AMARC ฉวยจังหวะตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารกำลังสดใส ติดอาวุธห้องแล็บและสาขา มุ่งต่อยอดธุรกิจ ผลักดันรายได้-กำไรเติบโตมากกว่าเท่าตัว เดินหน้าแต่งตัวเข้าตลาด mai หวังข้ามกำแพงโตต่างแดน และดึงพันธมิตรต่างชาติเสริมแกร่ง
อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH ในฐานะบริษัทแม่ ของ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเชีย จำกัด หรือ AMARC เปิดเผยว่า LPH มุ่งผลักดันให้ AMARC เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai เพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กร และลดการพึ่งพาบริษัทแม่
เบื้องต้นคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในไตรมาส 1 ปี 2562 และน่าจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชน (ไอพีโอ) และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 2562
“จริงๆ ตอนนี้ AMARC ก็พร้อมในแง่ของผลการดำเนินงานต่างๆ แต่เราต้องการรอให้ผลประกอบการของ AMARC สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงก่อน จึงจะผลักดันให้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai โดยหากว่าผลประกอบการครึ่งแรกปี 2561 เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็จะดำเนินการเรียกที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาหารือและเตรียมความพร้อมในเรื่องการทำไฟลิ่งทันที”
ทั้งนี้ AMARC ดำเนินธุรกิจบริการศูนย์วิจัยและปฏิบัติการที่มีธุรกิจหลักครอบคลุมบริการ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อาหารและผลผลิตทางการเกษตร 2. ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และเภสัชศาสตร์ 3. ห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัด และ 4. ห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์
โดยลูกค้าหลักของบริษัทคือหน่วยงานรัฐ ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม และลูกค้าภาคเอกชน ซึ่งยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย
ทั้งนี้ รายได้หลักของ AMARC มาจากการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้สูงถึง 90% ขณะที่อีก 10% เป็นรายได้จากห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือวัด
“ลูกค้าหลักของเราคือภาคการเกษตร ซึ่งเราก็มีบริการห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรทั้งอาหาร และไม่ใช่อาหาร การตรวจสอบคุณภาพของเราค่อนข้างครอบคลุมสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเล ผักผลไม้ แปลงข้าว”
อังกูรกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ AMARC เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นเป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจของ รพ.ลาดพร้าว ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจได้ว่าธุรกิจนี้ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่นำสมัยจากต่างประเทศค่อนข้างสูง
“เรียกว่าตอนที่ทำธุรกิจนี้ 6-7 ปี ขาดทุนมาตลอด แต่เราเป็นคนทำงาน จึงได้เห็นถึงความต้องการด้านนี้ว่ามีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งภาคการส่งออกเองก็มีความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก เราจึงเชื่อว่าตลาดนี้มีความน่าสนใจและต้องเติบโตได้อีกมาก”
อาคารห้องปฏิบัติการของ AMARC
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3-4 ปีก่อน บริษัทศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพชั้นนำของโลกได้ติดต่อเข้าซื้อธุรกิจนี้จากรพ.เพราะมองเห็นศักยภาพการเติบโตของตลาดในประเทศไทยและต้องการใช้ศูนย์ฯ ที่ไทยเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ตลาด AEC ทั้งนี้แม้ทาง รพ. และคู่ค้าต่างประเทศรายนี้ได้เจรจากันแล้วเสร็จ ทว่าแผนการเข้าซื้อธุรกิจสะดุด เนื่องจากทางคู่ค้ามีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของบริษัทแม่ เป็นเหตุให้ รพ. ตัดสินใจดำเนินธุรกิจนี้ต่อด้วยตัวเอง
และจากการสานต่อธุรกิจเรื่อยมา ทำให้ AMARC มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยปี 2560 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.02% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 115 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในปี 2560 จำนวน 5.32 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิ 7.40 ล้านบาท
ส่วนปี 2561 AMARC วางเป้าหมายการเติบโตของรายได้ 100% หรือมีรายได้มากกว่า 200 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธินั้น วางเป้าหมายขั้นต่ำที่ 20 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นการเติบโตมากกว่า 100%
“ถามว่ามั่นใจได้อย่างไรว่ารายได้ของ AMARC จะเป็นไปตามเป้าหมาย ก็เพราะว่าเราผ่านบททดสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้ามาแล้ว ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงบุคลากรมาแล้วเช่นกัน ตั้งแต่ที่เราเริ่มมีกำไร เราก็รู้แล้วว่าจะต้องทำธุรกิจอย่างไรให้กำไรเราเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ”
แผนธุรกิจปี 2561 AMARC จะรุกสร้างการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการขยายตัวในประเทศจะใช้รูปแบบของศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและเพิ่มสาขาสำหรับรับสินค้ามาตรวจสอบในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ไม่ว่าจะเป็นผลไม้หรืออาหารทะเลก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีแผนรุกไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตอาหารมีการย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มเหล่านี้ จึงมีความต้องการศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น
โดยล่าสุด AMARC ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับ สปป.ลาว ซึ่งแต่งตั้งให้ AMARC เป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งและดำเนินกิจการศูนย์ปฎิบัติการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยเบื้องต้นตามที่หารือกันไว้คือจะเปิดเป็นห้องปฏิบัติการตรวจสอบเทียบก่อน
“กระทรวงเกษตรของ สปป.ลาว ต้องการตรวจสอบข้าวเพื่อการส่งออก ก็อยากให้เราไปเปิดสาขาที่ลาว ซึ่งต้องเป็นการร่วมทุนกับบริษัทใน สปป.ลาว คาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีแล็บเปิดใน สปป.ลาว ด้วย และจะเป็นจุดเริ่มต้นของ AMARC ในการขยายธุรกิจ และคิดว่าประเทศอื่นๆ ใน CLMV จะเริ่มตามมา”
ภาพรวมของตลาดในประเทศ มีความเชื่อมั่นมากว่ายังมีพื้นที่ให้ AMARC เติบโตได้อีกมาก เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นฐานเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าทางการเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ในขณะที่ผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบนี้มีเพียง 2 รายใหญ่ ที่สามารถให้บริการตรวจสอบสินค้าได้ครอบคลุมความต้องการ รายแรกคือ เซ็นทรัลแลบ ซึ่งเป็นของรัฐบาลที่เปิดให้เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งถือเป็นแล็บที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และรายที่ 2 ก็คือ AMARC
ทั้งนี้ ยอมรับว่าขนาดองค์กรของ AMARC เล็กมากเมื่อเทียบกับเซ็นทรัลแลบ แต่เมื่อเทียบกับตลาดรวมที่ใหญ่มาก ซึ่งตีมูลค่าตามภาคการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่อยู่ที่ 2-3 พันล้านบาท ก็จะเห็นว่า AMARC ยังมีพื้นที่ให้เติบโต และภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2562 แล้ว เชื่อว่า AMARC จะสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ยาก
เรื่อง: ศนิชา ละครพล
ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
คลิกอ่านเรื่องราวทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine