Forbes Thailand Forum 2016 : The Next Tycoons - Forbes Thailand

Forbes Thailand Forum 2016 : The Next Tycoons

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Apr 2016 | 01:26 PM
READ 17403
เมื่อทายาทธุรกิจระดับแนวหน้าของประเทศ รวมตัวบอกเล่าประสบการณ์อันล้ำค่าบนเวที Forbes Thailand Forum 2016 : The Next Tycoons เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ใฝ่ความสำเร็จ ในสองเวที Panel 1 “Envisioning a Better Tomorrow” และ Panel 2 “Gearing Up for the Future” Panel 1 “Envisioning a Better Tomorrow” ผู้เสวนาบนเวทีประกอบไปด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE  และ พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อนุทิน ชาญวีรกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) “Cash is King” หลักการบริหารงานซึ่งตกตะกอนทางความคิดจากวิกฤตทางการเงินปี 2540 หรือ “ต้มยำกุ้ง” บทเวทีเสวนา อนุทิน ชาญวีรกูล เล่าย้อนถึงช่วงเวลาสำคัญเมื่อรับตำแหน่ง CEO บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ต่อจากชวรัตน์ ผู้พ่อ ในช่วงนั้นเศรษฐกิจเฟืองฟู ไม่มีใครพูดถึงฟองสบู่ ไม่มีใครเอ๊ะใจถึงเงินกู้ต่างประเทศที่เพิ่มจำนวนมากต่อสัดส่วน GDP ของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่กู้เงินต่างประเทศเพื่อดำเนินธุรกิจ แล้วทุกอย่างพังลง เมื่อรัฐบาลโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2540 “เมื่อคืนยังรวยอยู่เลย ตื่นเช้ามาก็มีการลอยตัวค่าเงินบาทเสียแล้ว” อนุทิน กล่าวย้อนถึงนาทีที่ได้รับข่าวการลอยค่าตัวบาท เขาตัดสินใจฮึดสู้ด้วยความคิดฟื้นคืนบริษัทของเขาและชื่อเสียงของตระกูล หนี้เงินกู้จากเงินตราต่างประเทศที่หลังลอยตัวค่าเงินบาทสูงเกือบหมื่นล้านบาท เมื่อตั้งหลักได้ทางออกมาเอง “เกิดมาไม่เคยดู Financial Statement ผมไม่เคยดูงบเป็น ดูไม่เป็นด้วย ก็ดูเป็นจากวันนั้นจนวันนี้ Analyses Cash Flow เป็น” อนุทินกล่าว จากประสบการณ์ราคาแพงในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นทำให้เขาปรับการดำเนินงานใหม่โดยยึดหลัก “Cash is King” เน้นการถือเงินสดและลงทุนโครงการต่างๆ ด้วยเงินสดซึ่งหลักการดังกล่าวจะเป็นไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของบริษัท อนุทินทิ้งท้าย ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE หากวันนี้กล่าวถึงตระกูลมาลีนนท์ผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทน หลายๆ คนคงแปลกใจ แต่คำตอบในวันนี้จะชัดเจนในอนาคตอันใกล้ เมื่อ ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ผู้กระโดดเข้ามารับหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจ เริ่มต้นจากความไม่รู้ จนนั่งบังเหียนคุมทิศทางบริษัทในปัจจุบัน เมื่อ ประชา มาลีนนท์ ได้ซื้อหุ้นจากผู้บริหารกลุ่มเดิม เธอได้รับบทบาทสำคัญเข้ามาดูแล บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ราว พ.ศ.2554 แคทลีนเล่าว่า ช่วงนั้นความรู้ด้านไฟฟ้าของเธอแทบไม่มี ขณะที่ TSE มีหนี้กว่าพันล้านบาท สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ก็ยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง และการทำโซลาร์ฟาร์มก็ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่ด้วยการมีทีมงานที่อยู่กันมาตั้งแต่ต้น มีการก่อสร้างที่ดีและมีการวางแผนการเงินที่ดี ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและขายไฟฟ้าได้ในที่สุด หญิงแกร่งแห่ง TSE มองว่าธุรกิจพลังงานทดแทนมีอนาคตสดใส แม้เทคโนโลยีที่นำพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมมาใช้จะมีต้นทุนสูง แต่ขณะนี้ต้นทุนได้ปรับตัวลดลง ประกอบกับยิ่งประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้พลังงานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จึงช่วยตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี “วันที่เข้ามาไม่คิดว่าจะเป็นดาวรุ่งเลย คิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ได้ จนปัจจุบันเราต้องทำสิ่งที่มีให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ความตั้งใจคือแพ้ไม่ได้ ต้องทำได้และทำให้ได้” พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจสายการบิน Bangkok Airways เป็นอีกหนึ่งทายาทนักธุรกิจระดับประเทศที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ผ่านเวที Forbes Forum ในครั้งนี้ สำหรับ Bangkok Airways ภาพรวมในอดีตของสายการบินคนไทยแห่งนี้ บินสะสมไมล์ ด้วยประสบการณ์จากหมายเหตุของโลกไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งที่ค่าเงินลอยตัว สูงจยพาเพดานบินเงินกู้จากการนำเข้าเครื่องบินจาก 7 ลำ เป็น 14 ลำ หรือวิกฤตโรคระบาดซาร์ส ที่นักท่องเทียวหดหาย นพ.ปราเสริฐ ผู้เป็นพ่อให้เขาเข้ามาดูแลกิจการอย่างเต็มตัวใน พ.ศ.2551 และเป็นปีที่พุฒิพงศ์ ยอมรับว่าหนักที่สุด เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก นักท่องเที่ยวหลายประเทศในยุโรปรวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักลดการเดินทางลง ส่วนน้ำมันก็ปรับราคาขึ้นจนน่าตกใจ ทั้งหมดทำให้บริษัทขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท “ตอนนั้นแทบไม่เห็นอนาคต” เขาย้อนเหตุการณ์ พุฒิพงศ์ ตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัท ลดเส้นทางบินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และลดจำนวนเครื่องบินเพื่อให้บริษัทอยู่รอด จากนั้นปี 2552 สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลาย และได้พันธมิตรที่เป็นสายการบินใหญ่มาร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าร่วมสงครามราคาแข่งกับสายการบินต้นทุนต่ำ แต่เลือกวางตำแหน่งสายการบินให้ผู้โดยสารสบายใจและได้รับการบริการที่ดี เป็นที่มาของคำว่า “Boutique Airline” “หลักของ Bangkok Airways คือเราไม่สร้างคู่แข่งขันแต่เราหาเพื่อน” กัปตันพุฒิพงศ์ปิดท้าย Panel 2 “Gearing Up for the Future” ผู้เสวนาบนเวทีประกอบไปด้วย ชญานิน เทพาคำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด และ เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์  จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ชญานิน เทพาคำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ตลอดระยะเวลากว่า 80 ปี “สิงห์” ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง หนึ่งในนั้นคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมี ชญานิน เทพาคำ กุมบังเหียนในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) “คุณสันติให้ผมไปคิดว่าปัจจัยความสำเร็จคืออะไร ผมคิดว่าเราต้องมีคนที่มีความรู้และมีประสบการณ์ที่ชัดเจนมาทำงานกับเรา เป็นที่มาของการเข้าสู่อสังหาริมทรัพย์” ชญานิน กล่าว ก้าวแรกของธุรกิจอสังหาฯ เริ่มจากการซื้อธุรกิจแบบย้อนกลับ (RTO) บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นำมาบริหารและเติบโตโดยได้ที่ดินใจกลางเมืองหลวงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อาทิ พื้นที่สถานที่ฑูตญี่ปุ่นย้ายรัชดา ในปัจจุบัน สิงห์ เอสเตท มีทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน ธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ที่ลงทุนร่วมกับ บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ทั้งนี้ยังเตรียมลงทุนในธุรกิจ Warehouse Logistics เป็นการเชื่อมโยงธุรกิจให้สอดคล้องกับกลุ่มบุญรอดฯ “วิสัยทัศน์ที่คุณสันติให้มาคือต้องเติบโตอย่างมั่นคงและแตกต่าง แม้จะแตกต่างในไทยแต่ต้องไม่แตกต่างในระดับสากล” ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัทบุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท  บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวถึงเสน่ห์ของธุรกิจครอบครัวคือการผสมผสานกันระหว่างรุ่น เพราะแต่ละรุ่นก็มีความคิดหรือการดำเนินงานที่แตกต่างกัน คนรุ่นใหม่อาจไฟแรงเกินไป ก็ต้องให้คนรุ่นก่อนมาช่วยดูแลและให้คำแนะนำ เขามองว่าการทำธุรกิจครอบครัวนั้น การประนีประนอมเป็นเรื่องที่ดี แต่หากมากไปก็จะทำให้พลาดเป้าหมายได้ และสิ่งที่จะทำให้ทุกคนเดินไปด้วยกันเพื่อสร้างความสำเร็จให้องค์กร นอกจากจะต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันแล้ว ยังต้องมีความกระตือรือร้นและทิศทางที่ชัดเจนด้วย “ธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่วิสัยทัศน์แต่จะไปถึงดวงดาวหรือไม่อยู่ที่คน” ปิติ กล่าวและบรรยายเพิ่มเติมถึงการสืบทอดธุรกิจของสิงห์ในหลายๆ รุ่น โดยเขาได้ประยุกต์แนวคิดจากคนรุ่นที่ผ่านมา จนกระทั่งได้เป็นแนวทางการทำงานของตนเอง หลักการในหลายบริษัทชอบพูดถึง Vision ซึ่งเป็นสำคัญแต่สิ่งที่เขาคิดและให้ความสำคัญมากกว่าคือ Direction ทิศทางเป็นสิ่งสำคัญหากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะไปยังจุดใด เขาจะนำทิศทางบริษัทไปให้ถึงแต่ด้วยวิธีใดในฐานะผู้บริหารเขาจะเป็นคนกำหนดเอง ปัจจุบันสิงห์ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ราว 72-73% มียอดขายรวมอยู่ที่ราว 1.8 แสนล้านบาท ปีนี้ ปิติ คาดว่าจะมีการแข่งขันที่ชัดเจนขึ้นระหว่างสิงห์กับคู่แข่ง แม้ตลาดเบียร์จะไม่โตและกำไรจะลดลงจากนโยบายด้านภาษีของภาครัฐแต่หน้าที่ของเขาคือการรักษาผลกำไรไว้ให้ได้ เพื่อคนในครอบครัวสิงห์ หรือพนักงานทุกๆ คน เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์  จำกัด (มหาชน) หรือ TTA บุตรชายผู้ซึมซับบรรยากาศธุรกิจจากผู้เป็นพ่อ ประยุทธ มหากิจศิริ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรพีเอ็ม กรุ๊ป ตั้งแต่เด็ก ได้โอกาสเข้าไปบริหาร TTA โดยเข้าไปซื้อกิจการและปรับโครงสร้างบริษัทเกือบหมื่นล้านบาททั้งยังเพิ่มทุนกลับเข้ามากว่าหมื่นล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่อง ในปัจจุบัน TTA มีหลากหลายธุรกิจ เช่น ขนส่ง พลังงาน และยังมีธุรกิจปุ๋ยที่เวียดนาม ซึ่งปีนี้จะนำมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “เราต้องเข้าใจเขา พูดภาษาของเขา เพื่อให้เขาเข้าใจเรา เพราะการเข้าใจกันจะนำพาองค์กรให้ก้าวไกล” เฉลิมชัยกล่าวถึงหลักในการบริหารงานร่วมกับผู้อื่น เพราะบริษัทต่างๆ ทีเขาเข้าไปบริหารมีภาษาการทำธุรกิจที่แตกต่างกันไป เฉลิมชัยยังให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ผู้ร่วมงานคิดนอกกรอบเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อคิดในการลงทุนธุรกิจสมัยใหม่ที่ เฉลิมชัย แนะว่า ต้องดูว่าตัวเองมีความกระตือรือร้นกับธุรกิจนั้นหรือไม่ ต้องมีฐานการเงินที่ดี และต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ซึ่งเกิดจากการศึกษาตลาดอย่างรอบคอบว่าไลฟ์สไตล์ของคนเป็นอย่างไร แล้วทำธุรกิจให้สอดคล้องกับสิ่งนั้น