ท่ามกลางวิกฤตสถาบันการเงินระดับโลกที่มีปัญหา ที่แบงก์ขนาดใหญ่ยังสามารถล้มครืนได้ แต่สำหรับ "ณัทสุดา พุกกะณะสุต" ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย อดีตนักการเงินที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี จากสถาบันการเงินระดับโลกอย่างโกลด์แมน แซคส์ และแบงชาติของไทยของไทย มีความเชื่อว่าฟินเทคคือทางเลือกในยุคนี้ โดยเฉพาะกับ SME
"ณัทสุดา" ทำงานในฝ่ายนโยบายการเงิน ตลาดการเงิน บริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 10 ปี ก่อนจะย้ายไปทำงานให้กับโกลด์แมน แซคส์ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกอีก 8 ปี ในตำแหน่ง Executive Director ดูแลลูกค้าสถาบันรายใหญ่ เช่น ธนาคารพาณิชย์ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และทำให้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME และที่สำคัญได้ปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
เมื่อได้รับการชักชวนจากบริษัท อินเวสทรี ประเทศอินโดนีเซีย ให้จัดตั้ง อินเวสทรี ประเทศไทย เธอจึงไม่รอช้า และได้ร่วมกับพันธมิตร วรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในสายงานธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจ และธุรกิจการประเมินความเสี่ยงด้านการเงิน เปิดตัว อินเวสทรี ประเทศไทย ในปี 2561 และได้รับอนุญาตให้บริการระบบ Funding Portal หรือ คราวด์ฟันดิง สำหรับ SMEs จาก ก.ล.ต. ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ภายในเวลา 3 ปี เติบโต 3 เท่าตัว
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อินเวสทรี ประเทศไทย เติบโต 3 เท่าตัว โดยปี 2564 มีมูลค่าระดมทุนอยู่ที่ 221 ล้านบาท ปี 2565 มูลค่าระดมทุน 766 ล้านบาท และไตรมาสแรกปี 2566 ยังเติบโต 3 เท่าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่าระดมทุน 299 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2565 ในประเทศไทยมีมูลค่าการระดมทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงให้ SMEs ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. มี 308 ราย มูลค่า 4,100 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปีนี้ มี SME ออกหุ้นกู้ 327 ราย มูลค่ากว่า 1,600 ล้านบาท โดยอินเวสทรีมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ 20% สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงในประเทศไทย
“สิ่งที่ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นกับเรา คือประสบการณ์ในธุรกิจกว่า 20 ปี การทำธุรกิจการเงินสิ่งสำคัญที่สุด คือ Trust” "ณัทสุดา" กล่าว
สำหรับหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ที่มีความเสี่ยงสูง ที่เทียบเคียงได้กับ Junk Bond แต่การที่อินเวนทรีได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าและนักลงทุน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่การันตีถึงความเชื่อมั่นที่ลูกค้าซึ่งเป็นนักลงทุนที่มีอยู่ประมาณ 610 ราย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่นักลงทุนได้รับอยู่ที่ 11.5% บริษัทกำหนดสัดส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 3% ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหนี้เสีย แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2 ราย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ด้วยแนวคิดในการทำธุรกิจที่ว่า “Everyone Can Grow” ที่อินเวสทรี เชื่อมั่นว่าทุก ๆ คนมีโอกาสเติบโต ดังนั้น ไม่ควรจะมีใครต้องล้มไปจากความตั้งใจในการทำธุรกิจเพียงเพราะขาดทุนหมุนเวียน หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการไปต่อ
“แนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ มองว่าน่ากลัวกว่าช่วงก่อนโควิด ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เกิดภาวะตึงตัว SME มีปัญหามากขึ้นในการเข้าถึงสินเชื่อ มีหลายเซกเตอร์ที่เริ่มมีปัญหา เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเรามองว่าเราเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มนี้”
อีกกลยุทธ์ที่สำคัญของอินเวนทรี คือการมีพันธมิตร โดยอินเวสทรีเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า SME ที่ออกหุ้นกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนมีโอกาสในอนาคต และล่าสุดได้ร่วมกับบริษัท ที โบรคเกอร์ จำกัด กลุ่มธุรกิจการเงินในเครือบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการระดมทุนคราวด์ฟันดิง เสริมสภาพคล่องและลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ เราต้องการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของอินเวสทรีและที โบรคเกอร์มีโอกาสเดินหน้าต่อยอดธุรกิจแม้ในภาวะสินเชื่อตึงตัว
แนวโน้ม SME ไทยฟื้นตัวเร่งหนุนสินเชื่อ
ณัทสุดา กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มธุรกิจ SMEs ช่วงครึ่งปีหลัง มีหลายธุรกิจกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่ชัดเจนจากนโยบายและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
“เรามุ่งมั่นที่จะเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกให้กับ SMEs ที่จดทะเบียนนิติบุคคล แต่เรายืนเดี่ยวไม่ได้ หากสภาพคล่องจากท่อน้ำใหญ่ เช่น ระบบธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง ในขณะที่ตลาดสินเชื่อและการขอออกหู้นกู้ SMEs มีดีมานด์สูงเช่นเดียวกันกับระดับความเสี่ยงด้านการเงินสูง เราเองก็ต้องคัดกรองผู้ออกหุ้นกู้ที่มีศักยภาพด้วยเช่นกัน”
ข้อมูลจากก.ล.ต. ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 เม.ย. 2566 มีการระดมทุนคราวด์ฟันดิ้ง จำนวน 429 บริษัท มูลค่ารวม 2,100 ล้านบาท มียอดสะสมรวมทั้งสิ้น 831 ราย มูลค่า 7,700 ล้านบาท โดยอินเวสทรีมีส่วนแบ่งตลาด 20% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งตลาด 16% โดยอัตราเฉลี่ยของผลตอบแทนการลงทุนที่ได้รับคือ 11.5% อินเวสทรียังคงมุ่งมั่นพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบสนองต่อนักลงทุน รวมถึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สำหรับการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ณัทสุดา กล่าวว่า ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นสำหรับหุ้นกู้ในภาพรวม แต่เชื่อว่าด้วยประสบการณ์การทำงานในแวดวงการเงินของทีมอินเวสทรีกว่า 20 ปี การวิเคราะห์ และกลั่นกรองลูกค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ถือเป็นจุดเด่นของทีมอินเวสทรี และทำให้ลูกค้าไว้วางใจมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่มีสินทรัพย์สูง (High Net Worth) ที่เริ่มให้ความไว้วางใจกับอินเวสทรีมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :