"วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี" ตอบการบ้าน "New Normal" โจทย์ธุรกิจคนอสังหาฯ - Forbes Thailand

"วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี" ตอบการบ้าน "New Normal" โจทย์ธุรกิจคนอสังหาฯ

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในนั้น หนึ่งในนักธุรกิจผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคร่ำหวอดในวงการอย่าง "วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี" ประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ได้ตกผลึกความคิดการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจช่วงสถานการณ์โควิด โดยหนึ่งในคำตอบคือ "คนรุ่นใหม่" เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตอบโจทย์ยุค New Normal

วงการอสังหาริมทรัพย์ช่วงปี 2561-2562 เป็นช่วงเวลาที่วงการอสังหาริมทรัพย์กำลังซื้อทรงตัวซึ่งภาพรวมอุตสาหกรรมจากปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 ลดลงราวร้อยละ 20 แต่สำหรับกลุ่มอสังหาฯ ขนาดใหญ่ถือว่ายังประคองตัวได้เป็นอย่างดี ขณะที่ปี 2563 กลุ่มคอนโดมิเนียมกำลังซื้อตกลงสวนทางกับโครงการแนวราบที่ยังคงขายได้อย่างต่อเนื่อง และในช่วงปีแรกของการระบาดของโควิด-19 โครงการแนวราบของอารียากับขายดีที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งโดยปกติการเปิดตัวบ้านใหม่แบบแนวราบอาจจะขายได้หลัก 10-20 หลัง แต่ในช่วงปี 2563 จากโครงการใหม่ที่ทยอยเปิด 1-2 โครงการ สามารถขายได้ถึง 60 หลัง เรียกว่าเกือบครึ่งโครงการ "เราประเมินสถานการณ์ได้ว่ามันเกิดจากพฤติกรรมเพราะในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา เราไม่เคยอยู่บ้านกัน 24 ชั่วโมง ยิ่งคน Gen Y กับ Gen Z จะอาศัยคอนโดแค่นอนเท่านั้น เมื่อเกิดโควิดขึ้น จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางพฤติกรรมครั้งใหญ่ จากที่คิดว่าอยู่ห้องเล็กๆ ก็พอ ขอแค่อยู่ใกล้ห้าง ใกล้ชุมชนก็พอ เพราะเรามีความสุขที่จะใช้ชีวิตนอกบ้านมากกว่าในบ้าน แต่พอเจอโควิดถูกบังคับให้ล้อคดาว์น ทุกคนจะรู้สึกเลยว่าอยู่ไม่ได้แล้วคอนโด ส่งผลให้คนที่มีกำลังซื้อเปลี่ยนตัวเองไปซื้อบ้านทันที" วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี กล่าวและเสริมว่า โดยสาเหตุแรกที่ทำให้โครงการของอารียาฯ ขายดีก็คือการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนมีกำลังซื้อ ส่วนสาเหตุที่สองคือในปี 2562 อารียาฯ ได้เริ่มปรับทิศทางธุรกิจ เพราะเห็นถึง Segmentation ที่ต่างออกไป จึงศึกษาความต้องการของตลาดอย่างเข้าใจและเริ่มลงมือตั้งแต่เวลานั้น ทำให้เมื่อโควิดเข้ามาธุรกิจของอารียาฯ จึงไม่รับผลกระทบมากนัก เพราะเราหันมาทำแนวราบมากกว่าแนวสูง และตรงกับความถนัดของอารียาฯ ที่ทำกันมานาน
COMO BOTANICA บางนา

ดาต้าเสาเอกธุรกิจยุคใหม่

เป็นที่รับรู้ว่า อารียา พรอพเพอร์ตี้ พัฒนาโครงการแนวราบมายาวนาน โดยมีความชำนาญในการก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ขณะที่สิ่งสำคัญอีกด้านคือเรื่องข้อมูล โดยอารียาฯ สะสมจำนวนข้อมูลไว้ค่อนข้างมาก วิวัฒน์กล่าวว่าเมื่อนำสองสิ่งนี้มารวมกันและบวกกับเทรนด์ของโลกสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยี ดิจิทัล เป็นปัจจัยจะทำให้ทีมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พร้อมสำหรับการแข่งขัน อารียาฯ มีบ้านอยู่หลายพื้นที่ทั้งในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และชานเมือง ซึ่งแต่ละโซนก็จะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไปตามข้อมูลและการวิจัยตลาด ซึ่งระหว่างปี 2563-2564 เรื่องของ Segmentation หรือ การแบ่งกลุ่มผู้บริโภค เป็นสิ่งที่สำคัญมากและถูกอารียาฯ นำมาใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ซึ่งหลักๆ สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ เพศ อายุ รายได้, ความชื่นชอบ, ลักษณะเชิงภูมิศาสตร์ และ หลักพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น และสำหรับการสร้างบ้านให้กลุ่มคน Gen X และ Gen Y เรียกว่าสักแต่ทำไม่ได้ แต่ต้องสร้างอย่างตั้งใจให้ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งสิ่งที่โครงการที่พักอาศัยในยุค New Normal ต้องมีคือการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ มีเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่องทำให้ลูกค้าได้บ้านที่ตั้งใจและทำให้สามารถทำราคาที่ดีขึ้น "เรามีข้อมูลอยู่ในมือหลายสิบปี มีฝ่ายมาร์เก็ตติ้งที่ทำการวิเคราะห์ทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นภาพของสถานการณ์ใกล้ตัว ส่วนภาพกว้างเราก็ดูกันต่อเนื่องเพราะเดี๋ยวนี้โลกแคบลงเยอะ เราก็จะดูหมดทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ตลาดโลก หรือกระทั่งนโยบายของรัฐ ความมั่งคั่งของประเทศ เราจะเห็นว่าปี 2540 กับปี 2563 มันต่างกัน ปี 2540 ประเทศไม่มีเงิน แต่ปี 2563 เงินสำรองคงคลังเป็นอันดับที่ 16 ของโลก มากกว่าเยอรมนีอีกซึ่งถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาได้ถูกจุด เราจะผ่านไปได้ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่าอสังหาริมทรัพย์แนวราบไม่ได้ตกลงเลย ผมมั่นใจอย่างนั้น"
โครงการ AREN บ้านสไตล์ Modern Minimal ภายใต้แนวคิด “MADLY MINIMAL”
วิวัฒน์กล่าวต่ออีกว่าเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาอารียาเน้นเรื่อง Zero Waste ด้านเรื่องเทคโนโลยี โครงการของอารียาฯ เราให้ Wifi กับลูกบ้านใหม่ฟรีหนึ่งปีแรกมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามปีแล้ว ในปี 2563 อารียาฯ ให้ถึง 1,000/200 เพราะเราเชื่อว่าการทำงานที่บ้านหรือคนที่ขายของออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นบ้านที่มี Wifi หรือเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การทำงานของลูกค้าน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาอยู่บ้านได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องไปวุ่นวายหา Wifi ที่ไหนเพื่อทำงาน นอกจากนี้เรื่องการบริการขายก็เป็นที่เราให้ความสำคัญมากกว่า 8 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าความคิดเห็นเกี่ยวกับ อารียาฯ ในโลกสังคมออนไลน์ไม่ค่อยมีด้านลบ "จากประสบการณ์ในการทำงาน เมื่อไหร่ก็ตามที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ คนชั้นกลางจะเปลี่ยนบ้านน้อยลง เพราะคนส่วนใหญ่มีบ้านแล้ว สิ่งนี้มีผลต่อเนื่องมาถึงยุทธศาสตร์ในการทำบ้าน ดังนั้นบ้านที่ราคาต่ำกว่าสิบล้านจะเป็นบ้านที่ตลาดดีสุด เพราะบ้านราคายี่สิบถึงสามสิบล้านขึ้นไปคือทุกคนมีบ้านอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนบ้านก็ต่อเมื่อตัวเองรวยขึ้น หรือประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเศรษฐกิจโตน้อย โบนัสไม่มี ถ้าบ้านเดิมพออยู่ได้ก็จะอยู่ต่อ ส่งผลให้บ้านแพงจะขายยากขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ของเราก็คือจะหันไปทำบ้านที่มีราคาต่ำกว่าสิบล้าน ประมาณ 3-10 ล้าน เราจะทำตรงนี้เยอะมาก"

เดินหน้าสู่ "Inspiration Property"

ปัจจุบัน วิวัฒน์ในวัย 60 ปี ยังคงสนุกกับการทำงานและสนุกกับการทำงานกับคนรุ่นใหม่ ทีมงานของอารียาฯ ราวสามร้อยกว่าคน มีอายุเฉลี่ยอยู่ราวๆ 30 กว่าปี เป็นกลุ่มคน Gen Y ที่สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เขาอยากสร้างอารียา พรอพเพอร์ตี้ สู่การเป็น Inspiration Property สร้างบรรยากาศการทำงานที่สมัยน่าทำงาน นำเทคโนโลยีด้านออนไลน์เข้ามาช่วยทีมงานสามารถประสานงานได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้ไม่ได้ผลกระทบในเรื่องการติดต่อประสานงานจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น "คนรุ่นใหม่มีไฟมากกว่าคนรุ่นเดิม สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้โอกาสเขา เท่านั้นแหละที่เขาต้องการ" วิวัฒน์กล่าว และกล่าวทิ้งท้ายถึงหลักการบริหารธุรกิจช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา "ในช่วงวิกฤต ทุกคนลำบากเหมือนกัน แต่ถ้ามองในแง่บวกเราก็จะพบว่าในสงครามก็ยังมีการค้า ดังนั้นก็ต้องขยัน อดทน และสู้ แต่ความชำนาญ ความเข้าใจในสิ่งที่คุณทำจะเป็นทางรอดของธุรกิจ" อ่านเพิ่มเติม: บรรลือศักร โสรัจจกิจ คุมต้นน้ำธุรกิจอาหารสัตว์ TFM
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine