ตลาดหุ้นไทยเผชิญความร้อนแรงทั้งในและต่างประเทศ - Forbes Thailand

ตลาดหุ้นไทยเผชิญความร้อนแรงทั้งในและต่างประเทศ

    ดัชนี้ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ เตรียมเผชิญสถานการณ์ร้อนแรงทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ลุ้นระลึกโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 สหรัฐ-จีนเปิดศึกเทรดวอร์อีกรอบ และปัจจัยกดดันเศรษฐกิจสหรัฐ จับตาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบเดือนก.ค.นี้

    ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) สัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลงหลุด 1,500 จุด แม้ต้นสัปดาห์จะขยับขึ้นตามแรงซื้อขอกลุ่มนักลงทุนสถาบันที่ตอบรับความคืบหน้าทางการเมือง จากการโหวตเลือกประธานสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โดยวันศุกร์ที่ 7 ก.ค. ดัชนีปิดที่ระดับ 1,490.51 จุด ลดลง 0.84% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 39,313.94 ล้านบาท ลดลง 15.81%

    เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ไตรมาส 3 คงยังผันผวน โดยปัจจัยหลักที่เป็นตัวกำหนดทิศทางมาจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และยุโรป (ECB) ต่างส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

    สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลัง มาจากความกังวลเรื่องเสถียรภาพและการเปลี่ยนผ่านนโยบายต่างๆ ได้แก่ 1. นโยบายการเงินของไทยที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือนก.ค.นี้ 2. ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการโหวตเลือกนายรัฐมนตรี และ 3. ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK


3 ซีนาริโอโหวตนายกต่อตลาดหุ้นไทย


    ฝ่ายวิจัย เอเซีย พลัส เปิดเผยบทวิเคราะห์ 3 ฉากทัศน์ (SCENARIO) ความเป็นไปได้ต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีต่อตลาดหุ้นไทย ดังนี้

        1. กรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โหวตเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 376 เสียงขึ้นไป กรอบดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1,550 – 1,600 จุด

        2. กรณีสว. ไม่โหวตเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจาก 8 พรรคการเมืองที่ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล กรอบดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ 1.480 - 1,550 จุด

        3. กรณีที่สว. ไม่โหวตเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และเกิดเปลี่ยนขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลไปอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อต่อไป จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงลดลงอีกครั้ง

    ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ว่า การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ขายกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33,000 ล้าน

    อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกเดียวที่มีต่อตลาดหุ้นไทย คือการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาและมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี รวมถึงการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4 โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ระดับ 21,933 ล้านเหรียญสหรัฐ อาจทำให้เห็นการเติบโตของการส่งออกในไตรมาส 4 ปีนี้


สงครามการค้าจีน-สหรัฐปะทุอีกระลอก


    ขณะที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจปะทุอีกครั้ง หลังจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างสองชาติเริ่มตั้งแต่ปี 2562 โดยสหรัฐขึ้นบัญชีดำทางการค้าและจำกัดการส่งออกสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิปไปยังประเทศจีน ขณะที่ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทางการจีนได้ออกประกาศควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์แร่หายาก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า และยุทธปกรณ์ทางทหาร นักวิเคราะห์มองว่าจะเป็นชนวนของสงครามการค้าระลอกใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐหลังจากนี้

    อย่างไรก็ตาม จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ อาจส่งผลดีต่อไทย จากการย้ายฐานผลิตเข้ามาที่ไทย โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 เป็นต้นไป

    ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง กดดันตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัปดาห์นี้ต้องจับตาถ้อยแถลงของเฟดว่าจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหรือไม่ในเดือนก.ค.นี้ หลังมีการเว้นไปในเดือนมิ.ย. อย่างไรก็ตาม บล.ทรีนิตี้ คาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน่าจะถึงจุดสูงสุดปลายไตรมาส 3 ปีนี้ และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองในทางบวกในไตรมาส 4 ในทางกลับกันถ้าเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันทีตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนเป็นลบเพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี

    “ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,450 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิดโควิด รอบ 2 ในกลางปี 2021 และถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า” ดร.วิศิษฐ์กล่าว

    สำหรับทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3 จากปัจจัยหลักๆ ดังนี้ 1. การอ่อนแอของดอลลาร์สหรัฐ และเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1 ปี 2567 2. มองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะ Outperform ในไตรมาส 4 เนื่องจากในเอเชียได้ผลกระทบจาก Interest shock น้อยกว่าตลาดหุ้น ในกลุ่มประเทศพัฒนา ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ Outperform ตลาดหุ้นจีนจะมีการฟื้นตัวในไตรมาส 3 นี้ 3. มอง Bond Yield 10 ปีของสหรัฐได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 4.3% หรือกว่า 8 เดือนที่แล้วแต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และมองว่ากนง.ของประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 3 นี้

    สำหรับสัปดาห์นี้ (10-14 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,475 และ 1,460 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,520 และ 1,545 จุด ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ขณะที่กรณี STARK ยังเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง


    อ่านเพิ่มเติม : “ซิซซา กรุ๊ป” ลุยพัฒนาภูเก็ต 8 พันล้าน เปิดทางเลือกลงทุน “เมดิคอล เวลเนส”

    ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine