รายงานพิเศษ งานเสวนา Forbes Thailand: Thailand’s Mega Trends Forum 2020 - Forbes Thailand

รายงานพิเศษ งานเสวนา Forbes Thailand: Thailand’s Mega Trends Forum 2020

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Dec 2020 | 08:45 PM
READ 3271

นิตยสาร Forbes Thailand ได้จัดงานงานเสวนาทางธุรกิจส่งท้ายปี 2563 เพื่อแบ่งปันและระดมความคิดภายใต้หัวข้อ Forbes Thailand: Thailand’s Mega Trends Forum 2020

Forbes Thailand Forum งานเสวนาที่รวบรวมประสบการณ์และมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจระดับแถวหน้าของเมืองไทย ที่ร่วมแบ่งปันแนวคิดและสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ Mega Trends ต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของสังคม เศรษฐกิจ และวิถีการทำธุรกิจทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ โดย Mega Trends ระดับสากลประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลักได้แก่ เทรนด์ด้าน Technology (การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี) เทรนด์ด้าน Urbanization (การเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นเมือง) Climate Change and Resource Scarcity (การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและทรัพยากร) เทรนด์ด้าน Shifting in Economic Power (การเปลี่ยนแปลงทางด้านอำนาจเศรษฐกิจ) เทรนด์ด้าน Demographic and Social Change (การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและสังคม) โดยงานเสวนาแบ่งเป็นช่วงหลักใน 2 ช่วง ได้แก่ “Keynote Speakers” ที่รับเกียรติจาก ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล และช่วงที่ 2 ได้แก่ “Panel Discussion” หรือช่วงเสวนา ที่ได้รับแขกรับเชิญจาก 3 นักธุรกิจแนวหน้าจาก 3 อุตสาหกรรมของประเทศไทย ได้แก่ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และ บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด, จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น และ สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ภายในงาน Forbes Forum ยังมีไฮไลท์สำคัญอีก 2 ช่วง ได้แก่ “Visionary Talk” ในหัวข้อ  “Visions on Mega trends” จาก ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัทบีกริม และ Abel Deng ซีอีโอ Huawei Technologies (Thailand) Co. Ltd. และ ช่วง “Business insights & Impacts on Consumer” จาก Chang Foo ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด   ภาครัฐหนุนเศรษฐกิจไทยสร้างเศรษฐกิจและสังคม ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นกล่าวและเผยว่าโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งรวมโลกทางกายภาพ ชีวภาพ และโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีตัวเร่งที่สำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 “เรากำลังใช้ชีวิตผ่านห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของอนาคต” ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กล่าว การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการต่อยอดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 หรือที่เรียกว่าการปฏิวัติดิจิทัล การปฏิวัติครั้งนี้มีลักษณะพิเศษจากการมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data ที่มหาศาล และการถือกำเนิดของเครื่องจักรอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี การทำแผนที่จีโนม และปัจจัยอื่นๆ เช่น blockchain และ Internet of Things “รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าสภาพแวดล้อมใหม่ในปัจจุบันรัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนนโยบายด้วยข้อมูล โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีความยืดหยุ่น คล่องตัวขึ้นกว่าที่เคย ความยืดหยุ่นนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถร่างระเบียบและนโยบายที่ 5 ตอบสนองต่อนวัตกรรมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้” ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าจะผลกระทบของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ได้รับผลกระทบและเกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจ ช่วงที่รัฐบาลสั่งปิดประเทศอย่างเด็ดขาด รัฐบาลมีความจำเป็นและทำให้มีต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มตามมาและเมื่อการเปิดประเทศอีกครั้ง สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังเร่งทำคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจพื้นฐานเพื่อนำเศรษฐกิจของประเทศกลับคืนมา “รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณหลักราวหนึ่งล้านล้านบาท เพื่อนำเศรษฐกิจของประเทศกลับมา ส่วนด้านสาธารณสุขรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณราว 4-5 พันล้านบาท ในการดูแลรักษาประชาชนและการจัดเตรียมวัคซีนให้กับประชาชน” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าว สำหรับประเด็นด้านเมกะเทรนด์ที่กลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกนั้น อาคม กล่าวว่ามีเมกะเทรนด์ที่สำคัญอยู่ 5 เทรนด์ อันได้แก่ เมกะเทรนด์ด้านเทคโนโลยี ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดว่าเทรนด์ด้านเทคโนโลยีมีผลด้านการค้าขายและการใช้ชีวิต โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เกิดพฤติกรรมด้านเทคโนโลยีในการใช้จ่าย การค้าขาย และการใช้ชีวิต “จากโครงการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นจะเห็นได้ชัดว่าธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือแทบทั้งสิ้น สังคมได้เกิดการเรียนรู้ด้านดิจิทัล แต่อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างจากกลุ่มที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีและอุปสรรคด้านสัญญาณโทรศัพท์ในสถานที่ห่างไกล” สำหรับเทรนด์ที่สำคัญอีกด้านคือเทรนด์ที่เกี่ยวการเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจ, เทรนด์ด้านการเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ที่เมื่ออัตราการเพิ่มจำนวนของประชากรลดลง สังคมเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ในอนาคตเกิดการขาดแคลนแรงงานและการแทนที่แรงงานด้วยเทคโนโลยี โดยกระทรวงการคลัง มีหน้าที่บริหารรายรับและรายจ่ายของประเทศให้อยู่ในภาวะคงคลังที่เหมาะสม “ส่วนหนึ่งกระทรวงฯ ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียกเก็บภาษี และการจัดการเอกสารแบบดิจิทัล การรณรงค์เรื่องการออมเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างของประชากร เพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ” อีกเทรนด์สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมและเศษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่ใส่ใจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด และสำหรับเทรนด์สุดท้ายคือเทรนด์ด้านการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ  โดยเมกะเทรนด์ทั้ง 5 เรื่องถือว่าเป็นโครงการรณรงค์ขนาดใหญ่ที่รัฐบาลมีส่วนสำคัญและเกี่ยวข้อง ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดท้ายว่า การเกิดเมกะเทรนด์ด้านการแพทย์ส่วนหนึ่ง เกิดขึ้นจากเมกะเทรนด์ด้านอื่นๆ ที่ผลักดันให้เมกะเทรนด์ด้านสุขภาพเกิดขึ้นซึ่งปัจจุบันหน่วยงานด้านการแพทย์ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปข้างหน้า “ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมจะพูดออกไปในวันนี้เป็นมุมมองด้านการแพทย์ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย ถ้าหากไม่โอกาสของโควิด-19 เข้ามาผมคิดว่าอาจจะไม่โอกาสที่จะนำการเปลี่ยนแปลงมาให้ประเทศไทย” ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (2 ธันวาคม 2563) มีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 64 ล้านคนในทั่วโลก และทุกๆ 1.2-1.5 วันจะมีการติดเชื้อเฉลี่ยของพลเมืองโลกราว 1 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันพลเมืองโลกมีผู้เสียชีวิตราว 1.5 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่ามีผู้สัมผัสเชื้อไปแล้วราวร้อยละ 10 ของประชากรโลก “ทั้งหมดที่ผมพูดขึ้นมาเพื่อการนำไปสู่การวางคอนเซ็ปต์ของเรื่อง “One health” สุขภาพคน สุขภาพสัตว์ สุขภาพสิ่งแวดล้อม ไม่แยกออกจากกัน ถ้าตราบใดพลเมืองโลกยังก่อกิจกรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น เราจะได้พบเจอไวรัสประเภทนี้อีกแน่นอน ซึ่งสิ่งสำคัญคือเราจะป้องกันอย่างไรและมองเรื่องเหล่านี้เป็นโอกาสได้อย่างไร” ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา กล่าว ด้านการปรับใช้เทคโนโลยีต่างๆ ปัจจุบันสิ่งที่ศิริราชได้ทำคือการพัฒนาด้านการแพทย์ หลังจากได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมผลักดันขับเคลื่อนการใช้งาน 5G ของประเทศไทย ในการสร้างแอปพลิเคชันเชื่อมโยงสุขภาพ เพื่อการตรวจสอบและป้องกันการก่อโรค ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีความสามารถในการผลิต นอกจากนี้ศิริราชพยาบาลยังได้มีการรักษาคนไข้แบบเทเล-เมดดิคอล ในการรักษาโรคทั่วไป  
ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกลุ่มบริษัทบีกริม (ขวา)
 
Abel Deng ซีอีโอ Huawei Technologies (Thailand) Co. Ltd.
       
Chang Foo ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด
    นักธุรกิจชั้นนำชี้โควิด-19 บททดสอบธุรกิจ และช่วงที่ 2 ได้แก่ “Panel Discussion” ช่วงเสวนาที่ได้แขกรับเชิญ  3 นักธุรกิจแนวหน้าจาก 3 อุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการเสวนาเริ่มต้นที่ประเด็นความสำคัญของเมกะเทรนด์ที่เข้ามากระทบธุรกิจ จรีพร  จารุกรสกุล แห่ง WHA กล่าวว่า สิ่งที่ WHA ปรับตัวมากที่สุดคือการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอินฟราสตรัคเจอร์ของ 4 กลุ่มบริษัท และท่ามกลางการแพร่กระจายของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นบททดสอบสำคัญขอบธุรกิจ แต่WHA แทบไม่กระทบ เนื่องจากเราได้เตรียมความต่างๆ มาอย่างดี เราตั้งเป้าเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำในการปรับใช้เทคโนโลยีจากการดิจิทัลในอนาคตข้างหน้า   จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กล่าวว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ของสิงห์เองที่ผ่านมาเราสามารถเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีต่อการกินอยู่และอาศัยเป็นอย่างดี แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาธุรกิจเรากระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านการขนส่งสินค้าไปยังร้านค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้ ขณะที่ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมในเครือ สิงห์ แอสเตทฯ เองได้เตรียมหาข้อมูลและปรับตัวเพื่อหาความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคอย่างแท้จริง “ผมเชื่อว่าเราปรับตัวดีแล้วในประเทศและทั่วโลก โรงแรมเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นปลายทาง ถ้าเราสามารถแก้ไขเรื่องการกลัวการเดินทางได้ ปัญหาจะหมดไป” ด้าน สุระ คณิตทวีกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คอมเซเว่น กล่าวว่าสำหรับธุรกิจค้าปลีกเรามีความจำเป็นต้องก้าวให้ทันเทรนด์เทคโนโลยีใหม่และบริหารความเสี่ยงทางด้านช่องทางการขาย ด้วยการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ทั้งหน้าร้านตามสถานที่ต่างๆ และการขายผ่านออนไลน์ “โควิด-19 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องพัฒนาด้านวิจัยและพัฒนาของบริษัทเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ เราอาจฉีกตัวเองไปทำด้านอื่น โดยนำสิ่งที่เรามีอยู่ไปต่อยอดพัฒนา ไม่ต้องไปเริ่มจากศูนย์ นี้คือสิ่งที่ท้าทายธุรกิจของเรา” สุระ คณิตทวีกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. คอมเซเว่น กล่าวทิ้งท้าย https://www.youtube.com/watch?v=-25iMCX5N4I https://youtu.be/ZC_ZI8pHni8