด้วย 6 กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การมุ่งสร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งผ่านการปรับพอร์ตธุรกิจประกันชีวิต และการสร้างประการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ขณะเดียวกัน บริษัทยังวางกลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ที่ดีของพนักงานด้วยการพัฒนาทักษะและสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน การพัฒนาการใช้งานบิ๊กดาต้าเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การสร้างกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กรรับโมเดลธุรกิจใหม่ “จาก 6 กลยุทธ์ เพื่อสร้างความเติบโตและมั่นคงทางธุรกิจแบบรอบด้าน บริษัทยังตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะช่วยให้คนไทยและครอบครัวของพวกเขาใช้ชีวิตหรือดำเนินธุรกิจอย่างมีความสุข ปราศจากความกังวลใจ ผ่านนวัตกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “Financial as A Service” ของคนไทย ในขณะที่ไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างต่อเนื่องไปตามพฤติกรรมของลูกค้า ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และขั้นตอนต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้บริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า เราจึงมุ่งเน้นในเรื่องเทคโนโลยีและข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ตรงใจ เข้าถึงได้ง่าย คุ้มค่าเงิน และส่งมอบบริการแบบเทสุดใจเพื่อให้ลูกค้ามีความสุข” ฐากร กล่าว สำหรับเป้าหมายการขยายตลาดในกลุ่มธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตของบริษัทจะมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างโดยใช้ดิจิทัลและดาต้าขยายฐานลูกค้าใหม่จากปัจจุบันที่มีลูกค้าอยู่ประมาณ 4 ล้านราย ตลอดจนสร้างการรับรู้ของแบรนด์อาคเนย์ประกันภัย อาคเนย์ประกันชีวิต ผ่าน Winning Product และการดูแลลูกค้าให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไร้ความกังวลใจ ส่วนธุรกิจการเงินจะเน้นสร้างประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างกำไร พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานและหาพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี โดยมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจในภาพรวมให้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของตลาด เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจการเงินในประเทศไทยและขยายการให้บริการไปยังภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 “ประเทศไทยกำลังปลดล็อกก้าวสู่การทำธุรกิจประกันและการเงินบนโลกดิจิทัลได้อย่างแท้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ ตอบสนองความต้องการที่มากขึ้น เราไม่สามารถดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผ่านการใช้ Data Analytics เพราะธุรกิจประกันมี Big Data ดังนั้น สิ่งที่ Thai Group จะทำคือการนำข้อมูลที่มีในระบบมาเชื่อมต่อกันเพื่อทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น ทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และบริการ สามารถดูแลลูกค้าได้อย่างเข้าใจ และบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อและครบทุกบริการ เพื่อให้เราสามารถเข้าไปอยู่ในทุกที่ที่เชื่อมต่อไปยังลูกค้าเป้าหมายใน Ecosystems ได้อย่างยั่งยืน” ทั้งนี้ อาคเนย์ประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 2563 คือ 8.35 พันล้านบาท คิดเป็นอันดับทางธุรกิจอันดับ 9 มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ร้อยละ 96 สูงกว่าอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 82 ด้าน อาคเนย์ประกันภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงปี 2563 คือ 1.06 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอันดับทางธุรกิจ อันดับ 6 ครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่ ไทยประกันภัย มีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยนวัตกรรมประกันภัยที่ทันสมัย และมีเบี้ยประกันภัยรับตรงจำนวน 1.32 พันล้านบาท และมีสัดส่วนเบี้ยออนไลน์ 332 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 จากเบี้ยประกันภัยรับตรง สำหรับ อาคเนย์แคปปิตอล ครองความเป็นผู้นำรถเช่าอันดับ 1 ในปี 2563 ด้วยรถจำนวน 22,100 คัน โดยมีลูกค้าภาครัฐร้อยละ 50 ลูกค้านอกกลุ่มทีซีซีร้อยละ 30 และลูกค้ากลุ่มทีซีซีร้อยละ 20 อ่านเพิ่มเติม: เปิดโลกการลงทุนเมื่อเทคโนโลยีตอบโจทย์จินตนาการไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine