กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เผยครึ่งปีหลัง 2562 สินเชื่ออสังหาฯ เอสเอ็มอี และรายย่อยเติบโตเกือบทุกประเภท มุ่งขยายพอร์ตสินเชื่อ 7-9% พร้อมควบคุมคุณภาพหนี้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ทีมวิจัย บล.ภัทร เชื่อจีดีพีเติบโตลดจาก 2.8% เหลือ 2.2% จากเหตุไวรัสโคโรน่า ภัยแล้ง และความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณ
อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยว่า ปี 2562 ที่ผ่านมามีปัจจัยภายนอกที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดความผันผวนหลายประการ เช่น สงครามทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ แต่ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจฯ ถือว่าออกมาในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากกําไรสุทธิ (และกำไรเบ็ดเสร็จที่รวมผลจากการวัดมูลค่าหลักทรัพย์เผื่อขายของธุรกิจตลาดทุน) เพราะธุรกิจฝ่ายตลาดทุน หลายส่วนได้รับประโยชน์จากความผันผวนในตลาด เช่น ธุรกิจการลงทุนของฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivatives Trading)
นอกจากนั้น ส่วนอื่นๆ ของธุรกิจตลาดทุนก็ทำได้ดีเช่นกัน เช่น ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าสถาบัน ที่ บล.ภัทร ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจวานิชธนกิจ ที่มีธุรกรรมรายการใหญ่หลายรายการ อาทิ AWC และธุรกิจ Wealth Management และธุรกิจจัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำหรือการจัดการ (Asset Under Advice: AUA) ร่วม 6 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นมาจากปีก่อนหน้าประมาณ 1 แสนล้านบาท จากความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบริการการลงทุนในต่างประเทศ หุ้นกู้อนุพันธ์รูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์นอกตลาด (Private Markets) ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในสภาวะที่ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนต่ำ
ด้าน Philip Chen Chong Tan กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจธนาคารพานิชย์ว่า สินเชื่อของธนาคารสําหรับปี 2562 มีการขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 จากสิ้นปี 2561 โดยมาจากการขยายตัวในสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีการหดตัวในปี 2562 ตามยุทธศาสตร์การกระจายความเสี่ยงของธนาคาร และสินเชื่อบรรษัท ซึ่งมีการจ่ายหนี้คืนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562
ยิ่งกว่านั้น ผลจากการพัฒนาระบบคัดกรองสินเชื่อและติดตามเร่งรัดหนี้ ยังทำให้ธนาคารสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมจากร้อยละ 4.1 เมื่อสิ้นปี 2561 มาเป็นร้อยละ 4.0 ณ สิ้นปี 2562
ทั้งนี้ การเติบโตอย่างมีคุณภาพของสินเชื่อในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารเชื่อว่าแม้จะมีปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการ แต่ภายใต้ระบบการดำเนินงานภายในที่ได้พัฒนาขึ้น จะส่งผลต่อเนื่องทำให้สินเชื่อของธนาคารสามารถเติบโตได้ในช่วงร้อยละ 7-9 สำหรับปี 2563
ปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณและประธานสายตลาดการเงิน ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2562 เปรียบเทียบกับงวดไตรมาส 4 ปี 2561 ว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกําไรสุทธิ ไม่รวมส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเท่ากับ 1,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากงวดเดียวกันของปี 2561 เป็นกําไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดําเนินการโดยบริษัท ทุนภัทร จํากัด (มหาชน) และบริษัทย่อย จํานวน 310 ล้านบาท มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 3,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ อยู่ที่ 1,250 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.8 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้อื่น 642 ล้านบาท รวมเป็นรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 5,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากงวดเดียวกันของปี 2561
ทางด้านสินเชื่อของธนาคาร สําหรับปี 2562 มีการขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 จากสิ้นปี 2561 โดยมาจากการขยายตัวในสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่มีการหดตัวในปี 2562
ในด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ปรับ ลดลงจากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คํานวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกําไรหลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 16.60 โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 12.88 แต่หากรวมกําไรถึงสิ้นไตรมาส 4/2562 หลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2562 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับร้อยละ 17.83 และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับร้อยละ 14.11
สำหรับการประเมินสภาวะเศรษฐกิจของปี 2563 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมอง ดังต่อไปนี้
“บล.ภัทรประเมินว่า สำหรับปี 2563 แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ตามวงจรเศรษฐกิจและการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยก็ยังมีความเสี่ยง บล.ภัทร ได้ปรับประมาณการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2563 จากร้อยละ 2.8 เหลือร้อยละ 2.2 จากสามปัจจัยเสี่ยงหลักคือ (1) การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยว (2) ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณที่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และ (3) วิกฤตภัยแล้ง”
โดยการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มีความรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การห้ามการเดินทางออกนอกประเทศของนักเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์ของจีน และอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเอง และนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่เดินทางมาไทย
ทั้งนี้ ในปี 2562 การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในประเทศมีสัดส่วนเป็นกว่าร้อยละ 12 ของจีดีพี และนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็น 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (ทั้งในแง่จำนวนคนและปริมาณการใช้จ่าย) หากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบที่มากขึ้นต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายในประเทศ นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบจากการลดลงของการจ้างงานหรือรายได้ในภาคบริการด้วย
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 ประสบกับความล่าช้า และต้องรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.นี้ล่าช้าไปแล้วถึง 4 เดือน และอาจต้องเลื่อนเวลาใช้บังคับออกไปอีก ในช่วงที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ หากมีความล่าช้าออกไปอีกจะกระทบต่อเศรษฐกิจจากเม็ดเงินที่ไม่ถูกฉีดเข้าสู่ระบบตามที่ควรจะเป็น
ด้านวิกฤตภัยแล้งที่หนักสุดในรอบหลายปีของประเทศไทย เนื่องมาจากภาวะฝนแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปีที่ผ่านมา จนระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำสำคัญอยู่ในระดับที่น่ากังวล คาดว่าภัยแล้งครั้งนี้จะทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรลดลง และภาคอุตสาหกรรมอาจต้องลดปริมาณการผลิตเพื่อประหยัดน้ำ และรับต้นทุนของวัตถุดิบและการบริหารน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ผลกระทบในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ยังอาจกระทบถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องและนำไปสู่การใช้จ่ายที่ชะลอตัวลง จนอาจส่งผลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ บล. ภัทร คิดว่ามีความจำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งผ่านนโยบายการคลังและนโยบายเงิน เพื่อพยุงเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี
อ่านเพิ่มเติมไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine