ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า ฟื้นตัวใกล้เคียงก่อนโควิด ทั้งภาคการผลิต การลงทุน อสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและที่พัก คาดรายได้เพิ่มร้อยละ 10-30 ด้าน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุรายเล็กยังน่าห่วงฟื้นตัวช้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า ดัชนีเชื่อมั่นภาคธุรกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 55.0 ปรับเพิ่มขึ้นทุกหมวดธุรกิจ ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด
ทั้งภาคการผลิตในกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์และกลุ่มผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านผลประกอบการ การผลิตและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนภาคที่ไม่ใช่การผลิต มีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในกลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มขนส่ง
ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม โดยอัตราเข้าพักในเดือนธันวาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63 ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว คาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักในเดือนมกราคม 2566 จะอยู่ที่ร้อยละ 60
โดยผู้ประกอบการตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 30 และคาดว่ารายได้จะกลับมาสู่ช่วงก่อนโควิดภายในไตรมาส 2 ของปี 2566 อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่น่ากังวลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
ธุรกิจรายเล็กฟื้นตัวช้า
Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดทำผลการศึกษาข้อมูลงบการเงินบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย กว่า 1.1 แสนราย พบว่า ภาพรวมของภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมากจากวิกฤตโควิดที่ผ่านมา
โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารและยังผลกระทบมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าสำหรับบริษัทขนาดเล็ก ทั้งความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงอย่างมากและยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางปรับตัวดีขึ้น โดยบริษัทขนาดใหญ่มีความสามารถในการทำกำไรกลับไปใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้ว
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กในภาพรวมยังน่าเป็นห่วง บริษัทขนาดเล็กในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบสูงสุด โดยเฉพาะโรงแรมขนาดเล็กมีความสามารถในการทำกำไรลดลงมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจทั้งหมด
สาเหตุหลักจากนักท่องเที่ยวมีความกังวลด้านสุขภาพค่อนข้างมาก และโรงแรมขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน SHA+ มีสัดส่วนน้อย อีกทั้งนักท่องเที่ยวที่เริ่มเดินทางเป็นกลุ่มแรกๆ ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง จึงทำให้อานิสงส์ตกไปอยู่กับโรงแรม 4-5 ดาว
เช่นเดียวกับบริษัทขนาดเล็กในกลุ่มร้านอาหารและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าบริษัทใหญ่ เนื่องจากการบริหารจัดการด้านต้นทุนที่เป็นรอง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบแรงและลึกกว่าจะมีความเปราะบางและฟื้นตัวได้ช้าเพื่อให้กลับมามีความสามารถในการทำกำไรในระดับก่อนการระบาด
แนวโน้มเศรษฐกิจเปราะบาง-ไม่ทั่วถึง
EIC คาดการณ์ว่า มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทยยังคงเปราะบางจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังมีสูงและไม่ทั่วถึง (Uneven) โดยมีความเสี่ยงจากทั้งต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นของอัตรดอกเบี้ย
ขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อธุรกิจที่พึ่งพาภาคการส่งออก รวมถึงความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกยังอยู่ในระดับสูงและผันผวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการควบคุมโควิดจะเป็นโอกาสที่ทำให้ภาคธุรกิจไทยฟื้นตัวได้ และมีความต้องการที่หยุดหรือชะลอก่อนหน้านี้ (Pent-up demand) โดยเฉพาะในกลุ่มกำลังซื้อสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการฟื้นตัว
โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มที่ตอบโจทย์การฟื้นตัวของการบริโภคหรือสอดรับกับเทรนด์โลกหรือเกี่ยวข้องกับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) และ เมกะเทรนด์ (Mega Trends) เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสังคมผู้สูงอายุ
“การฟื้นตัวของภาคธุรกิจเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป บริษัทขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบแรงและลึกกว่าจะยิ่งเปราะบางและฟื้นตัวได้ช้าเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและการเข้าถึงสินเชื่อ
รวมทั้งความช่วยเหลือพิเศษจากภาครัฐและการปรับตัวอย่างเหมาะสมมีความสำคัญอย่างมากต่อการประคองบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้” ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ระบุ
อ่านเพิ่มเติม: Trend Micro เผย ข้อมูลสำคัญต่อองค์กรก่อนก้าวสู่ระบบคลาวด์รับปี 2023
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine