จากยุคเสื่อผืนหมอนใบในรุ่นปู่ สู่ผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์ในรุ่นพ่อก่อนส่งไม้ต่อให้ ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา พาองค์กรทะยานไปข้างหน้าพร้อมมุ่งหมายรายได้หลักพันล้านบาทในปีนี้ โดยมีดีลเด่นอย่างการซื้อกิจการในมาเลเซียเป็นแรงหนุน
อาณาบริเวณกว่า 80 ไร่ บน ถ.หนองซาก-พนัสนิคม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี คือขุมกำลังสำคัญของ บริษัท เอ็น. ดี. รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR บริษัทผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์แบรนด์ ND Rubber และผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้รถจักรยานยนต์ยามาฮ่าและซูซูกิ ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตทั้งสองรูปแบบแบ่งเป็นยางนอกราว 200,000 เส้นต่อเดือน และยางในราว 450,000 เส้นต่อเดือน ปัจจัยดังกล่าวส่งให้ NDR เป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญของตลาดยางรถจักรยานยนต์เมืองไทยและเป็นผู้เล่นที่มีเส้นทางยาวไกลในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา วัย 45 ปี นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ กำหนดทิศทางและวางกลยุทธ์เพื่อให้ NDR โลดแล่นไปบนเส้นทางสายธุรกิจอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง โอกาสในความมุ่งมั่น เจริญผู้เป็นปู่ของชัยสิทธิ์เดินทางรอนแรมฝ่าคลื่นลมแรงแห่งท้องทะเลจากประเทศจีน เริ่มจากการเป็นเด็กร้านยางรถยนต์แถววงเวียน 22 กรกฎาคม โดยมีลูกชายคือประเสริฐช่วยอีกแรงทั้งการฉายหนังกลางแปลง ขายไอศกรีม และขายเรียงเบอร์ เมื่อพอมีทุนรอนตั้งตัว เจริญก็เปิดร้านขายยางรถยนต์ในย่านเดิม ซึ่งช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ประเสริฐได้รู้จักกับผู้บริหารรถยนต์อีซูซุที่นำรถไปวิ่งให้บริการเป็นรถเมล์กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทำให้ได้เข้าไปช่วยดูแลยางรถยนต์ให้รถเมล์อีซูซุ แล้วขยายไปช่วยดูแลยางรถยนต์ให้รถเมล์ฮีโน่ด้วยอีกรายหนึ่ง ก่อนที่ต่อมาจะไปรู้จักกับนักธุรกิจที่ทำแบตเตอรี่ 3K นำสู่การตั้งโรงงานผลิตเปลือกแบตเตอรี่ในปี 2533 ภายใต้ บริษัท ตั้งศิริมงคลขึ้นอุตสาหกรรม จำกัด ผลิตเปลือกแบตเตอรี่ป้อนให้แบรนด์ดังกล่าว ทว่าเมื่อทำไปได้ราว 2 ปี ทิศทางของเปลือกแบตเตอรี่ก็เปลี่ยนจากการใช้ยางไปเป็นพลาสติก ประเสริฐไม่ยอมจำนนกับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ เขามองหาลู่ทางอื่นและเห็นว่าในราวปี 2535 เป็นยุคที่รถจักรยานยนต์ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทจากตั้งศิริมงคลขึ้นอุตสาหกรรม เป็น บริษัท เอ็น. ดี. รับเบอร์ จำกัด (แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2557 และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2558) เพื่อเจาะธุรกิจยางรถจักรยานยนต์ แล้วก่อตั้งโรงงานผลิตขึ้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ NDR เริ่มผลิตยางในของรถจักรยานยนต์เป็นอย่างแรกภายใต้แบรนด์ ND Rubber จากนั้นปี 2539 ประเสริฐก็สร้างโรงงานเพื่อผลิตยางนอกรถจักรยานยนต์ขึ้นที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และสร้างเสร็จพร้อมดำเนินการผลิตในปี 2540 ปั้นฐานพลังซื้อ ปลายปี 2538 ประเสริฐประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน ชัยสิทธิ์ซึ่งเป็นลูกคนกลางในจำนวน 3 คน จึงต้องเข้ามารับช่วงต่อกิจการผลิตยางรถจักรยานยนต์ทันทีในปี 2539 หลังจบปริญญาตรีสาขาการเงินและธนาคารจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์หรือชั้นเชิงเรื่องโรงงาน เครื่องจักร การผลิต ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาคุมคุณภาพสินค้าไม่อยู่กำลังซื้อในประเทศก็หดหายจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลให้ยางรถจักรยานยนต์แบรนด์ ND Rubber ไม่สามารถสร้างฐานลูกค้าได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ NDR จึงท้าชนยางรถจักรยานยนต์ของคู่แข่งในตลาดด้วยกลยุทธ์ “ราคา” ที่วางให้ต่ำกว่าแบรนด์อื่น 10-15% จากนั้นปี 2546 จังหวะแจ้งเกิดของ ND Rubber มาถึงจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นยางนอกชนิดมีสีอย่างสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน “ต้องบอกว่ายางสีของบริษัทประสบความสำเร็จพอสมควรในแง่ที่ทำให้คนรู้จักมากขึ้นและทำให้ยอดขายเยอะขึ้น และยังทำให้เราได้ลูกค้าจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่เดินทางมาอัพเดทว่าเมืองไทยมีของตกแต่งอะไรออกใหม่บ้าง พอเห็นยางสีก็สนใจและสั่งซื้อขาย แต่เราผลิตได้ประมาณ 2 ปีก็เลิกไปเพราะต้องดูตามกระแสความนิยม” ปี 2553 NDR ยังแสวงหาการเติบโตด้วยการรับจ้างผลิตยางรถจักรยานยนต์ในรูปแบบเฮาส์แบรนด์ในชื่อ Y-TEQ ให้ บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ส่วนปี 2558 ก็เริ่มเป็นผู้ผลิตยางรถจักรยานยนต์ให้บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิ และยังรับจ้างผลิตป้อนตลาดต่างประเทศอีกด้วย “เรามีสินค้ารวมทั้งหมดกว่า 500 SKUs ซึ่งถ้านับปริมาณการผลิตแล้ว แบรนด์ ND Rubber กับการรับจ้างผลิตมีสัดส่วนเท่ากันโดยประมาณที่ 50:50” ผู้บริหาร NDR เล่า บุกมาเลเซียคว้าดีลเด่น จากการ ทำยางสีจำหน่ายในปี 2546 ก็เป็นเสมือนประตูที่เปิดให้ลูกค้าจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เข้ามาทำความรู้จักและสั่งซื้อสินค้าเข้าไปจำหน่ายมากขึ้น ปัจจุบัน NDR ส่งยางรถจักรยานยนต์ทั้งยางนอกและยางในแบรนด์ ND Rubber ไปกว่า 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาใต้ ตลาดที่มีศักยภาพ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย ที่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะจำนวนมากและมีกระแสตอบรับสินค้าของแบรนด์ในระดับดี และยังผลิตยางให้กับ CEAT ธุรกิจยางรถยนต์อันดับต้นๆ ของอินเดีย ปี 2548 NDR ยังรับจ้างผลิตยางรถจักรยานยนต์ให้ Fung Keong Rubber Manufactory (Malaya) Sdn. Bhd. หรือ FKRMM บริษัทที่ดำเนินธุรกิจยางรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศมาเลเซียโดยผลิตให้ภายใต้แบรนด์ FKR ทำให้ NDR มีฐานการผลิตค่อนข้างสม่ำเสมอและมีรายได้จากการผลิตแบรนด์ FKR คิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมด หรือคิดเป็น 80% ของรายได้จากการส่งออกรายได้ที่อิงกับตลาดมาเลเซีย ทำให้ชัยสิทธิ์คิดถึงการเป็นเจ้าของ FKRMM ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและปลอดภัยเชิงธุรกิจ เพราะตราบใดที่ยังเป็นแค่คู่ค้าก็มีโอกาสเสมอที่ FKRMM จะหันไปซื้อยางรถจักรยานยนต์จากผู้ผลิตรายอื่นที่อาจกดราคาให้ต่ำกว่า จังหวะเหมาะมาถึงราวกลางปี 2560 ที่ FKRMM ต้องการขายธุรกิจ ชัยสิทธิ์จึงเจรจาและบรรลุข้อตกลงในปลายปี จบดีลที่มูลค่า 53 ล้านริงกิตหรือกว่า 400 ล้านบาท ทั้งนี้ ชัยสิทธ์เผยว่าขณะนี้มีบริษัทจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยางแล้วหลายแห่งเพื่อผลิตยางรถบรรทุกและยางรถเก๋งส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และต่อมาก็เริ่มผลิตยางรถจักรยานยนต์ด้วยเช่นกัน จึงกลายเป็นคู่แข่งของ NDR ไปโดยปริยายทางออกของบริษัทจึงอยู่ที่การกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่นปลายปีที่ผ่านมาได้ร่วมกับนักลงทุนรายอื่นก่อตั้ง บริษัท เอ็น. ดี. เอ็นเนอยี่ ฟิวชั่น จำกัด เพื่อวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สำหรับส่งกระแสไฟฟ้า “อุตสาหกรรมยางรถมอเตอร์ไซค์ไม่หวือหวา แต่โตไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วก็ต้องมองหาอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ดังนั้นอะไรที่เราลงทุนได้เราก็พร้อมเข้าไปเสี่ยง” กรรมการผู้จัดการหนุ่มปิดท้ายถึงก้าวต่อไปของ NDR ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ บมจ. เอ็น. ดี. รับเบอร์คลิกอ่านฉบับเต็ม ชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ND Rubber ล้อยางพันล้าน ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ เมษายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine