กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ติดลบ 5.3% รับพิษ โควิด-19 - Forbes Thailand

กนง.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ติดลบ 5.3% รับพิษ โควิด-19

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับ ประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2563 ติดลบ 5.3% หากการระบาดของ โควิด-19 จบเร็วภายในไตรมาส 2 แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อเศรษฐกิจไทยถึงขั้นเลวร้าย

สถานการณ์ของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก จนมีผู้ติดเชื้อกว่า 400,000 คน เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งนักวิเคราะห์จากหลายพื้นที่ทั่วโลกได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศ พร้อมชี้ถึงเศรษฐกิจโลกที่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างชัดเจนในปีนี้

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการระบาดของ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นและกระจายไปทั่วโลกในขณะนี้ ทำให้ที่ประชุม กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่ โดยอ้างอิงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย 2.สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายภายในไตรมาสที่ 2 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประเมินไว้ และ 3.การคาดการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ยังไม่ได้รวมมาตรการการเงิน-การคลังของรัฐบาลที่ประกาศออกมา ซึ่งหากเป็นไปตามปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 5.3%

“การประมาณการเศรษฐกิจไทยในการประชุมครั้งก่อน เรามองว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่ายังจำกัดอยู่ในประเทศจีน แต่ขณะนี้การระบาดเกิดขึ้นไปทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศจีนเท่านั้น ทั้งยังมีแนวโน้มว่า อาจจะคุมไม่อยู่ โดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอย” ดร.ดอนกล่าว

ขณะที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและส่งออก ในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยหายไปถึง 90% อัตราการจองห้องพักในช่วง 3 เดือนข้างหน้าหายไปเกือบหมด ซึ่งทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่หายไปได้กระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ

นอกจากนั้น การประมาณการเศรษฐกิจไทยขณะนี้ได้ประเมินจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด หากการระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อออกไป หรือมีความรุนแรงเหมือนประเทศอิตาลี จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และมีโอกาสหดตัวลงลึกกว่านี้

ดร.ดอน นาครทรรพ

อย่างไรก็ตาม ดร.ดอนเชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นชั่วคราวและในขณะนี้ยังสามารถควบคุมได้ หากทุกคนปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด และถ้าสถานการณ์การระบาดโควิด-19 สามารถจบได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ราว 3% ในปี 2564

“แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์โรคโควิด-19” ดร.ดอนระบุ

ส่วน ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ผลการประชุม กนง. ยังมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง โดยให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี

สำหรับการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ดังนั้น ในภาวะดังกล่าวคณะกรรมการฯ ได้สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างสอดคล้องเหมาะสมตามประกาศของรัฐบาล รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา

“คณะกรรมการฯ เห็นพ้องว่าต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม กรรมการ 2 ท่านเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกร้อยละ 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรง” ทิตนันทิ์กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรง เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

ขณะเดียวกัน มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลง และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว

ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด

   
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ กดติดตามได้ที่ Facebook Fanpage: Forbes Thailand Magazine