"ลัญจกร อมรกิจบำรุง" ก่อตั้งรีนิว อินโนเวชั่นส์ สร้างนวัตกรรมปกป้องประวัติศาสตร์ - Forbes Thailand

"ลัญจกร อมรกิจบำรุง" ก่อตั้งรีนิว อินโนเวชั่นส์ สร้างนวัตกรรมปกป้องประวัติศาสตร์

ปัจจุบัน นักวิจัยรุ่นใหม่ผันตัวมาเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น เป็นโอกาสที่เกิดกว้างให้สามารถต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งมาสู่ห้างได้ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพสาย Deep Tech ที่เป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ อย่างสตาร์ทอัพไบโอเทคสัญชาติไทย บริษัท รีนิว อินโนเวชั่นส์ จำกัด (ReNew)

ลัญจกร อมรกิจบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท รีนิว อินโนเวชั่นส์ จำกัด (ReNew) ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ “เซลลูเนท” หรือ “CELLUNATE™” น้ำยาเคลือบกระดาษนาโน หรือ Nano Coating เทคโนโลยีใหม่ที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ ทั้งพืชและสารชีวภาพ ออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อช่วยปกป้องเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ชิ้นงานศิลปะ ภาพวาด รูปถ่ายให้ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ “ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อยอดจากงานวิจัยสมัยทำปริญญาเอก ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีเอกสารทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก เราจึงคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมากเพื่อปกป้องเอกสารทางประวัติศาสตร์ไม่ให้และย่อยสลายไปตามกาลเวลา ซึ่งในตลาดโลก เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ และเริ่มมีดีมานด์มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราสามารถปกป้องเอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ ประวัติศาสตร์จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลง” ลัญจกรกล่าว เมื่อเรียนจบปริญญาเอกคว้าดีกรีดอกเตอร์กลับมา ลัญจกร ได้ไปทำงานกับบริษัทเอกชน และทำงานวิจัยไปด้วย พร้อมกับพัฒนาต่อยอดงานวิจัยปริญญาเอก นวัตกรรมเซลลูเนทไปด้วย ซึ่งโชคดีว่าไทยมีแหล่งวัตถุดิบที่สามารถนำมาผลิตเป็นเซลลูเนทได้จำนวนมาก ทั้งกากใยสัปปะรด ชานอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง ไม่มีมูลค่า จึงเริ่มศึกษาตลาดเพื่อนำงานวิจัยจากหิ้งมาสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เล็งระดมทุนขยายสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์ ลัญจกร กล่าวว่า สำหรับการขยายธุรกิจในประเทศไทย ได้คุยกับหอสมุดต่างๆ หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดมหาวิทยาลัย หอศิลป์ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และวางแผนขยายตลาดสู่ผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์ ReNew Artguard Fixative สเปรย์เคลือบงานศิลปะ สกัดจากสารธรรมชาติ ปกป้องงานศิลปะ  และ Renew Book Preservation น้ำยายืดอายุหนังสือและเอกสาร ช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดาษได้คราวละ 15 – 20 ปี จากแนวคิดแรกผลิตภัณฑ์ ReNew มีเป้าหมายคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของโลก ในเชิงของการอนุรักษ์กระดาษ ผ้า เพื่อไม่ให้เสียหาย เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปัจจุบัน ยังขาดวิธีปกป้องและดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถต่อยอดพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลายรูปแบบเพื่อให้จับตลาดหลายกลุ่มขึ้น ต่อมาเริ่มเห็นโอกาสว่านวัตกรรมของเราสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้อย่างกว้างขวาง เช่น สารเคลือบบรรจุภัณฑ์กระดาษทดแทนพลาสติก ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง จึงมีเป้าต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจให้เติบโตในอนาคต ลัญจกร กล่าวว่า ปัจจุบัน ReNew กำลังอยู่ในกระบวนการทำการวิจัยและพัฒนาไบโอโพลิเมอร์จากขยะชีวภาพ ทดแทนการนำเข้าไบโอโพลิเมอร์จากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง ซึ่งจะทำให้ ReNew สามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้มหาศาล ช่วยให้สามารถเร่งการขยายธุรกิจให้ก้าวกระโดด หรือแบบทวีคูณ (Exponential growth) และมีความพร้อมที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีความต้องใช้ Nano Coating รวมทั้งนำไปใช้ทดแทนการเคลือบด้วยพลาสติกในหลายอุตสาหกรรม “ReNew ตั้งเป้าสร้างรายได้จากธุรกิจไบโอเทค 800 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งการปฏิวัติทางชีวภาพ หรือ Bio Revolution เป็น 1 ใน 10 เทรนด์เทคโนโลยีดาวรุ่งแห่งทศวรรษหน้า เนื่องจากวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  (Biological science) จะมีอิทธิพลอย่างมากกับเศรษฐกิจและใช้ชีวิตของผู้คน โดยบริษัทวางแผนเปิดระดมทุนในปี 65 เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต” สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจระยะ 5 ปีแรกของ ReNew จะเน้นตลาดประเทศไทยเป็นหลัก ขณะเดียวกันมองหาโอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วย เนื่องจากตลาดบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลก โดยเฉพาะจีน อินเดีย จากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในต่างประเทศ การดำเนินธุรกิจอาจจะอยู่ในรูปแบบของการขายไลเซ่นส์ให้กับพันธมิตรในแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสมากขึ้น ลัญจกร กล่าวว่า ปัจจุบัน สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสมากขึ้น เพราะมีเวทีในการประกวด แข่งขัน การสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน แตกต่างจากที่ผ่านมา นักวิจัยไม่ค่อยได้คิดต่อยอดจากงานวิจัยไปสู่การค้า งานวิจัยจึงอยู่บนหิ้งเป็นหลัก และกองอยู่เป็นคอขวด จึงไม่เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด แต่ทุกวันนี้ หลายองค์กรให้ความสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต่อยอดงานวิจัยมาสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้ “นักวิจัยต้องมีมายด์เซ็ทในการเป็นผู้ประกอบการ ต้องคิดถึงความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ขณะเดียวกันหน่วยงานต้นสังกัด ต้องมีกลไกเอื้อต่อการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย เช่น การเข้ามาถือหุ้น การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อผลักดันให้นักวิจัยผลักดันงานออกมาให้เต็มที่” ลัญจกรกล่าว สำหรับสตาร์ทอัพในสาย Deep Tech ถือว่ามีจำนวนน้อย เพราะการคิดค้นนวัตกรรมมีขั้นตอน กระบวนการที่ซับซ้อน แต่มีข้อดี คือคู่แข่งขันน้อย ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ผลิตภัณฑ์จะประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมา ReNew ได้รับรางวัลต่างๆ จากหลายเวทีของการแข่งขันสตาร์ทอัพ โดยในปี 2564 นี้ เพิ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1,500,000 บาท จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ TED FUND รวมทั้งยังได้รับรางวัล Real Tech Holdings Award จาก Tech Planter Thailand การแข่งขันและบ่มเพาะสตาร์ทอัพ Deep Tech และได้รับรางวัล Bank of America Sustainability และ Lightning Round Winner จาก New Venture Championship ซึ่งสนับสนุนโดยมหาวิทยาลัย Harvard อีกด้วย อ่านเพิ่มเติม: “เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์” UBE สร้าง ecosystem ใหม่ ให้มันสำปะหลัง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine