สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จัดเสวนาแนะเดินหน้ารับมือความไม่แน่นอน - Forbes Thailand

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จัดเสวนาแนะเดินหน้ารับมือความไม่แน่นอน

สมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ระดมสมองผู้นำทางความคิดทั้งในและต่างประเทศ รับมือความไม่แน่นอนหลังโควิด ผลกระทบที่ตามมาหลังวิถีชีวิตใหม่ แนะภาคธุรกิจวางแผนทรานส์ฟอร์มองค์กรรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต พร้อมร่วมมือ “รีสตาร์ท” ประเทศไทย ก้าวสู่ความยั่งยืน

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนาประจำประจำปี 2564 “Thailand Management Day 2021” ภายใต้หัวข้อ “TMA Club: Addressing the Uncertainty” เปิดเวทีให้กลุ่มผู้นำทางความคิด ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อเสนอแนะแนวทางการรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากวิกฤต โควิด-19 ทั้งการเปลี่ยนแปลงองค์กร การรับมือกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เน้นร่วมมือกันเพื่อ “รีสตาร์ท ประเทศ” ให้เศรษฐกิจเดินหน้าอีกครั้ง Sean Ness ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจากสถาบันเพื่ออนาคต สหรัฐอเมริกา (Business Development Director, Institute for the Future : IFTF) บรรยายในหัวข้อ “The Uncertainty beyond COVID” หรือ ความไม่แน่นอนหลังยุคโควิด ว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลก ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร อาศัยอยู่ประเทศไหน นี่จึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่มนุษยชาติต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว และขณะเดียวกันก็ต้องหาทางรับมือเฉพาะหน้าในระยะสั้นไปพร้อมๆ กัน “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองเห็นปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ระบบสาธารณสุข ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน ความแตกแยกทางการเมือง ตลอดจนปัญหาโลกร้อนที่กำลังเข้าสู่ภาวะฉุกเฉิน เราไม่สามารถแบ่งแยกพวกเราพวกเขา เพราะความจริงคือเราทุกคนบนโลกล้วนต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน” Sean กล่าวด้วยว่า วัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากโควิดได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก นอกจากการทำงานที่บ้าน (Work from Home: WFH) จะกลายเป็นเรื่องปกติใหม่สำหรับธุรกิจและพนักงานแล้ว ยังส่งผลต่อระบบนิเวศการทำงานในเมืองใหญ่ไปด้วย เพราะเมื่อพนักงานไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานในออฟฟิศแล้ว ธุรกิจที่อาศัยระบบนี้ เช่น ระบบขนส่งมวลชน ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับผลกระทบ “อย่างไรก็ตาม เรายังคงต้องจับตาดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เพื่อที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะไม่เพียงสถานการณ์เท่านั้นที่เปลี่ยน แต่เราจำเป็นต้องปรับตัวตามด้วย” Sean กล่าว

แนะภาคธุรกิจเร่งทรานส์ฟอร์มองค์กร

ในการเสวนาหัวข้อ “The Myth of Transformation” และ “No Man’s Land: The Human-Machine Revolution” ผู้ร่วมเสวนาได้แนะนำให้องค์กรวางแผนเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จต้องเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร รวมถึงการเลือกสรรเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจ ที่จะสามารถต่อยอด เพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในอนาคต ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการทรานส์ฟอร์มองค์กร คือการกลับไปหาแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ โจทย์เริ่มต้นของการทำธุรกิจคืออะไร และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน บริหารความเสี่ยง และทำให้การปฏิบัติงานภายในองค์กรดีขึ้น รวมไปถึงการขยายธุรกิจใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรสำเร็จ จะต้องเกิดจากผู้นำสูงสุด ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บริหาร หรือซีอีโอ แต่รวมถึงคณะกรรมการบริษัทด้วย ขณะที่ ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเรคท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำธุรกิจยุคนี้ ต้อง Small is beautiful ภายใต้แนวคิด “ถอยไปข้างหน้า” โดยแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือธุรกิจเดิมที่ยังสามารถสร้างผลกำไรได้ต่อเนื่อง ยังคงทำต่อไป ส่วนที่สองกลุ่มที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ต้องหาเทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วย และส่วนที่ 3 ธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตในอนาคต ซึ่งกลุ่มนี้ต้องศึกษา หาความรู้ มองหาโอกาส แต่ต้องคิดให้เร็ว แล้วรีบดำเนินการ สิ่งสำคัญ คือการหารูปแบบธุรกิจที่เขามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บัณฑูรย์ ปรปักษ์ขาม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีฟิตติ้งส์ จำกัด โควิด-19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลไปถึงภาคผลิต ซัพพลายเชนที่ต้องปรับกระบวนการทำงานให้ทัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เร็วขึ้น โดยการนำระบบออโตเมชั่น หรือสมาร์ท แฟคตอรี่เข้ามาใช้ จะช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความคล่องตัว และเพิ่มความสามารถการแข่งขันได้ดีขึ้น ทำให้กระบวนการผลิตสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในการเสวนา หัวข้อ Club DTMG: Digital Service Innovation: The Force Behind ว่า โควิดทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องปรับตัวในการทำงานจาก Re active ไปสู่ Pro Active โดยเฉพาะกลุ่มทรู ซึ่งให้บริการเครือข่าย จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยองค์กรต้องวางแผนรูปแบบการทำงานใหม่ ตั้งแต่กระบวนการคิด การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรในองค์กร และต้องนำไปใช้ในทุกขั้นตอนของการทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในรูปแบบสินค้าและบริการที่จะไปสู่ผู้บริโภค ปฐมา จันทรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า พนักงานในองค์กรถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด แต่ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้บริหารองค์กรต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ต้องช่วยให้พนักงานทำงานง่ายขึ้น ต้องพัฒนาทักษะการทำงานใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันผู้บริหารต้องรับฟังมากขึ้น และรู้ว่าพนักงานต้องการอะไร เพื่อที่จะบริหารองค์กรให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยการผสมผสานความคิดที่แตกต่าง แต่บรรลุเป้าหมายเดียวกัน

การตลาดพลิกเกมสู้วิกฤต

สำหรับการเสวนา Club MMG: Unrule Marketing ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ คือร้านอาหาร โดย อัจฉรา บุรารักษ์ เจ้าของธุรกิจ iBerry Group ระบุว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดมาสู่ร้านอาหารมีความรุนแรงมาก ทั้ง 4 ระลอก ซึ่งตั้งแต่ระลอกแรก บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยการสร้างแบรนด์ใหม่ คือ เจริญแกง ที่ขายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น ไม่มีหน้าร้าน ซึ่งสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ขณะที่การระบาดในระลอก 4 ซึ่งกระทบหนักที่สุด โดยไม่สามารถเปิดร้านอาหารในห้างได้เลย แม้แต่บริการเดลิเวอรี่ บริษัทจึงนำแบรนด์ 4–5 แบรนด์ ได้มาเช่าพื้นที่นอกห้างสรรพสินค้าเพื่อทำครัวกลาง หรือ Cloud Kitchen รองรับบริการร้านอาหารแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ซึ่งต่อไปต้องวางแผนทำ Cloud Kitchen แบบถาวร เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งคาดว่าจากผลกระทบที่เกิดขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป บริษัทจะพิจารณาปิดสาขาในห้าง แล้วมาเปิดร้านอาหารในชุมชนมากขึ้น ด้าน ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการทำการตลาดยุคนี้ ต้องใช้ Adaptive Marketing และ Data Driven Marketing นำข้อมูลมาช่วยในการวางแผนการตลาด เชื่อมโยงกับโลกดิจิทัล และต้องปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย และต้องกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ในมุมที่แตกต่างให้กับผู้บริโภค “ตอนนี้เราต้องช่วยกัน รีสตาร์ท ไทยแลนด์ กลุ่มซีพีเอ็นยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง โดยจะเปิดสาขาใหม่ที่ศรีราชาและอยุธยา และมีนโยบายที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งคู่ค้า ร้านค้า รวมทั้งทำงานกับภาครัฐ ในการดึงนักท่องเที่ยวกลับมา เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้า” ณัฐกิตติ์กล่าว อ่านเพิ่มเติม: “FUZE POST” การผนึกกำลังของ 3 ยักษ์ใหญ่ขนส่งโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine