สรุปภาวะเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นในครึ่งปีแรก
- นับจากต้นปี 2017 ตัวเลขเศรษฐกิจในเกือบทุกประเทศฟื้นตัวได้ดีทั้งภาคผลิตและภาคบริการ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวระดับสูง อุปสงค์โลกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนความหวังนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Donald Trump
- อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เดือน เม.ย. ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถยืนเหนือระดับ $50 ประกอบกับนักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Trump ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นและดัชนีชี้นำเริ่มชะลอลงบ้าง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป
ตลาดเงิน
เราเห็นว่าธนาคารกลางในหลายประเทศมีมุมมองที่เป็นกลาง (Neutral) ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มที่จะมีมุมมองเข้มงวดขึ้นต่อนโยบายการเงิน (Hawkish) เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อ และตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับเพิ่มดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือน มี.ค.และ มิ.ย.
แม้ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับอ่อนค่า (Dollar Index -5% นับจากต้นปี) สะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นอินเดีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับคาดการณ์ผลดำเนินงาน (EPS Growth) ในขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ปรับตัวเพิ่มหลังจากนักลงทุนคลายความกังวลประเด็นการเมืองในภูมิภาค ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดหุ้นเหล่านี้เริ่มซื้อขายในระดับ P/E ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
แผนภาพ: อัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีตลาดหุ้น, อัตราแลกเปลี่ยน, ค่าเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์ นับจากต้นปี 2017 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2017
Source: Bloomberg
สรุปมุมมองในช่วงครึ่งปีหลัง
เศรษฐกิจ
เรามองว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะยังขยายตัวดี แต่จะไม่ร้อนแรงเหมือนในช่วงครึ่งปีแรกเนื่องจาก 1) รัฐบาลจีนกลับมาเข้มงวดนโยบาย 2) ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจำกัดย่อมส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ 3) ความหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ แผนปฏิรูปภาษีคาดจะเกิดขึ้นจริงในปี 2018
ตลาดเงิน
แนวโน้มดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสจะกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปี 2017 เนื่องจาก นโยบายของธนาคารกลางที่มีความแตกต่าง (Policy Divergence) โดยยังมองว่าในกลุ่มธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ มีแต่เพียงธนาคารกลางสหรัฐฯ เท่านั้นที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการซื้อตราสารหนี้ในตลาดพันธบัตร คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดขนาดงบดุลในเดือน ก.ย. และจะต้องจับตาธนาคารกลางยุโรปมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสที่จะส่งสัญญาณลดมาตรการ QE ลงเช่นกันโดยประเมินว่าจะประกาศลด QE ลงในเดือน ก.ย. สู่ระดับ 40 Billion Euro เริ่มต้นในเดือน ม.ค. 2018
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องจับตาคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Trumpหากมีความชัดเจน โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษีเบื้องต้นคาดสภาจะพิจารณาในเดือน ต.ค.ย่อมสร้างความเชื่อมั่นและเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กลับมาแข็งค่า
ตลาดหุ้น
ในช่วงเดือน มิ.ย. เริ่มเห็นแรงขายทำกำไรของในราย Sector อาทิหุ้นในกลุ่ม IT ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาร้อนแรง และ เริ่มซื้อขายที่ระดับ P/E สูง
ส่งผลให้จากนี้เรามีมุมมองระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว และ ซื้อขายที่ระดับ P/E เหนือค่าเฉลี่ยมาก ซึ่งมีความเสี่ยงในการปรับฐานราคาระยะข้างหน้า
ดังนั้น เราจึงแนะนำให้ลงทุนในดัชนีที่ยังปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก และ ปัจจัยพื้นฐานยังไม่สูง (Laggard + Value) เช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น จีน และไทย
ปัจจัยที่ต้องติดตามในครึ่งปีหลัง