วิชิต ศรีกรีพุทธนะ อัปเดต "พันธวณิช" อีเซอร์วิสครบไลน์ - Forbes Thailand

วิชิต ศรีกรีพุทธนะ อัปเดต "พันธวณิช" อีเซอร์วิสครบไลน์

    หััวใจของหลายธุุรกิจวันนี้คือ เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลออนไลน์ และอี เซอร์วิส เป็นบริการพื้นฐานที่ทุกองค์กรควรมี แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ เพราะต้องใช้ทังความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเงิินทุน

    เวลาบ่ายต้นของวันที่ 31 ตลุาคม ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์กับผู้บริหารขององค์กรผู้ให้บริการเซอร์วิสด้านการจัดซื้อจัดจ้างรายใหญ่ของเมืองไทย วิชิต ศรีกรีพุทธนะ กรรมการผู้จัดดการ บริษัท พันธวณิช จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการระบบจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ เปิดบริการมานานกว่า 20 ปี และเนื่องจากเป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นธุรกิจจึงให้บริการแก่บริษัทในเครือเป็นหลัก ได้แก่ บริษัทซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ ทรู และบริษัทอื่นๆ ในเครื่อ แต่ปัจจุบันบริษัทใหญ่นอกเครือก็ได้เข้ามาใช้บริการพันธวณิชกันอย่างแพร่หลาย

    "เราให้บริการ e-Procurement มากว่า 20 ปีแล้ว ตอนนั้นการจัดซื้อจัดจ้างยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบ ERP" วิชิตเกริ่นที่มาของธุรกิจโดยเริ่มจากการนำธุรกิจการจัดซื้อจัดจ้างออกมาทำเป็นระบบให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น ครอบคลุมทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การเลือกซัพพลายเออร์ การประมูลออนไลน์ ทุกบริการล้วนเป็นอีเซอร์วิส ทำผ่านออนไลน์มานานกว่า 2 ทศวรรษ ถือเป็นบริษัทที่บุกเบิกอีเซอร์วิสด้านการจัดซื้อจัดจ้างรายแรกของไทย ส่วนตัวเขาเข้ามาบริหารที่นี่กว่า 2 ปีแล้ว และได้ปรับปรุง ยกเครื่องบริการต่างๆ ของพันธวณิชไปพอควร

    เหตุผลสำคัญของการปรับปรุงก็เพื่อทำให้การบริการที่ดีอยู่แล้วก้าวหน้ายิ่งขึ้น สะดวก ครบถ้วน รัดกุม คุ้มค่า ทันสมัยมากขึ้นเข้ากับสถานการณ์โลกซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาด รวมถึงกฎหมายการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมความยั่งยืนและธรรมาภิบาล "โลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เกิดจากการบริโภคที่มากขึ้น ทำให้หลายประเทศร่วมมือกันออกกฎระเบียบการค้าที่เข้มงวด เพื่อให้คู่ค้าทั่วโลกต้องคำนึงถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม มีหลายกฎเกณฑ์ออกมาบังคับใช้ทั่วสหรัฐอเมริกาและยุโรป"


​รอบคอบ-รอบรู้

    "กฎเกณฑ์การค้ามีความหลากหลายและรัดกุมมากขึ้น ทุกวันนี้ถ้าทำการค้ากับต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปสิ่งสำคัญคือ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำร่วมกับซัพพลายเชนทั้งระบบ" วิชิตย้ำว่า รายละเอียดและเงื่อนไขเหล่านี้มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสาระสำคัญที่ทุกบริษัทต้องทำความเข้าใจ ยึดเป็นแนวปฏิบัติให้ถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อสามารถทำการค้าขายได้สะดวกขึ้น

    จุดแข็งของพันธวณิชคือ ความเชี่ยวชาญในระบบอีเซอร์วิส การดึงซัพพลายเชน รวมถึงการหาซัพพลายเออร์เข้ามาอยู่ในระบบดำเนินการประมูลเพื่อให้ได้ราคาดีที่สุด วิชิตเผยว่า วิธีการนี้ทำให้การซื้อขายราบรื่นและมีฐานข้อมูลที่ดีอยู่ในระบบ จบงานได้เร็วเมื่อทุกคนอยู่ในระบบการดำเนินการก็ง่าย เอกสารการซื้อขายทุกอย่างล้วนทำบนออนไลน์ทั้งหมด สะดวก รวดเร็ว และรัดกุม

    วิชิตเล่าต่อไปว่า ปัจจุบันพันธวณิชมีฐานลูกค้าที่หลากหลาย มีผู้ซื้อมากกว่า 400 บริษัท และมีฐานข้อมูลผู้ขายมากกว่า 35,000 ราย โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นกลุ่มลูกค้า อาทิ มีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ใช้ระบบพันธวณิชในการจัดสร้างห้างแห่งใหม่ เป็นต้น หรือแม้แต่ลูกค้าสายประกันและกลุ่มธนาคารอีกหลายแห่งที่ใช้ระบบพันธวณิช เช่นกัน "ข้อได้เปรียบของพันธวณิช คือ เป็นบริษัทแรกที่ให้บริการงานจัดซื้อจัดจ้างอย่างครบวงจร จึงได้รับความไว้วางใจมีงานเข้ามาต่อเนื่อง" แม่ทัพพันธวณิชในช่วงวัย 40 ปลายๆ เล่าถึงความพร้อมและข้อได้เปรียบในธุรกิจด้านการจัดซื้อจัดจ้างในแบบออนไลน์

    "ถ้าเข้าไปในเว็บไซต์จะเห็นว่าพันธวณิชเป็นผู้ให้บริการงานจัดซื้อจัดจ้างอย่างครบวงจร เราหาซัพพลายเออร์ได้เร็ว เพราะมีฐานข้อมูลอยู่แล้วจึงช่วยให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว" พร้อมทั้งตรวจสอบการดำเนินกิจการของคูค้าว่าปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีหลายทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการในการใช้งานซอฟต์แวร์เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการงานประมูล โดยสามารถใช้บริการได้ทั้งแบบ self-service หรือ full service หากเลือกใช้บริการแบบ full service ลูกค้าก็ไม่ต้องกังวลถึงที่มาของซัพพลายเออร์ เพราะพันธวณิชมีฐานข้อมูลซัพพลายเออร์ค่อนข้างละเอียด รู้แม้กระทั่งแคชโฟลว์ของซัพพลายเออร์นั้นๆ พูดได้เลยว่าช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินของซัพพลายเออร์ได้ด้วย

    นอกจากนี้ พันธวณิชยังมีการบริการชาวยเหลือด้านการเงินแก่ซัพพลายเออร์ด้วยเพื่อให้งานราบรื่นทุกย่างล้วนออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งลูกค้าองค์กร คู่ค้า และซัพพลายเออร์ต่างๆ การมีฐานข้อมูลคู่ค้าในระบบช่วยทำให้การบริหารจัดการต่างๆ ง่ายขึ้น ได้รู้ศักยภาพของแต่ละฝ่ายว่าเป็นอย่างไร ช่วยอำนวยความสะดวกทำให้ผู้จัดซื้อมั่นใจได้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างเหล่านั้นจะได้รับบริการตรงตามที่ได้ตกลงหรือที่ประมูลกันไว้ "โครงการ Supplier 360 จึงเป็นบริการที่ช่วยในการตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินธุรกิจคู่ค้า ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ถึงความรอบคอบ รัดกุม ในการเลือกซัพพลายเออร์"

    วิชิตเผยว่า การตรวจสอบคุณสมบัติคู่ค้าจะมีรายการประเมิน ตรวจสอบข้อมูลบริษัทกรรมการ และผู้ถือหุ้น สถานภาพทางการเงิน รายการเฝ้าระวังและการคว่ำบาตรทางการค้าจริยธรรมทางธุรกิจ คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ รวมไปถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

​    มาตรฐานการตรวจสอบเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าและสร้างบรรทัดฐานในการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วยเพิ่มโอกาสการขายและการขยายธุรกิจ ช่วยสร้างความไว้วางใจและเป็นที่ยอมรับในฐานะคู่ค้าที่โปร่งใส ถูกกฎหมาย และรับผิดชอบต่อสังคม แนวทางนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เป็นคู่ค้าระดับนานาชาติได้ ยาอมเป็นการเพิ่มโอกาสการขายหรือ การขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น พร้อมได้การรับรองและความเชื่อถือจากผู้ซื้อรายใหญ่ทำให้ภาพลักษณ์ดี ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล


​ปร่งใสตรวจสอบได้

    พันธวณิชพยายามส่งเสริมซัพพลายเออร์ต่างๆ ให้พัฒนาตัวเองเพื่อเป็นที่ยอมรับในมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และรักษาการเป็นองค์กรที่โปร่งใส "ผมทำด้านบริหารความเสี่ยงมาก่อน และเคยทำระบบไอทีด้านการป้องกันการทุจริตและการฟอกเงิน เห็นเคสต่างๆ มาไม่น้อยจึงมองออกว่าจะปิดความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างไร" วิชิตอธิบายแนวคิดเมื่อถูกถามว่า จะป้องกันทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ได้อย่างไร

​    เขายังอธิบายต่อด้วยว่า ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ต้องป้องกัน กลไกการทุจริตมีหลายวิธี เขาเรียกการกระทำที่ไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างแบบล็อกสเปกว่า "การฟอกขาว" มักเกิดขึ้นในการประมูลทั่วๆ ไป หลายคนรับรู้แต่ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องยอมรับ แต่ในระบบของพันธวณิชที่มีฐานซัพพลายเออร์ในมือจำนวนมาก การกระทำแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะระบบจะช่วยกรองพฤติกรรมเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง

    "ยกตัวอย่างการประมูล ถ้าคนซื้อเลือกซัพพลายเออร์มาให้เรา 3 ราย แล้วเราเข้าไปประมูลนั่นคือเราฟอกขาว เพราะเราม่ได้เป็นคนเลือกและตรวจสอบที่ธุรกิจของซัพพลายเออร์" พันธวณิชจึงเลือกที่จะจัดหาซัพพลายเออร์เพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและป้องกันปัญหาทุจริต ซึ่งแนวทางนี้ก็ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนด้วย ยิ่งในปัจจุบันทุกคนถามหาความยั่งยืน เรียกร้องเรื่อง ESG: Environment Social Governance ความยั่งยืน 17 ข้อเรื่องธรรมภิบาลและความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ

    "โดยเนื้องานแล้วยังไม่ต้องถึงขั้น ESG ก็ได้ แต่ต้องมีความโปร่งใสก่อน ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะองค์กรธุรกิจทั่วไปไม่ได้มีหน่วยงานภายนอกมากำกับดูแลเข้มงวดเหมือนธุรกิจธนาคาร ธุรกิจอื่นอาจจะยังไม่เข้มข้น แต่ต้องบริหารเรื่องความโปร่งใสให้ได้ ภาคธุรกิจเอกชนต้องช่วยกันยกระดับ เพราะ EU เองก็มีกฎหมายทางการค้าใหม่ๆ ออกมาตลอด" วิชิตย้ำว่า เราไม่อาจเพิกเฉยกับกฎหมายการค้าเหล่านี้ เพราะกฎหมายเหล่านี้จะเกี่ยวกับทุกคนที่ต้องค้าขายกับประเทศใน EU

    ทั่วโลกตื่นตัวมากในเรื่องสิ่งแวดล้อมและมาตรการลดปัญหาภาวะเรือนกระจก การตรวจสอบคู่ค้าจึงมีความเข้มงวด และไม่ได้ตรวจเฉพาะตัวคู่ค้าโดยตรงเท่านั้น แต่ตรวจสอบลึกไปถึงซัพพลายเชน หมายถึงตรวจสอบไปถึงแหล่งวัตถุดิบที่มาของสินค้าที่จะนำไปขายในประเทศต่างๆ "เขาตรวจสอบตลอดซัพพลายเชน โดยเฉพาะ 2 เรื่องหลัก คือ การค้ามนุษย์กับเรื่องสิ่งแวดล้อม" วิชิตบอกว่า หากจำกันได้ ไทยมีปัญหาติดบัญชีที่ถูกจับตามองว่าเรามีปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานในการประมง การเลือกซัพพลายเออร์จึงสำคัญมาก หรืออีกกรณีคือ การใช้แรงงานเด็กก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไทยเคยประสบมาแล้ว เรียกว่าหากผู้ซื้อไม่รู้พื้นหลังของคู่ค้าดีพอ แต่เมื่อย้อนตรวจตลอดซัพพลายเชนแล้วพบปัญหาขึ้นมาอันนี้จะสร้างความเสียหายอย่างมาก

    "คำสั่งทางการค้าฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประเทศสมาชิกจะต้องมีกฎหมายบังคับใช้ภายใน 2 ปี คือ ปี 2569 โดยบริษัทนอกสหภาพยุโรปที่ทำการค้ากับประเทศสมาชิกและมีรายได้มากกว่า 450 ล้านยูโร จะเข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งบริษัทไทยและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่อุปทานก็จะมีผลบังคับใช้ด้วยเช่นกัน" วิชิตย้ำว่า ถ้าซัพพลายเออร์บอกว่าไม่สนใจ เพราะผลิตขายแต่ในประเทศ ผู้ซื้อก็ต้องระวังให้มาก ถ้าเขาไม่สนใจแต่ถ้าเราไปซื้อของเขามาและนำไปขายกับ EU แล้วบังเอิญเกิดการละเมิดข้อกำหนด ถ้ามีคนไปร้องเรียนอาจถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้น จึงต้องรู้และพร้อมจะปรับตัว เลือกค้าขายกับคู่ค้าที่ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติแล้วการตรวจสอบไม่ได้ทำได้ง่ายขนาดนั้นหากบริษัทต้องทำเอง แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้พันธวณิชให้ความสำคัญและตรวจสอบอย่างจริงจัง

​    หลายบริษัทมองต่างและอ้างว่าเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ยาก "คุณอาจบอกว่า ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าคู่ค้าเป็นอย่างไร ก็ซื้อมาตามปกติไม่ได้ไปดูถึงขั้นนั้น แต่คนบังคับใช้กฎหมายก็บอกว่า นี่ไงฉันบังคับเธอ เธอก็ต้องไปบังคับต่อเป็นทอดๆ หรือหากไม่แน่ใจขอแจ้งลงทะเบียนมาก่อนได้เพื่อป้องกันตัวเอง" สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาทางการค้าที่จะพบเห็นมากขึ้นสำหรับคนที่ค้าขายกับโลกตะวันตก

    "ลูกค้าบริษัทอย่างเราเวลาซื้อของเราเคยตรวจไหมว่าคู่ค้าเราเป็นอย่างไร ไหนขอดูการเดินบัญชีเป็นยังไง มีการจ้างแรงงานอย่างไร ไม่เคยตรวจเลยว่าบริษัทนี้ใครเป็นผู้ถือหุ้น เราเคยพิสูจน์ไหมว่าใครคือเจ้าของธุรกิจนี้จริงๆ" นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของข้อพึงระวังในการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกต้องค้าขายกับต่างประเทศ เพราะในทุกวันนี้การตรวจสอบเป็นสิ่งจำเป็น ต้องให้ความสำคัญเนื่องจากทั่วโลกเขาตื่นตัวเรื่องเหล่านี้มาก ดังนั้น ใครค้าขายกับต่างชาติ กฎระเบียบการค้าใหม่ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องรู้เพราะสำคัญมาก จะทำเพิกเฉยดูดายเหมือนในอดีตไม่ได้อีกแล้ว


คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine