ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล พลิกวิกฤตลงเสาเข็มไพลอน - Forbes Thailand

ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล พลิกวิกฤตลงเสาเข็มไพลอน

ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล ลูกเถ้าแก่ร้านขายยาเมืองย่าโมที่เบนเข็มเส้นทางจากอาจารย์มหาวิทยาลัย สู่เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานเสาเข็ม ด้วยความมุ่งมั่นวางรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งรับโอกาสเมกะโปรเจกต์ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีปูทางการขยายอาณาจักรพันล้านในต่างประเทศ

รถเครนจอดทิ้งในบริษัทปิดกิจการที่ชั่งน้ำหนักขายไม่ต่างจากราคาของเศษเหล็กกิโลกรัมละ 5 บาทในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ กลายเป็นโอกาสที่ไม่อาจปฏิเสธได้สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโครงสร้างที่ต้องเปลี่ยนแผนชีวิตจากความตั้งใจเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สู่ความท้าทายในฐานะเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานราก (เสาเข็มเจาะ) โดยใช้เวลาเพียง 3 ปี ดร.ชเนศวร์ ก็สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และติดอันดับ Asia’s 200 Best Under a Billion ในปี 2557 และในปี 2561

คุณพ่อคุณแม่จบ .4 เปิดร้านขายยาและอยากให้ลูกเป็นหมอหรือเภสัชกรเพื่อสืบทอดกิจการของครอบครัว แต่เรารู้สึกว่าชีวิตหมอไม่เหมาะกับเรา จึงเลือกเรียนวิศวะ ซึ่งเราเริ่มธุรกิจในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ครอบครัวของภรรยาเป็นผู้รับเหมากำลังจะปิดบริษัท เขามีคนงานชุดสุดท้าย 20 กว่าคน และแนะนำให้เราทำธุรกิจเสาเข็ม เพราะมีเครื่องมือเครื่องจักรอยู่กับสถาบันการเงินจำนวนมาก และตอนนั้นเครนราคาเท่าน้ำหนักเศษเหล็ก เราจึงลองไปคุยกับธนาคาร โดยไม่ได้รบกวนเงินจากคุณพ่อ (วงศ์ชัย) ถ้าจะเจ๊งก็ให้เจ๊งที่เราคนเดียวดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจในช่วงเรียนปริญญาเอกเมื่อปี 2545

 

ขี่หลังเสือในสมรภูมิก่อสร้าง

จากเงินเก็บส่วนตัวราว 3 ล้านบาท และการเจรจาสร้างความเชื่อมั่นกับสถาบันการเงินจนได้รับเงินลงทุนก้อนแรก โดยเริ่มต้นโครงการงานปรับปรุงคุณภาพดินด้วยวิธีอัดฉีดซีเมนต์แรงดันสูงในโครงการตามพระราชดำริก่อสร้างประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำเพื่อกักน้ำจืดในลุ่มน้ำปากพนัง .นครศรีธรรมราช จากบริษัท ซิโน-ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้ความไว้วางใจว่าจ้างบริษัทเป็นผู้รับเหมาช่วงงานเสาเข็มเจาะหลายโครงการต่อมา ส่งผลให้บริษัทเป็นที่รู้จักในวงการก่อสร้างอย่างแพร่หลาย และได้ก่อสร้างงานเสาเข็มเจาะให้ลูกค้าอื่นๆ ในอีกหลายโครงการ

เงินที่กู้จากธนาคาร 10 กว่าล้านบาทเหมือนขี่หลังเสือ หลังจากเป็นหนี้และธุรกิจเริ่มไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เพราะเราไม่เคยมีประวัติ ไม่มีลูกค้า พ่อตาพาไปพบผู้ใหญ่ที่ผมถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณกับผมคือ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หรือซิโน-ไทยในปัจจุบัน เราก็ได้รับงานมาทำ ช่วงนั้นครอบครัวก็เริ่มเข้ามาสนับสนุน เพราะคุณพ่อเห็นว่าสิ่งที่ผมทำอยู่สามารถเดินไปข้างหน้าได้

ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล

ขณะเดียวกัน ดร.ชเนศวร์ ยังเล็งเห็นโอกาส เริ่มต้นรับงานก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรม (diaphragm wall) ในปี 2547 โดยร่วมมือกับบริษัทฝรั่งเศสชื่อ Soletanche Bachy ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญงานรากฐานระดับนานาชาติ โดยเป็นที่ปรึกษาและส่งผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาควบคุมงานในโครงการโรงบำบัดน้ำเสียสำแล .ปทุมธานี

นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับงานในโครงการสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้รับเหมางานเสาเข็มเจาะที่มีสัดส่วนงานมากที่สุดในโครงการ Airport Rail Link ราว 40-50% และยังได้รับงานก่อสร้างเสาเข็มเจาะให้โครงการที่ทำการศาลปกครองของศูนย์ราชการแห่งใหม่บนถนนแจ้งวัฒนะ และอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ของสนามบินเชียงใหม่

รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างเสาเข็มเจาะโครงการอาคารเรียนของ มศว.ประสานมิตร โรงงานของ บมจ.โอเลฟินส์ .ระยอง งานก่อสร้างหอพักนักศึกษาด้วยวิธีก่อสร้างแบบหล่อสำเร็จและยกติดตั้ง (pre-fabrication) ในโครงการตักสิลานคร .มหาสารคาม ก่อนจะนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้สำเร็จในปี 2548 และย้ายมาเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2558

ไพลอนได้รับความไว้วางใจจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เช่น งานเสาเข็มโครงการ Life Ladprao Valley คอนโดฯ high rise จาก AP Thailand

หลังจากไพลอนได้รับการติดอาวุธในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดร.ชเนศวร์ พร้อมเดินเครื่องธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างเต็มกำลังโดยเฉพาะด้านงานเสาเข็มเจาะแบบกลม งานเสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยม หรือการก่อสร้างกำแพงกันดินชนิดไดอะแฟรม และงานปรับปรุงคุณภาพดินโดยวิธีอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐและภาคเอกชนตลอดระยะทางที่ผ่านมา

เราพยายามทำหลายด้านตั้งแต่เปิดบริษัท แต่พบว่าธุรกิจเสาเข็มเป็นธุรกิจที่พึ่งพาได้มากที่สุด และสามารถสร้างรายได้มากกว่า 80% ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตกำแพงกันดินไดอะแฟรมน่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ที่สัดส่วน 20-25% ในปีนี้ (พ.ศ. 2562) และรายได้ของเราใน 5 ปีข้างหน้าน่าจะมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตกำแพงกันดินไดอะแฟรม ซึ่งในระยะยาวเรามองว่าพอร์ตของเสาเข็มและกำแพงกันดินไดอะแฟรมจะอยู่ที่ 50:50 ตามเทรนด์การก่อสร้างที่จะลงใต้ดินลึกขึ้น และพื้นที่จำกัด เพราะการรับน้ำหนักที่เท่ากัน ถ้ารูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวจะประหยัดพื้นที่กว่าหรือพื้นที่เท่ากันสามารถใส่เสาเข็มและรับน้ำหนักได้มากกว่า

นอกจากนี้ บริษัทยังมีงานปรับปรุงคุณภาพดิน (ground improvement) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับโครงสร้างของดินเดิมทำให้ดินมีกำลังรับน้ำหนักมากขึ้นและป้องกันการเคลื่อนตัวของดิน โดยบริษัทจะใช้วิธีการอัดฉีดซีเมนต์ด้วยแรงดันสูง (jet grouting) ที่ความดันประมาณ 200-400 บาร์

 

ย้ำน้ำหนักสร้างฐานธุรกิจแกร่ง

บนความมุ่งมั่นสร้างรากฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ไพลอนสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่ระดับพันล้าน ด้วยรายได้จำนวน 1.44 พันล้านบาทในปี 2561 จากโครงการภาคเอกชน 87% และโครงการภาครัฐ 13% โดยมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 721.15 ล้านบาทในปีก่อนหน้าหรือเพิ่มขึ้น 100.75% จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้าง พร้อมทั้งยังมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (backlog) ประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งน่าจะทยอยดำเนินการส่งมอบและรับรู้รายได้ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2563

สำหรับงานภาครัฐที่สำคัญในปีที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และโครงการภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ โครงการโรงพยาบาลวิมุต โครงการเดอะไพรเวซี่พระราม 9 ของกลุ่ม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท โครงการ One 9 Five ของ บจ.เทียนเฉิน อินเตอร์เนชั่นแนล พร็อพ เพอร์ตี้ (ไทยแลนด์) โครงการเซ็นทรัลพลาซ่าชลบุรีของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา เป็นต้น

อันดับแรกเราเน้นที่คุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งเป็น motto ขององค์กร คือ เราจะส่งมอบงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพให้ลูกค้า รวมถึงการส่งมอบงานตามกำหนด โดยทำให้ต้นทุนของเราสามารถลดลงได้ ซึ่งผมคิดว่าที่ผ่านมาในช่วงหลายปีกว่าเราได้พิสูจน์แล้วว่า ไพลอนน่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่มี gross profit margin หรือบริหารจัดการต้นทุนได้ดีที่สุด พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรและเสริมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น

ดร.ชเนศวร์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยี ด้วยการออกแบบแอปพลิเคชัน Pylon Pile สำหรับใช้ในกระบวนการก่อสร้างเสาเข็ม โดยรวบรวมทุกขั้นตอนเข้ามาในระบบนับตั้งแต่วิศวกรรมหน้างานจนถึงระบบหลังบ้านทั้งหมด ซึ่งสามารถเรียกดูข้อมูลและตรวจสอบการทำงานได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลไปยังแผนกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เพื่อลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด และสามารถควบคุมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้น ดร.ชเนศวร์ ยังวางเป้าหมายต่อยอดแอปพลิเคชัน Pylon Pile สำหรับลูกค้าของบริษัทสามารถออนไลน์ติดตามกระบวนการทำงาน และเข้าถึงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องได้แบบเรียลไทม์ เพื่อความชัดเจนโปร่งใสในการทำงาน คาดว่าน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2563

  อ่านเพิ่มเติม   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine