ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ยังทรงตัว จากการเผยผลสำรวจข้อมูลนักลงทุนเดือนกรกฏาคมโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ทั้งนี้ดัชนีเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” แนวโน้มครึ่งปีหลังนักลงทุนห่วงสถานการณ์ว่างงาน ปัญหา NPL กดดันหุ้นกลุ่มแบงก์ นักวิเคราะห์มองสถานะธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกรกฎาคม 2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 อยู่ที่ 101.19 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนมิถุนายน นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยบวกมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน อย่างไรก็ตาม มีความกังวลต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสองเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์จากปัญหา NPL รองลงมาคือการไหลเข้าออกของเงินทุน และนโยบายทางการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงยังคงกังวลกับการระบาดรอบสองของโควิด-19 ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือนกรกฎาคมนี้อยู่ในภาวะทรงตัว ขณะนี้ตลาดหุ้นในภูมิภาคเริ่มฟื้นตัว สำหรับความเชื่อมั่นของนักลงทุนแต่ละกลุ่มนั้น มีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ที่ 125.00 ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ที่ 100.00 สถาบันในประเทศปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับ “ทรงตัว” ที่ 100.00 กลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลงอยู่ในระดับ “ซบเซา” ที่ 71.79 จากความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ที่นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรจะปรับลดลง 30-40% โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไพบูลย์ กล่าวว่า คือแม้จะมีการคลายล็อคมาตรการต่างๆ ครบทุกเฟสแล้ว แต่การดำเนินธุรกิจยังไม่กลับมาเท่าที่ควร สิ่งที่น่ากังวล คืออัตราการว่างงาน ที่คาดว่าจะสูงถึง 7 – 8 ล้านคน ต้องดูเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน วงเงิน 4 แสนล้านบาท จะสามารถกระจายได้มากน้อยเพียงใด หากทำให้เกิดการจ้างงานกลับมาได้ 4 - 5 ล้านคน ถือว่าน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีนี้ “คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีนี้ จะอยู่ที่ระดับ 1,450 จุด สะท้อนได้จากมุมมองของนักลงทุนที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นเชื่อว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังในภาวะทรงตัว” ไพบูลย์กล่าว สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดในสายตานักลงทุน คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ นักวิเคราะห์เชื่อสถานะแบงก์ไทยยังแกร่ง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อภาคธุรกิจและการว่างงาน มาตรการพักชำระหนี้และปัญหาหนี้เสีย (NPL) กดดันหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นลดลงประมาณร้อยละ 30 – 40 แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง นักวิเคราะห์มองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารไม่น่าจะลดลงไปมากกว่านี้ และมีปัจจัยกดดันการขยายตัว เจฟ สุธีโสภณ ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า หุ้นกลุ่มธนาคารได้รับแรงกดดันตั้งแต่ปี 2561-2562 ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (ดิสรัปชั่น) ขณะที่ปี 2561 สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2% กลุ่มลูกค้าของธนาคารเริ่มได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ลูกค้าธนาคารได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งภาคส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ที่มีการจ้างงาน 7.7 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของอัตราการจ้างงานทั่วประเทศ ซึ่งถ้าคนกลุ่มนี้มีปัญหาจะส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของ NPL ของธนาคาร ประกอบกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้ มาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ กดดันกำไรของธนาคารพาณิชย์ไทย รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ที่ธปท.ประกาศให้ช่วยภาคธุรกิจ “แต่ด้วยราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ลดลงไปร้อยละ 30 - 40 ถือว่ารับรู้ข่าวร้ายไปมากแล้ว หากจะลงอีกมองว่าอยู่ในทิศทางที่จำกัด แต่ถ้าจะขึ้นก็ไม่สูงมากนัก จากปัจจัยลบต่างๆ ที่กดดดันอยู่ในขณะนี้ จึงมองว่าหุ้นกลุ่มธนาคาไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่น่าลงทุนในช่วงนี้” เจฟกล่าว ด้าน วรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้ว่าผลประกอบการจะยังไม่ฟื้นตัว เพราะสถานการณ์โดยรวม ทั้งการจัดการปัญหาโควิดของรัฐบาลมีทิศทางที่ดีขึ้น มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยเรื่องการจ้างงาน ซึ่งมีกรณีศึกษาหุ้นกลุ่มธนาคารจะมีการปรับตัวขึ้นก่อนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มองว่าสถานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง สามารถรองรับการตั้งสำรองหนี้เสียได้ดี ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ประกอบกับมาตรการ ธปท.ที่ออกมา ช่วยให้ธนาคารจัดการปัญหาหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเมินว่าสถานการณ์จากนี้ไปหุ้นกลุ่มธนาคารจะลดลงไม่มาก แต่หากปัจจัยลบคลี่คลาย จะมีผลต่อราคาหุ้นในทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่า อ่านเพิ่มเติม: โอกาสการลงทุน รับ New Normalไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine