ราว 10 ปีก่อน ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ต้องใช้เวลานานในการอธิบายว่าเว็บไซต์ stock2morrow ที่เขาปลุกปั้นมากับมือคืออะไร แต่ในโลกปัจจุบันที่การลงทุนคือหัวข้อสนทนาอันหอมหวานในเว็บไซต์ ไม่นับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสำนักพิมพ์ที่ปิยพันธ์ก่อตั้ง เพื่อผลิตหนังสือแนะนำการลงทุนและสร้างแรงบันดาลใจ และยังมีการร่วมทุนกับ startup หลายรายที่มีไฟฝันและความมุ่งมั่นเช่นเดียวกับเขา
“ผมชอบหาน่านน้ำใหม่อยู่เสมอ” ปิยพันธ์ วัย 46 ปี CEO บริษัท ทูมอร์โรว์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท สต็อคทูมอร์โรว์ จำกัด บอกพร้อมรอยยิ้มกว้าง หลังจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ บัณฑิตหนุ่มก็พกความรู้เข้าสมัครงานที่ บริษัท ไทคิช่า (ประเทศไทย) จำกัดจุดแรกเริ่มการทำงานเขาต้องเผชิญโจทย์แรกอันแสนท้าทาย ด้วยการเป็นหนึ่งในวิศวกรที่รับผิดชอบการก่อสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้ทันจัดการประชุม World Bank ปลายปี 2534 ปิยพันธ์ใช้ศักยภาพที่มีในตัวอย่างเต็มที่ กระทั่งบริษัทเห็นแววและมอบหมายโครงการต่างๆ และโลดแล่นในวงการวิศวกรรม จวบจนเข้าเริ่มศึกษาการลงทุนผ่าน “หุ้น” อย่างจริงจัง และเห็นว่าตัวเองสามารถแบกรับความเสี่ยงได้สูง “หุ้น” จึงกลายเป็นคำตอบ ซึ่งไม่นานนักเขาลงสนามจริง “พอเริ่มต้นก็ได้กำไร ไม่รู้หรอกว่านั่นเป็นกลลวง คิดว่าเล่นหุ้นไม่ใช่เรื่องยาก จึงเริ่มใส่เงินเยอะขึ้นและซื้อขายวันต่อวัน หวังถึงขั้นกำไรเป็นหมื่นเป็นแสน” อดีตวิศวกรหนุ่มเล่าพลางยิ้ม ทว่า ด้วยงานประจำที่ยังต้องรับผิดชอบ และหลายครั้งที่การประชุมทำให้เขาพลาดการติดตามหุ้นอย่างต่อเนื่อง กำไรที่เคยได้จึงกลายสภาพเป็นขาดทุนหลักล้าน ปิยพันธ์ ถอยเพื่อตั้งหลัก เขาเปลี่ยนวิธีด้วยการทุ่มเวลาศึกษาเรื่องหุ้นให้มากขึ้น และจับตาดูหุ้นที่มีแนวโน้มว่าจะไปได้สวยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า แม้ว่าขณะนั้นจะยังเป็นหุ้นนอกสายตาของคนส่วนใหญ่ก็ตาม ปิยพันธ์ทำการบ้านด้วยการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทที่เขาสนใจจะซื้อหุ้นอย่างละเอียด เดินทางไปดูสินทรัพย์ของบริษัทนั้นตามที่ต่างๆ หรือกระทั่งไปสังเกตการณ์หน้าโรงงานเพื่อดูบรรยากาศและจำนวนพนักงาน “การลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญคือต้องหาตัวเองให้เจอก่อน” เขาให้ความเห็น เมื่อ ปิยพันธ์พบแนวทางที่ใช่ จึงไม่รีรอที่จะปล่อยความรู้และประสบการณ์ด้านการลงทุนที่มี ให้คนคอเดียวกันได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นในเว็บไซต์ Pantip และ Greenbull ผลตอบรับเปรียบดังเหรียญ 2 ด้าน มีทั้งผู้ที่ชอบและไม่ชอบ ปิยพันธ์จึงตัดสินใจสร้างเว็บไซต์ขึ้นเอง เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุนและเป็นสังคมของคนคิดบวก “นักลงทุนหุ้นมักถูกมองว่าเป็นแมงเม่า ผมคิดว่า กว่าที่พวกเขาจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องมีความพร้อมพอสมควร จึงอยากสร้างสังคมที่เชิดหน้าชูตาและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” เว็บไซต์ settomorrow เปิดตัวในปี 2549 ก่อนที่อีก 2 ปีถัดมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น stock2morrow ซึ่งปิยพันธ์อธิบายที่มาของชื่อว่า เกิดจากต้องการให้ทุกคนมีความหวัง โดยจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปิยพันธ์ออกจากงานประจำที่ทำมาเกือบ 20 ปี เพื่อทำเว็บไซต์ stock2morrow เต็มตัว เกิดขึ้นในปี 2551เมื่อหุ้น “BLAND” ของ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ราคาตกลงมาอยู่ที่ราว 0.15- 0.16 บาท ปิยพันธ์ซึ่งจับตาดูหุ้นตัวนี้อย่างใกล้ชิดมานาน จึงตัดสินใจทุ่มหมดหน้าตัก เขานำเงินที่สะสมมาเกือบทั้งชีวิตและเงินสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งหมดแล้วเกือบ 10 ล้านบาทไปซื้อหุ้นดังกล่าว “เงินที่ลงทุนคือเงินที่ผมตั้งใจไว้แล้วว่าจะไม่ทำให้ชีวิตเดือดร้อนหากนำไปลงทุนหุ้น” ปิยพันธ์บอก ปี 2552 “BLAND” ทำกำไรให้ ปิยพันธ์ได้ 5 เท่า เขาจึงขายหุ้นไปส่วนหนึ่งและถือไว้ส่วนหนึ่ง จากนั้นก็ลาออกเพื่อทำสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น “passion” ได้อย่างเต็มที่ และวางตำแหน่ง stock2morrow ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม แบ่งปันความรู้ด้านการลงทุน แต่ก็ต้องไม่ละเลยรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ถึงอย่างนั้นในช่วงหลายปีแรก เขาก็ยังต้องควักกระเป๋าเองไปร่วมล้านบาท เมื่อเว็บไซต์เริ่มอยู่ตัวและมีฐานผู้ติดตามหลักแสน CEO หนุ่มจึงคิดถึงการถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบหนังสือ เป็นจังหวะเดียวกับที่เขาได้รู้จัก ภาววิทย์ กลิ่นประทุม นักลงทุนรุ่นใหม่ จึงชักชวนให้มาเขียนหนังสือ และมีงานเขียนเล่มแรกกับ สำนักพิมพ์ stock2morrow ในปี 2553 ในชื่อเรื่อง “แกะรอยหยักสมอง รวยหุ้นหมื่นล้านแบบ Buffet” สำนักพิมพ์ของปิยพันธ์เติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ออกหนังสือเฉลี่ยปีละ 24 เล่ม และ stock2morrow ยังแตกยอดสู่การสัมมนา ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกวิทยากรรวมถึงนักเขียนนั้น นอกจากจะต้องคลุกคลีและคร่ำหวอดในแวดวงการลงทุน ยังต้องเป็นผู้ที่รักการแบ่งปันอย่างจริงใจและผ่านบททดสอบชีวิตมาแล้ว ตุลาคม 2558 ปิยพันธ์ เปิดบริษัทใหม่ขึ้น ทูมอร์โรว์ กรุ๊ป โดยมีบริษัทเดิมคือ สต็อคทูมอร์โรว์ อยู่ใต้ร่ม มี วิชัย ทองแตง นักลงทุนชื่อดังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ “สำหรับผมแล้ว การลงทุนใน startup คือการลงทุนในตัวเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตามย่อมต้องเจออุปสรรคแน่นอน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของว่ามีใจสู้หรือไม่ ถ้าผมเห็นว่าเขามีมุมนี้ก็จะเริ่มสนใจจากนั้นค่อยคุยแผนธุรกิจ” ปัจจุบัน ปิยพันธ์ลงทุนในนามส่วนตัวไปแล้ว 5 ราย ประกอบด้วย Hubba ซึ่งเป็น coworking space เจาะกลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ Fortune Robotic Trading (FRT) บริษัทวิจัยกลยุทธ์การลงทุน StockRadars แอพพลิเคชั่นสำหรับนักลงทุนหุ้น SkillLane ที่เน้นสร้างการเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ และล่าสุดคือ Wazzadu แอพพลิเคชั่นที่อำนวยความสะดวกด้านวัสดุก่อสร้างและการออกแบบตกแต่งภายใน รวมมูลค่าที่ลงไปกับ startup เกือบ 100 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ทุกบริษัทสามารถสร้างมูลค่าได้เกินเท่าตัวแล้ว เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่นคลิ๊กอ่าน "ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ปั้นธุรกิจเพื่อสังคมแบบฉบับ stock2morrow" ฉบับได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ DECEMBER 2015