ราคาน้ำมันดันเงินเฟ้อสูงสุดรอบ 23 เดือน
ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายนเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 23 เดือนที่ 0.60% ปีต่อปี จาก 0.34% ปีต่อปี ในเดือนก่อนหน้า จากผลของราคาน้ำมันที่ต่ำในช่วงปลายปี 2558 ส่งผลให้ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขยายตัวได้สูงขึ้นที่ 1.52%ปีต่อปี จาก 0.34% ปีต่อปี ในเดือนก่อน
ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปขยายตัวในระดับต่ำ ยกเว้นอาหารสดบางชนิดที่ยังขยายตัวสูง ได้แก่ ผักสดที่ 8.1%ปีต่อปี จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตผักใบบางชนิดลดลง เช่น ผลไม้สดที่ 2.67%ปีต่อปี ปลาและสัตว์น้ำที่ 2.36%ปีต่อปี ส่วนดัชนีราคาหมวดที่อยู่อาศัยหดตัวลง 1.2%ปีต่อปี เนื่องจากยังคงได้รับแรงกดดันจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือนมาอยู่ที่ 0.72% ปีต่อปี เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศชะลอลง ทั้งจากการใช้จ่ายของชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ได้ปรับราคาสินค้าขึ้นมากนัก
นอกจากนั้น EIC ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2559 ลงมาอยู่ที่ 0.2% ปีต่อปี จาก 0.4% ปีต่อปี เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด ประกอบกับบรรยากาศการบริโภคในประเทศซบเซาลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังทรงตัวต่อไป โดยทั้งปี 2559 อยู่ที่ 0.7% ปีต่อปี และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อไปในปีหน้าตามกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่จะกลับมา
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นได้ โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากผลการประชุม OPEC เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเห็นชอบร่วมกันว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการตกลงจำกัดการผลิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่ง EICมองว่า ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) จะทยอยปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 2560 ที่ 52 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บทวิเคราะห์โดย
ยุวาณี อุ้ยนอง
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
TAGGED ON