พิศาล รัชกิจประการ แห่ง AMA โลดแล่นนาวาพันล้าน - Forbes Thailand

พิศาล รัชกิจประการ แห่ง AMA โลดแล่นนาวาพันล้าน

AMA ฝ่าคลื่นธุรกิจเดินเรือภูมิภาคตอบโจทย์ลูกค้าผู้ผลิตน้ำมันปาล์มระดับโลก พิศาล รัชกิจประการ กัปตันผู้ขับเคลื่อนนาวามุ่งมั่นสร้างการเติบโตมากกว่า 25% ต่อปีและทำรายได้กว่า 1 พันล้านบาทในปีนี้

โอกาสทางธุรกิจที่เล็งเห็นจากการแตกยอดกิจการค้าน้ำมันของครอบครัวภายใต้บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด (ปัจจุบันคือ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG) ซึ่งต้องการใช้เรือขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ พิพัฒน์ รัชกิจประการ ญาติผู้พี่ของ พิศาล ซึ่งเป็นประธานกรรมการของ AMA ในปัจจุบัน ก่อตั้งธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือและทางรถ ทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้น ภายใต้ชื่อ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA ในปี 2539 ทดแทนจากที่เคยใช้บริการขนส่งน้ำมันของบริษัทอื่น
พิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บมจ. อาม่า มารีน หรือ AMA
พิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บมจ. อาม่า มารีน ในวัย 48 ปี เล่าความเป็นมาของการเข้าร่วมงานที่ต้องผ่านการพิสูจน์ฝีมือจนกระทั่งได้รับตำแหน่งปัจจุบันว่า เขาต้องใช้ความรู้สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ระดับปริญญาตรี-โทจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบกับความเชี่ยวชาญที่เคยเก็บเกี่ยวจากการทำงานในธุรกิจเดินเรือ บริษัท วี เอส พี มารีน จำกัด และธุรกิจอื่นๆ ของครอบครัว จึงได้รับคำชวนจาก พิพัฒน์ ให้มาทำงานที่ AMA เพราะแม้จะเป็นทายาท แต่ครอบครัวรัชกิจประการจะมอบหมายหน้าที่ให้ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น “คุณพิพัฒน์ไม่เคยวางให้น้องของตัวเองขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ขององค์กร น้องๆ ทุกคนต้องพิสูจน์ตัวเอง แม้แต่ตัวผมเองถ้าทำไม่ได้วันหนึ่งก็ต้องไป หรืออาจจะไปเร็วกว่าลูกจ้างคนอื่นด้วย” พิศาลกล่าว ล่องสู่น่านน้ำใหม่ นับจากที่ครอบครัวเห็นธุรกิจเดินเรือเป็นเส้นทางต่อยอดความมั่งคั่ง ช่วง 5 ปีแรก AMA ให้บริการเฉพาะการขนส่งภายในประเทศและเน้นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก กระทั่งขยายกองเรือเพิ่มเมื่อปี 2544 จึงเริ่มออกให้บริการยังต่างประเทศมากขึ้น สุดท้ายจึงทำให้รายได้มาจากต่างประเทศทั้งหมด 100% ตั้งแต่ปี 2548
บรรยากาศการทำงานภายในเรือของ AMA
อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มให้บริการขนส่งด้วยรถบรรทุกในปี 2557 ผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท เอ เอ็ม เอ โลจิสติกส์ จำกัด (AMAL) ทำให้อัตราส่วนรายได้รวมของ AMA ปรับเปลี่ยนเป็นจากธุรกิจขนส่งทางเรือราว 70% และรถบรรทุกที่ 30% ในปัจจุบัน สำหรับผลประกอบการงวดสิ้นปี 2559 มีรายได้รวม 965.5 ล้านบาทและคาดว่าจะทำรายได้เกินกว่า 1 พันล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ทะลุ 1 หมื่นล้านบาทแล้วตั้งแต่เมื่อปลายปีก่อน พิศาลกล่าวว่าการขนส่งต่างประเทศมีข้อดีกว่าในประเทศจากอัตรากำไรขั้นต้นที่สูง และระยะการชำระเงินสั้นเพียง 3 วัน เทียบกับในประเทศที่ต้องให้เครดิต 30 วัน กระนั้น การออกแสวงหาโอกาสในต่างประเทศก็ไม่ง่าย เพราะในช่วงเริ่มต้นลูกค้ายังไม่รู้จักชื่อเสียงของ AMA และมีทุนจดทะเบียนน้อย มีกองเรือเพียง 3-4 ลำ จึงต้องใช้เวลาสร้างความมั่นใจกับลูกค้าผ่านทางโบรกเกอร์ในมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่นานจนได้งานแรกที่ให้บริการขนส่งน้ำมันพืชจากมาเลเซียไปเมียนมา โดยใช้เวลาพิสูจน์ศักยภาพอยู่กว่า 4 ปีจึงจะเริ่มดีขึ้นในปี 2548 จุดเปลี่ยนสำคัญของ AMA เริ่มจากเมื่อปี 2543 ที่เห็นสัญญาณบอกเหตุว่า PTG ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก จะหันไปขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางบกโดยรถ 100% พิศาลจึงตัดสินใจหันไปจับตลาดขนส่งน้ำมันพืชที่มีปริมาณการขนส่งมากทดแทน เพราะต้องดิ้นรนอยู่ในธุรกิจนี้ให้ได้ ไม่เพียงเท่านั้น พิศาลยังมองการณ์ไกลตัดสินใจเลือกลงทุน เรือที่มีเปลือกเรือสองชั้นหรือ double hull เมื่อปี 2549 จากเดิมที่เรือทั้งหมดของบริษัทเป็นแบบเปลือกเรือชั้นเดียวหรือ single hull แม้ว่าในตอนนั้นทุกประเทศจะไม่ได้ดำเนินตามกฎที่เรือขนส่งสารเคมีต้องเป็นแบบ double hull ซึ่งทำให้ AMA ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่คู่แข่งรายอื่นยังไม่พร้อมเมื่อกฎเกณฑ์ถูกบังคับใช้
เรือเมซอนร์ท่ามกลางน่านน้ำ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสูงสุดอยู่ที่การเป็นที่ยอมรับของลูกค้าระดับโลก ซึ่งในมุมมองของพิศาล ประกอบด้วย ตัวชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ ขนส่งตรงเวลา ไม่มีสิ่งเจือปน และปริมาณสินค้าครบตามกำหนดเช่นเดียวกับที่ต้องสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าของลูกค้า หรือผู้รับซื้อน้ำมันด้วย เนื่องจากเป็นฝ่ายให้ความเห็นที่ส่งผลกับการตัดสินใจใช้บริการของลูกค้าที่เป็นผู้เช่าเรือด้วย วิสัยทัศน์เหล่านี้ทำให้  AMA ขึ้นแท่นเป็นกองเรือขนส่งน้ำมันพืชที่ใหญ่ที่สุดในไทยและเป็นที่ 2 ในอาเซียน โกยรายได้โต 25% ต่อปี เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา AMA ได้ระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกให้แก่ประชาชน (ไอพีโอ) จำนวน 108 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 23.63% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ราคา 9.99 บาท/หุ้น คิดเป็นเม็ดเงินระดมทุนได้ 1.1 พันล้านบาท เพื่อเป็นพลังสร้างรายได้เติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปีขึ้นไป “ที่ผ่านมาเราก็ทำได้มาโดยตลอด แต่เชื่อว่าจากปีนี้เทียบกับปีที่ผ่านมาน่าจะทำได้มากกว่า 25% เรายังมีช่องทางเติบโตได้อีกมาก และที่สำคัญคือในช่วงไม่เกิน 5 ปีนี้ เราต้องการให้ทั่วภูมิภาคเอเชียรู้จักเรือ AMA” สำหรับกลยุทธ์บริษัท ได้แก่ การขยายเส้นทางขนส่งและฐานลูกค้าไปยังเส้นทางใหม่ มุ่งไปยังน่านน้ำแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ โดยในปีที่ผ่านมาสร้างรายได้จากเส้นทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ราว 85% ของรายได้ทั้งหมด แต่หลังจากขยายเส้นทางใหม่คาดว่า ต่อไปจะเป็นรายได้จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 50% และเส้นทางอื่นๆ ของเอเชียอีก 50% พร้อมกับเพิ่มช่องทางในการขนส่งผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ยางมะตอย น้ำมันเชื้อเพลิง กากน้ำตาลและสารเคมีที่มีความอันตรายไม่สูง ขณะเดียวกัน บริษัทยังขยายศักยภาพด้วยการขยายกองเรือ/กองรถบรรทุก เตรียมขยายกองเรือเพิ่มอีก 2 ลำภายในปี 2560 จาก ณ สิ้นไตรมาส 3/59 มีทั้งหมด 8 ลำ ขนาดบรรทุกทั้งหมด 46,661 เดทเวทตัน (DWT) เมื่อเพิ่มจำนวนเรือแล้วจะเพิ่มขนาดบรรทุกอีกเกือบเท่าตัวนั่นคือราว 37,000 - 41,000 DWT และขยายกองรถจำนวน 80-100 คัน จาก ณ สิ้นไตรมาส 3/59 มีรถบรรทุกสินค้าเหลว (liquid tank truck) 80 คัน ปริมาณบรรทุกรวม 3.6 ล้านลิตร เมื่อขยายกองรถแล้วจะทำให้บรรทุกเพิ่มได้อีกประมาณ 3.6-4.5 ล้านลิตร ทั้งนี้ อัตราส่วนรายได้จะยังคงมาจากฝั่งธุรกิจขนส่งทางเรือ 65-70% และขนส่งทางรถบรรทุกที่ 30-35% “การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากการนำเงินมาลงทุนขยายธุรกิจ เรามองว่ายังสามารถเสริมภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขององค์กรว่า เราสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นมาตรฐาน ไม่ได้ทำงานแบบกงสีหรือเป็นธุรกิจครอบครัว” ท้ายที่สุด พิศาลยังยืนยันในเป้าหมายเดิมที่จะมุ่งปั้นรายได้ให้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเข้าซื้อกิจการจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทะยานให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "พิศาล รัชกิจประการ แห่ง AMA โลดแล่นนาวาพันล้าน" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560