ผ่ากลยุทธ์พลิกเกมธุรกิจ "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" เตรียมขยายตลาด ตปท. มุ่งพัฒนา AI - Forbes Thailand

ผ่ากลยุทธ์พลิกเกมธุรกิจ "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" เตรียมขยายตลาด ตปท. มุ่งพัฒนา AI

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิด 5 กลยุทธ์พลิกเกมธุรกิจฝ่าอุปสรรคปี 2563 เตรียมขยายตลาดต่างประเทศ มุ่งพัฒนา AI วิเคราะห์ดาต้าส่งข้อเสนอให้ลูกค้า พร้อมตั้งโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ หวังเกิดนวัตกรรมใหม่

ฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติบัญชีใหม่ไป 9.78 แสนบัญชี (จากจำนวนใบสมัครทั้งหมด 2.2 ล้านใบ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 24% โดยมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวม 3.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% และมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL นั้น ตลอด 12 เดือนของปี 2562 ทั้ง NPL ของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตมีการขยับขึ้นเล็กน้อย และคาดว่าในปีนี้มีโอกาสขยับขึ้นอีกอย่างน้อย 30 basic point

“แนวโน้มดังกล่าวทำให้ในปีนี้เราวางเป้าอนุมัติบัญชีใหม่ลดลง 10% มาอยู่ที่ 8.9 แสนบัญชี ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน และภาระหนี้ต่อรายได้มากกว่า 70% จะถูกปฏิเสธคำขออนุมัติบัญชีใหม่ออกไปก่อน”

ฐากร ระบุอีกว่า กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครเดิตในปีนี้เพิ่มขึ้น 8% มาอยู่ที่ 3.55 แสนล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% และตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้างไว้ที่ 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

“อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มภาระหนี้สูง, อัตราหนี้เสียสูงขึ้น, ประชากรวัยทำงานลดลง, ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงกำลังซื้อลดลง

“ขณะที่รูปแบบธุรกิจของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังกระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิต ส่วนรายได้ก็มีความเสี่ยงลดลงจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของภาครัฐ ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังสูง นอกจากนี้ ยังมีคู่แข่งใหม่ๆ ที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ มีนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีเงินทุน ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจสินเชื่อ ทำให้ในปีนี้ เราจะพลิกเกมธุรกิจด้วย 5 กลยุทธ์หลักที่จะพาเราอยู่เหนือคู่แข่งได้”

 

เจาะ 5 กลยุทธ์พลิกเกมธุรกิจ

สำหรับ กลยุทธ์แรก ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ฐากร ระบุว่า คือการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดใหม่ โดยที่ผ่านมา กรุงศรีได้เริ่มธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใน สปป.ลาว และธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชา โดยปีที่ผ่านมา ในลาวมี asset อยู่ที่ 6 พันล้านบาท ส่วนกัมพูชามี asset อยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท ซึ่งในปีนี้ นอกจากจะมีกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ร่วมกับบริษัทในฟิลิปปินส์แล้ว ยังกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดเวียดนาม และเมียนมาด้วย

“เมื่อตลาดไทยเริ่มอิ่มตัว เราจึงต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็มีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ดี มีการเติบโตของประชากร จึงทำให้น่าสนใจ โดยคาดว่าน่าจะเห็นการขยายตลาดไปต่างประเทศในปีนี้ราว 1 ประเทศ ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีฯ ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีจะมีรายได้จากตลาดต่างประเทศเป็นสัดส่วนราว 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่ถึง 5% เท่านั้น” ฐากรให้รายละเอียด

ด้าน กลยุทธ์ที่ 2 คือการพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชันไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม ยูชูส (UCHOOSE) ที่ได้รับผลตอบเป็นอย่างดี โดยมีผู้ลงทะเบียนใช้งานแอปแล้ว 4.8 ล้านราย ทั้งนี้ ฟีเจอร์ที่คนชอบมากที่สุดคืออี-คูปอง ที่มีคนแลกคูปองไปแล้ว 9 แสนคูปอง รวมถึงฟีเจอร์แลกแต้ม ที่มีการแลกแต้มไปแล้วกว่า 300 ล้านแต้ม

ฐากร ปิยะพันธ์

“ยูชูสตั้งเป้าจะเป็นไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มที่อยู่กับทุกคนตลอดเวลา ดังนั้น ในปีนี้จะเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เช่น JD.co.th เป็นต้น, ฟีเจอร์ U like การโชว์ข้อเสนอตามความสนใจของแต่ละคน, ฟีเจอร์ U manage ที่ผู้ใช้สามารถล็อกไม่ให้ใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ หรือบนออนไลน์ได้

“นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ U insure คือสามารถเปรียบเทียบประกันได้บนแอป, ฟีเจอร์ U card คือสามารถเปิดบัญชีธนาคารกรุงศรีฯ ผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ซึ่งจะช่วยดึงลูกค้าบัตรเครดิตเข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคารได้ โดยจะเปิดตัวยูชูสใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มีนาคมนี้”

ขณะที่ กลยุทธ์ที่ 3 คือการนำข้อมูลที่มีมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดผ่านเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยที่ผ่านมากรุงศรี คอนซูมเมอร์เก็บข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนใบสมัครที่อนุมัติใหม่แยกตามรายจังหวัด, พฤติกรรมการใช้จ่ายตามช่วงอายุและรายได้, ข้อมูลหนี้เสียจากแคมเปญผ่อน 0% เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำมาซึ่งแคมเปญทางการตลาดกว่า 6 แสนแคมเปญ แต่ต่อจากนี้ไป รูปแบบการทำการตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

โดยแคมเปญการตลาดจะถูกสร้างขึ้นมา แล้วนำ AI มาวิเคราะห์ว่าข้อเสนอถัดไปที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าคืออะไร เช่น เมื่อลูกค้าใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าจองที่พัก AI จะประมวลผลและส่งข้อเสนอประกันการเดินทางมาให้กับลูกค้าภายในเวลาไม่กี่วินาทีหลังจากการแจ้งยืนยันการใช้บัตรจ่ายค่าจองที่พัก เป็นต้น ซึ่งระบบจะส่งโปรโมชั่นเหล่านี้ไปให้กับลูกค้าผ่านช่วงเวลาในการใช้แอปยูชูส รวมถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ลูกค้าใช้ด้วย

ส่วน กลยุทธ์ที่ 4 คือการพัฒนา AI ชื่อ Manow (มะนาว) ที่เปิดตัวไปเมื่อปีก่อนให้ฉลาดมากขึ้น โดยฟีเจอร์ใหม่ของ Manow ในปีนี้คือการเป็นผู้ช่วยส่วนตัว (personal assistance) ให้กับผู้ใช้ โดย Manow จะสามารถโทรศัพท์หาลูกค้าเพื่อเสนอวงเงินเพิ่ม รวมถึงสามารถช่วยจองตั๋วหนัง หรือเตือนการชำระเงินให้ลูกค้าได้ด้วย ขณะเดียวกันจะนำเทคโนโลยี machine learning มาใช้กับ Manow เพื่อให้สามารถจดจำเสียงของลูกค้าได้

ฐากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังพัฒนา AI chat bot บน Facebook Messenger ซึ่งจะสามารถให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะเดียวกันยังต่อยอดเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยการสแกนใบหน้า หรือ Face Payment ซึ่งกำลังอยู่ในการพัฒนาระบบ และจะเริ่มทดสอบได้ในไตรมาส 3 ก่อนจะให้บริการเฉพาะบนพาร์ทเนอร์บางรายเท่านั้น เช่น โฮมโปร เป็นต้น

แผนงานของกรุงศรี ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพ สตูดิโอ

และสุดท้ายคือ กลยุทธ์ที่ 5 คือการจัดตั้งโครงการ กรุงศรี ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพ สตูดิโอ ซึ่งจะให้พนักงานที่มีไอเดียรวมกลุ่มกันแล้วมาเสนอไอเดียให้ผู้บริหาร จากนั้นจะใช้เวลา 4 เดือนในการปรับปรุงแก้ไขไอเดีย ก่อนที่จะใช้เวลาอีก 8-12 เดือนในการพัฒนาสู่โปรดักต์จริง ซึ่งจะดึงพนักงานนั้นๆ ออกมาจากงานหลักที่ทำอยู่อย่างเต็มตัว

“หากโปรดักต์นั้นสามารถแยกออกไปตั้งเป็นบริษัทได้ เราก็จะให้แยกออกไป โดยที่มีเราเป็นนักลงทุนและผู้ถือหุ้น แต่ถ้าโปรดักต์นั้นเกี่ยวข้องกับกรุงศรี เราก็จะให้เขาเป็นพาร์ทหนึ่งของบริษัท”

ฐากร กล่าวทิ้งท้ายว่า จาก 5 กลยุทธ์ที่วางไว้ เชื่อว่าจะทำให้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ สามารถฟันฝ่าอุปสรรคทางเศรษฐกิจต่างๆ ในปีนี้ไปได้ ต่อสู้กับคู่แข่งได้ รวมถึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ด้วย

  อ่านเพิ่มเติม  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine