บี.กริม เพาเวอร์ เคาะราคา IPO สุดท้ายที่ 16.00 บาท ต่อหุ้นได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลกอย่างท่วมท้น โดยมีความต้องการซื้อหุ้นมากกว่า 6.5 เท่า - Forbes Thailand

บี.กริม เพาเวอร์ เคาะราคา IPO สุดท้ายที่ 16.00 บาท ต่อหุ้นได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลกอย่างท่วมท้น โดยมีความต้องการซื้อหุ้นมากกว่า 6.5 เท่า

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เคาะราคาเสนอขายสุดท้ายสำหรับหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกที่ 16.00 บาทต่อหุ้น หลังได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักลงทุนสถาบันระดับโลก สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทฯ และศักยภาพในการขยายธุรกิจและความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าระดับภูมิภาค

จากผลตอบรับดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้จัดสรรหุ้นส่วนเกินทั้งหมดจำนวน 651.8 ล้านหุ้นให้แก่นักลงทุนสถาบัน รวมเป็นจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ 716.9 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวม 11,470 ล้านบาท ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าราคาขายสุดท้ายดังกล่าว ถือเป็นราคาที่เหมาะสม เมื่อคำนึงถึงคุณภาพของนักลงทุนสถาบันที่แสดงความสนใจจองซื้อ ซึ่งทั้งหมดเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสภาวการณ์ตลาดหลักทรัพย์ และเสถียรภาพของราคาหุ้นภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “บี.กริม เพาเวอร์ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ให้ความเชื่อมั่นในบริษัทฯ บริษัทฯ จะมุ่งหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าให้แล้วเสร็จตามกำหนดและเดินหน้าขยายธุรกิจโดยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ” ทั้งนี้ ปรียนาถ กล่าวเสริมถึง นักลงทุนรายใหญ่ (cornerstone investor) ที่เข้ามาเซ็นสัญญาก่อนคือ Asian Development Bank (ABD),  บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)  รวมกันราว 30 % โดยส่วนที่เหลือเป็นนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความมีศักยภาพที่นักลงทุนรายใหญ่มาร่วมลงทุนกับเรา “ถือเป็นการกลับมาลงทุนของ ABD ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาในเอเชีย โดยการเข้ามาของ ADB เป็นการเข้ามาในลักษณะการให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ที่ 20 ล้านเหรียญต่อ 1.8 %  ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ทั้งยังเป็นตัวเลขสำคัญที่สะท้อนการเติบโตของเรา โดย 80 % เป็นนักลงทุนระยะยาวซึ่งไม่เก็งกำไร ส่วนอีก 20 % เป็น Multi-Strategy Fund นำไปสู่ความเสถียรภาพของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่เป็นที่น่าเชื่อถือได้ หลังการเปิดขาย IPO”  ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวและเสริมถึงเงินที่ได้การระดุมทุนแบ่งใช้เป็น 3 ส่วน โดยนำไปชำระเงินกู้ธนาคารราว 6-7 พันล้านบาท นำไปลงทุนโครงการที่ระหว่างก่อสร้าง และ SPP Replacement ซึ่งเป็นสัญญา 25 ปี 3 โครงการ ประมาณ 3 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นส่วนของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการลงทุนในอนาคต ด้าน แมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมถึงการเสนอขายในครั้งนี้เป็นการเสนอขายหุ้นใหม่ทั้งหมด 651.8 ล้านหุ้น และมีหุ้นเป็นการจัดสรรหุ้นส่วนเกินเป็น option ที่ 65.1 ล้านหุ้น หรือคิดประมาณ 10% “โดยภาพรวมหุ้นถูกกระจายไปภายในประเทศที่ 65% ต่างประเทศ 45%  แต่ถ้าคิดเป็นสัดส่วนระหว่างนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนธรรมดา โดยนักลงทุนสถาบันระหว่างไทยและเทศที่ 77 % และบุคคลธรรมดาที่ 33 % ส่วนราคาที่เสนอขายราคาสุดท้ายที่ 16 บาท” แมนพงศ์ เสนาณรงค์ กล่าวและเสริมว่า “ในฐานะที่ปรึกษาทางด้านการเงินทั้งไทยและเทศต้องเรียนว่าเป็นความสำเร็จของผู้บริหารได้ทำหน้าที่สามารถนำเสนอข้อมูลบริษัทได้อย่างดี โดยต้องให้เครดิตกับผู้บริหารเป็นอันดับที่หนึ่งเรื่องที่สองเป็นเรื่องของการกระจายที่ได้คุณภาพซึ่งนักลงทุนที่เข้าเป็นสถาบันที่ถึง 77 % การที่มีสถาบันที่มีคุณภาพเข้ามาลงทุนทำให้เราเชื่อว่าในการลงทุนระยะยาว ทำให้ผู้หุ้นได้รับโอกาสสูงสุด”