เรากำลังย้อนกลับไปเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่อุตสาหกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการเติบโตทางดิจิทัลของไทยมีมูลค่าการเติบโตเทียบไม่ได้กับปัจจุบัน วรวีร์ ไม้ตราวัฒนา ที่เวลานั้น ท้าทายวิถีชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดี บอกลาชีวิตพนักงานในองค์กรข้ามชาติ ก่อตั้ง บริษัท เฟเวอร์ลี่ จำกัด
ด้วยความเชื่อมั่นว่าเทรนด์การเติบโตแห่งโลกดิจิทัลจะเป็นโอกาสทางธุรกิจของเขาและธุรกิจที่กำลังมองหาเครื่องมือทางการตลาดเพื่อควานหาโอกาสในอาณาเขตใหม่ๆ ทางธุรกิจ วรวีร์ เริ่มก่อตั้งธุรกิจด้วยเงินทุนหลักหมื่นบาท พร้อมๆ กับจ้างนักพัฒนาระบบ และก่อตั้ง บริษัท เฟเวอร์ลี่ จำกัด เมื่อปี 2556 มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาระบบ CRM (Customer Relationship Management) ที่ช่วยร้านค้าและธุรกิจสร้างความภักดีและผูกใจลูกค้าให้อยู่กับธุรกิจให้นานที่สุด โดยปัจจุบันไม่ว่าบริษัทขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างต้องมีฐานข้อมูลลูกค้าในมือ และการนำฐานลูกค้าที่องค์กรต่างๆ เก็บสะสมมาสร้างมูลค่าเพิ่มและความพึ่งพอใจเชื่อมผ่านเทคโนโลยีโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นหน้าที่และบริการที่ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ เฟเวอร์ลี่ ตั้งใจพัฒนาระบบสร้างส่วนลดรายการพิเศษ หรือสิทธิที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษผ่านแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับ CRM และ Loyalty Program ตั้งหลักพัฒนาเดโม หลังจากตัดสินใจรุกธุรกิจไปได้ระยะหนึ่ง วรวีร์ พบว่ายังมีช่องว่างทางธุรกิจและมีโอกาสในการเติบโตจึงดึงเพื่อนที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบที่เชื่อมต่อเข้ากับแอปพลิเคชันของสมาร์ทโฟนเข้ามาดูแล ซึ่งการสร้างธุรกิจเพียงกลุ่มคนไม่กี่คน ถือเป็นลงทุนและการตั้งต้นที่ดี โดยเฉพาะกับราคาสมาร์ทโฟนที่ยังมีราคาแพงและกลุ่มผู้ใช้งานยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่พวกเขาเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ราคาของสมาร์ทโฟนจะสามารถเข้าถึงกับกลุ่มคนทั่วไป ทำให้ในช่วงแรกเวลาส่วนใหญ่ของการก่อตั้งธุรกิจหมดไปกับการพัฒนาเดโมที่สามารถนำเสนอและปรับใช้กับโจทย์ที่หลากหลาย จนกระทั่งเริ่มเข้าไปนำเสนอในหลายๆ บริษัทและได้ลูกค้ากลับเข้ามาทำให้ทิศทางธุรกิจชัดเจนยิ่งขึ้น “องค์กรไม่ว่าจะรายเล็กหรือใหญ่ล้วนแล้วแต่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วแต่ระบบที่จะเชื่อมต่อกับลูกค้ายังไม่มี เรียกว่าในอดีตลูกค้ามาซื้อของในแต่ละครั้งจะไม่มีการเก็บข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการเอาไปต่อยอดเพื่อบริการลูกค้าค่อนข้างมาก ผมจึงมองเห็นช่องว่างทางธุรกิจตรงนี้” โดยกลุ่มลูกค้าของ เฟเวอร์ลี่ ปัจจุบันค่อนข้างกว้างและมีหลายรูปแบบ ถ้าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อยู่กับบริษัทมานานอาทิ TOYOTA ลูกค้ารายต้นๆ ที่ทำงานตั้งแต่ร่วมกันตั้งแต่พัฒนา CRM ในระบบการส่งข้อความแบบ SMS และต่อเนื่องไปสู่ Mobile Application ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับ TOYOTA CONNECTED ซึ่งช่วงเวลานั้นยังใช้ชื่อ Digital Marketing Asia Pacific ทำงานต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน “เราได้รับโอกาสให้เราเข้าไปนำเสนอกับทีมผู้บริหารและเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วบริษัทที่ทำตรงนี้มีอยู่แค่ไม่กี่ราย และเมื่อได้โอกาสเราก็ขยายบริการต่อเนื่องมาเรื่อยๆ” สำหรับฐานลูกค้าในปัจจุบันของเฟเวอร์ลี่ ไล่เรียงมาตั้งแต่ธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจต่างชาติที่มีสำนักงานในประเทศไทย ทั้งในส่วนของ Reward Program และ Loyalty Program อาทิ Samsung, DHL, เชลล์ ประเทศไทย, McDonald หรือ Big C ที่เฟเวอร์ลี่ช่วยดูแลในเรื่องของ Big Card และรวมไปถึงบริษัทประกันอีกหลายแห่ง อาทิ FWD เรื่อง Reward Program ต่างๆ ระบบที่ วรวีร์ พัฒนาเพื่อตอบโจทย์การทำ CRM ในวันนี้ เติบโตขึ้นมากกว่าแค่การให้ Privilege แต่ยังต่อเนื่องไปถึงการแบ่งระดับขั้นของลูกค้า ลูกค้าที่ใช้จ่ายเยอะควรได้รับสิ่งใด ลูกค้าที่มาใช้บริการบ่อยแต่ใช้จ่ายไม่เยอะถืออยู่ในกลุ่มที่มีความภักดีต่อแบรนด์สูง ควรได้รับอะไร การทำ Segmentation จะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ลงลึกมากกว่าแค่เพศ อายุ แต่ยังไปถึงเรื่องพฤติกรรมและความชอบ โดยระบบจะช่วยองค์กรในการจัดสิ่งต่างๆ ให้เหมาะสมกับลูกค้า รวมถึงเรื่องของ Personalization ไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคล ช่วยให้องค์กรคิด Promotion หรือทำ Marketing ได้เหมาะสม ภายใต้การรักษาข้อมูลของลูกค้าแต่ละบุคคลอย่างเคร่งครัด “ในอดีตเวลาเปิดแอปพลิเคชันจะเห็นสิ่งเดียวกันแต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้วลูกค้าจะได้เห็นในสิ่งที่แอปฯ อยากให้เห็น และสิ่งที่เห็นก็จะตรงกับความชอบหรือไลฟ์สไตล์ นี่แหละคือเรื่องของเทคโนโลยีที่เราจะเข้าไปช่วยองค์กรให้ลูกค้า” จับมือพันธมิตรตั้งเป้า “One Stop Service” การทำธุรกิจมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้ เฟเวอร์ลี่ มีพาร์ตเนอร์และบริษัทที่เรารู้จักค่อนข้างมาก นอกจากระบบ CRM แล้ว ยังมีส่วนเข้าไปช่วยเหลือด้าน Privilege การมอบส่วนลดพิเศษ หรือได้เมนูพิเศษ รวมถึงคำแนะนำด้านอื่นๆ จากทีมงาน ซึ่งการร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรต่างๆ ทำให้เห็นว่าหลายธุรกิจต่างให้ความสำคัญกับการตลาดผ่านโลกออนไลน์ หรือ e-commerce โดยหนึ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์สำคัญที่เป็นประตูสู่ประเทศที่มีจำนวนประชากรอันดับหนึ่งของโลกคือแพลตฟอร์มของ Alibaba วรวีร์ จึงนำบริษัทเข้ากระบวนการตรวจสอบจาก Alibaba และได้รับการคัดเลือกให้เป็น Authorized Global Partner และล่าสุดปี 2563 ได้รับคัดเลือกเป็น Authorized Service Partner โดยความแตกต่างระหว่างการจะเป็น Authorized Global Partner และ Authorized Service Partner ของ Alibaba ต่างตรงที่ Authorized Global Partner สามารถให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ Alibaba ได้เพียงอย่างเดียวในขณะที่ Authorized Service Partner จะให้บริการเกี่ยวกับ Alibaba.com สามารถเข้าไปช่วยลูกค้าทำมินิไซต์ภายใน Alibaba.com ได้อย่างถูกต้องและตรงหลักเกณฑ์ “friendly User” หลักเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าภายใน Alibaba.com ของผู้บริโภค และยังเป็นหลักเกณฑ์ในการช่วยการขายมีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันกับคู่ค้าจากประเทศอื่นๆ รวมถึงเทคนิคความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเจาะตลาดออนไลน์ของจีน ตั้งแต่กฎระเบียบด้านธนาคาร การประกัน การขนส่ง เพราะปัญหาที่พบจากลูกค้าส่วนใหญ่ที่ต้องการส่งออก คือไม่รู้จะเริ่มต้นที่จุดไหนและต้องการคำแนะนำถึงแผนธุรกิจ ยิ่งจากการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจ e-commerce เติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งความเร็วถือเป็นปัจจัยสำหรับการแข่งขันในยุคปัจจุบัน “เรื่องอี-คอมเมิร์ซไม่ใช่คิดว่าอยากทำแล้วลงมือได้เลย มันต้องมีขั้นตอน บริษัทไหนที่จะลุยอี-คอมเมิร์ซ ให้ได้ผลต้องเอาดาต้ามาวิเคราะห์ ต้องลงลึกในรายละเอียด ดาต้าจาก CRM เป็นเพียงส่วนหนึ่งก็จริงแต่ถ้าไม่นำมาใช้เท่ากับเสียประโยชน์อย่างชัดเจน” ปัจจุบันสัดส่วนบริการหลักและสัดส่วนรายได้ของเฟเวอร์ลี่ แบ่งเป็นสองส่วนหลัก โดยรายได้หลักยังคงมาจากการบริการด้าน CRM Privilege ขณะที่ บริการใหม่ด้านอี-คอมเมิร์ซ เติบโตขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าเมื่อปี 2562 เฟเวอร์ลี่ มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 49.3 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 91.8 ล้านบาท ขณะที่กำไรอยู่ที่ 5.7 ล้านบาท ทั้งนี้ วรวีร์ คาดการณ์ไว้ว่าโควิด-19 อาจจะเข้ามากระทบด้านรายได้เนื่องจากลูกค้ากลุ่มองค์กรอาจจะลดงบประมาณลดลงบ้างตามสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ นอกจาก Alibaba แล้วเฟเวอร์ลี่ ยังได้จับมือกับ Edenred บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสโดดเด่นในเรื่องการบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ของพนักงานที่ต้องการขยายฐานธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย โดยตั้งเป้าร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และทำการตลาดรวมกันในเรื่องของบริหารจัดการ จัดการสิทธิประโยชน์ของพนักงาน เพื่อเสริมความพึงพอใจ และแรงจูงใจให้กับพนักงานในบริษัท นอกจากนี้เขายังจับมือ เตี่ยนผิง แอปพลิเคชันรีวิวอันดับหนึ่งในจีน เกือบ 10 ปี ธุรกิจ วรวีร์ได้สร้างเฟเวอร์ลี่ด้วยการผสมผสานหลักการทำงานของการเป็นสตาร์ทอัพและเอเจนซี่เข้าด้วยกัน เพื่อการสร้างแนวคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการใหม่ๆ โดยตั้งเป้าเป็น “One Stop Service” ที่พร้อมด้วยบริการด้านดาต้า มาร์เก็ตติ้ง และการวางแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและเป็นส่วนสำคัญในการพาลูกค้าเดินหน้าสู่โลกการค้าออนไลน์ โดยมีเป้าหมายใหญ่ในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยในอนาคต “ผมทำธุรกิจโดยอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจอยากให้ลูกค้าประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จของเขาก็เหมือนความสำเร็จของเรา” วรวีร์ ไม้ตราวัฒนา กล่าวปิดท้าย ภาพ: กิตติเดช เจริญพร Forbes Fact: -วรวีร์ ตั้งใจนำ “Feyver” ชื่อเดโมแรกมาเป็นชื่อบริษัทแต่ไม่สามารถจึงมาเลือกใช้ เฟเวอร์ลี่ -หากไม่ติดนัดประชุม เขามักจะเข้ามาทำงานในช่วงบ่ายและนั่งทำงานไปจนเวลาค่ำ -ห้องทำงานของเขาเรียบง่ายไม่มีตู้เอกสารหรือการตกแต่งใดๆ จะมีเพียงเครื่องเสียง B&O SPEAKER BEOSOUND หนึ่งในลูกค้าของบริษัท อ่านเพิ่มเติม: ณีรนุช ไตรจักร์วนิช ผู้ปลุกปั้น “มาคาเลียส” โตสวนโควิดไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine