วัดชีพจรธุรกิจเจอพิษโควิด "สายพันธุ์เดลต้า" - Forbes Thailand

วัดชีพจรธุรกิจเจอพิษโควิด "สายพันธุ์เดลต้า"

แบงก์ชาติ สำรวจผลกระทบโควิดระลอกใหม่ สายพันธุ์เดลต้า กรณีสถานการณ์แย่ลงฉุดจีดีพีติดลบร้อยละ 2 กรณีคุมสถานการณ์ภายในกลางส.ค.นี้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีหวังเติบโต ตรวจชีพจรธุรกิจ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลกทรอนิกส์ ขนส่งสินค้า ถุงมือยางยังดี หนักสุดโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัด Media Briefing เรื่อง “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด” พบว่า การระบาดของโควิดระลอกใหม่จากสายพันธุ์เดลต้า ทำให้การระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้บริหารจัดการได้ยากขึ้น ทั้งในส่วนประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์ และความเร็วในการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการลดการแพร่เชื้อของสายพันธุ์เดลต้า “การระบาดระลอกนี้ แม้จะมีการควบคุมพื้นที่จำกัด และไม่ได้ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เหมือนการระบาดระลอกแรก แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลจากความเชื่อมั่นของประชาชน ความกังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้น และการกระจายวัคซีนที่ช้ากว่าแผนที่วางไว้” ชญาวดีกล่าว ทั้งนี้ ธปท.ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็น 2 กรณี โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่ ในกรณีแรกหากประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ สามารถควบคุมการระบาดได้อยู่ที่ร้อยละ 40 สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ตัวเลขจีดีพีจะลดลงร้อยละ 0.8 กรณีที่สอง หากสถานการณ์แย่ลง รัฐบาลควบคุมการระบาดได้ร้อยละ 20 มาตรการล็อกดาวน์ยืดเยื้อถึงไตรมาส 4 จะทำให้จีดีพีลดลงร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม การประเมินนี้ เป็นการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิดระลอก 4 นี้ ยังไม่รวมปัจจัยอื่นๆ เช่น มาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาครัฐ หรือตัวเลขการส่งออกสินค้า ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่ได้รับกระทบจากการกลับมาระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

ภาคธุรกิจเชื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเร็ว

ชญาวดี กล่าวว่า ผลสำรวจการคาดการณ์การกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านและการท่องเที่ยวตามปกติในกลุ่มต่างๆ พบว่าภาคธุรกิจและครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติในช่วงต้นปี 2565 โดยภาคธุรกิจประเมินว่าจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่าภาคครัวเรือน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่หวังว่าประชาชนจะกลับมาท่องเที่ยวได้ในช่วงไฮซีซั่น ภายใต้เงื่อนไขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่สูงกว่า 50 รายต่อวัน ขณะที่ภาคครัวเรือนเปิดรับความเสี่ยงได้ต่ำกว่าภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่มองว่าจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ต่อเมื่อยอดผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 50 รายต่อวัน ขณะที่ครัวเรือนในจังหวัดพื้นที่สีแดงสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่า ด้านนักวิเคราะห์ประเมินว่าระยะเวลาที่ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดต่ำกว่า 500 ต่อวัน และคาดว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าช้ากว่าที่คาดมาก ซึ่งเป็นผลจากการกระจายวัคซีนเป็นสำคัญ ภูมิคุ้มกันหมู่อาจล่าช้ากว่าที่คาดและคงไม่เกิดในไทยภายในปี 65 จากการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศ และการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ อาจถูกเลื่อนออกไป รวมทั้งยังมีปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนโยบายการเงิน การคลัง การกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของธุรกิจ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนซัพพลายในภาคการผลิต” ชญาวดีระบุ

ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า-ขนส่งสินค้ายังดี

สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทันที โดยเฉพาะภาคการค้าและภาคบริการ อาทิ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ส่วนภาคผลิตได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอาจต้องหยุดผลิต รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการปิดแคมป์คนงาน อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รายได้ไม่กระทบมาก ได้แก่ การขนส่งสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งถุงมือยาง ส่วนกลุ่มที่เริ่มกลับมา แต่ยังฟื้นไม่เต็มที่ เช่น ที่อยู่อาศัยแนวราบ ส่วนกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่รายได้ลดลงชั่วคราวจากมาตรการครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ก่อสร้าง ปิโตรเลียม การผลิตอาหาร ขณะที่กลุ่มที่โดนซ้ำเติมเพิ่มขึ้นจากการระบาดรอบก่อนๆ ได้แก่ โรงแรม การค้า ค้าปลีก ร้านอาหาร รถโดยสารสาธารณะ ก่อสร้าง SMEs บริการจัดอีเวนต์ และศิลปะ การบันเทิง กลุ่มที่แย่และฟื้นตัวช้า ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และกลุ่มสุดท้าย แม้จะมีมาตรการและเปิดประเทศ ยังมีปัญหาต่อเนื่อง ได้แก่ คอนโดที่เน้นลูกค้าต่างชาติ โรงแรมที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติ สายการบิน และบริษัททัวร์ ชญาวดี กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับลงทุกตัว มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ประคองเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวรุนแรง โดยมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมีมาตรการทางการเงินเข้ามาเสริมความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพื่อบรรเทาภาระหนี้ที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยได้ทุกกลุ่ม เนื่องจากปัญหาสำคัญคือการขาดรายได้ของประชาชนและธุรกิจ มาตรการทางการคลังจึงมีความจำเป็นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป “รัฐบาลต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน เนื่องจากการระบาดระลอกล่าสุดมีแนวโน้มยืดเยื้อและกระทบเป็นวงกว้าง ต้องทำอย่างเต็มที่ ผสานทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อสร้างการเติบโอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป” ชญาวดีกล่าว ภาพเปิด: pixabay อ่านเพิ่มเติม: บลจ.วี เปิดขาย IPO “WE-EUROPE” รับเศรษฐกิจเปิดเต็มตัว
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine