หมอพงษ์ศักดิ์ วิทยากร มีชื่อเสียงในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ ก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดออกไปในปี 2555 จากนั้นก็วางมือจากธุรกิจโรงพยาบาลไป 2 ปี ก่อนจะหวนคืนสู่ธุรกิจที่รักอีกครั้งโดยมี “สาธิต วิทยากร” บุตรชายคนเล็กเป็นผู้สืบทอดปณิธานในนาม “พริ้นซิเพิล”
ภาพรวมบริการสุขภาพในเมืองไทยยังขาดแคลน เฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่เท่านั้นที่มีทางเลือกหลากหลาย ส่วนพื้นที่ห่างไกลและจังหวัดขนาดเล็กบริการด้านสุขภาพยังมีไม่เพียงพอ เป็นมุมมองที่อยู่ในความตั้งใจของนพ.พงษ์ศักดิ์ วิทยากร วัย 86 ปี อดีตผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลกรุงเทพ เครือข่ายโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เขายังไม่วางมือจากบริการด้านสุขภาพเสียทีเดียว แต่ยังคงสืบสานปณิธานที่ว่า “จะสร้างคนดูแลรักษาคนชุมชนและสังคม” แม้วันนี้ขนาดธุรกิจเปลี่ยนไป ทว่าปณิธานยังคงเดิมและชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะเน้นเปิดบริการในต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกให้กับผู้คนในท้องถิ่น Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.สาธิต วิทยากร ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่แจ้งเกิดมาจากการเข้าเทกโอเวอร์บริษัทเมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ METRO บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2556 “ช่วงนั้นหันไปลงทุนอสังหาฯ เพราะเป็นช่วงที่คุณพ่อและผมเพิ่งขายหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพออกทั้งหมด เหมือนเราทำ silent period ตั้งใจไว้ว่า 2 ปีจะไม่แตะธุรกิจ health care” จึงเป็นที่มาของการเข้าเทกโอเวอร์เมโทรสตาร์ฯ ซึ่งดร.สาธิต เล่าว่า ตอนนั้นซื้อเมโทรสตาร์ฯ เพราะมีสินทรัพย์น่าสนใจ คือ โรงแรมแมริออท สาทร ซื้อมา 1,000 กว่าล้าน มูลค่าโรงแรมนี้ 1.4 พันล้านบาท และเปลี่ยนชื่อจากเมโทรสตาร์ฯ มาเป็น พริ้นซิเพิล แคปิตอล PRINC จึงเป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) จากนั้นก็ทำธุรกิจอสังหาฯ อยู่ 2 ปี จากสินทรัพย์เริ่มต้น 1.4 พันล้านบาท ขยายโครงการลงทุนต่างๆ กระทั่งมีมูลค่ารวม 5 พันล้านบาทในปัจจุบัน ทำอสังหาฯ มา 2 ปีก่อนจะเริ่มธุรกิจโรงพยาบาลเมื่อปี 2558 จากนั้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ได้เปลี่ยนหมวดจดทะเบียนจากกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาสู่ธุรกิจการแพทย์ (Health Care Services) พร้อมประกาศแผนรุกธุรกิจบริการสุขภาพเต็มตัว หลังจากได้ทยอยลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลมาแล้ว 4 ปี กระทั่งมีโรงพยาบาลในเครือแล้ว 8 แห่งในต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปซื้อ โรงพยาบาลที่เจ้าของอยากขายนำมาปรับปรุงและให้บริการ สานต่อปณิธานที่ว่า “เราจะเป็นที่สร้างคนที่มาดูแลรักษาคน ชุมชน และสังคม” ตามที่ นพ.พงษ์ศักดิ์ ผู้เป็นบิดาตั้งไว้ตั้งแต่แรก ล่าสุดโรงพยาบาลแห่งที่ 8 ซึ่งพริ้นซิเพิลเข้าไปลงทุนคือ โรงพยาบาลปิยะมินทร์ ที่ถนนบางนา-ตราด กม.5 (ขาเข้า) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งที่นี่รับผู้ป่วยโครงการ 30 บาทจำนวนมาก แต่บริหารไม่ดีขาดทุน เปิดตัวมาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจพอดี “เราไปซื้อปี 2560 ลงทุนไป 900 ล้านบาทซื้อกิจการ ปิยะมินทร์เป็นโรงพยาบาลทุนไม่เยอะ แค่ 400 ล้านบาทแต่ขาดทุนถึง 1 พันล้านบาทติดบริหารสินทรัพย์จะยึด มีคนซื้อหนี้ไปพยายามเข้ามาปรับปรุง แต่ไม่ได้ปรับปรุงทะเลาะกัน เขาจะแปลงหนี้เป็นทุน ทาง บบส.ก็มาเสนอให้เรา” ดร.สาธิตบอกเล่าถึงที่มาของการลงทุนล่าสุดมูดลค่า 900 ล้านบาท ขยับมาใกล้กรุงเทพฯ แต่ยังอยู่แค่สมุทรปราการ ซึ่งทางกลุ่มต้องการพัฒนาให้เป็นฮับด้านบริการสุขภาพไซส์เล็ก แชร์เซอร์วิส ลดต้นทุน
คุณภาพงานบริการเดินควบคู่มากับการบริหารต้นทุน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พริ้นซิเพิลทำและได้ผลมากคือการทำแชร์เซอร์วิส โดยเน้นเทคโนโลยี รวมเอางานบริการในแผนกที่ทำงานเหมือนๆ กันมาเป็นฐานข้อมูลเดียว เช่น ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบัญชี คุมคลังทีมเดียว ยกเว้นการตลาดยังเป็นแต่ละแห่งอยู่ แต่ข้อมูลเวชระเบียนคนไข้รวมไว้ที่เดียวแบบอิเล็กทรอนิกส์ และฝากไว้ที่คลาวด์ซอร์สซิ่งซึ่งทำมาตั้งแต่ลงทุนแรกๆ การรวมศูนย์เหล่านี้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยราว 10% และในการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ด้วยการเป็นเครือข่ายสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ 10% เช่นเดียวกัน ดร.สาธิตเป็นผู้บุกเบิกนำมินิคอมพิวเตอร์มาใช้งานในโรงพยาบาลเป็นเครื่องแรก และริเริ่มนำระบบสั่งยาโดยแพทย์ทางคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ถือว่าก้าวหน้ามากในสมัยนั้น (30 ปีก่อน) นอกจากนี้ยังได้ให้มีลงทะเบียนผู้ป่วยและจัดเก็บแฟ้มข้อมูลในระบบ Hospital Information System เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาด และทำให้ผู้รับบริการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ความสำเร็จล่าสุดในการนำเทคโนโลยีมายกระดับงานโรงพยาบาล คือ การขึ้นระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ที่โรงพยาบาลปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ให้เป็นโรงพยาบาลที่ได้การรับรองการนำระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ได้มาตรฐานขั้นที่ 6 (HIMSS EMRAM Stage 6) เป็นแห่งแรกในประเทศไทยเล็งบ้านผู้สูงวัย-โรงเรียนแพทย์
เป้าหมายต่อไปของพริ้นซิเพิล เฮลธ์แคร์ยังคงอยู่ในไลน์บริการด้านสุขภาพ นั่นคือการมองเรื่องสังคมผู้สูงวัย หรือ aging society ต่อไปคนจะอายุยืนขึ้นและจะเกิดสังคมสูงวัยที่ต้องการบริการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มนี้ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เขามองเพื่อต่อยอดบริการด้านสุขภาพ โดยยังคงเน้นบริการที่คุณภาพรองรับความต้องการของผู้มีรายได้ระดับกลาง ด้วยการให้บริการดูแลผู้สูงวัยทุกรูปแบบ สนนราคาค่าบริการรวมที่พัก อาหาร และการดูแลสุขภาพ น่าจะคิดค่าใช้จ่ายที่ 20,000-50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งนี่เป็นแผนงานในอีก 3 ปีข้างหน้าแต่พริ้นซิเพิลมีแผนงานที่วางไว้ระยะยาว 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือมองโอกาสสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางในโรคมะเร็ง ซึ่งคนเป็นกันมากและค่ารักษาพยาบาลสูง อีกแผนงานซึ่งเป็นเป้าหมายภายใน 10 ปี คือการทำโรงเรียนแพทย์ ดร.สาธิตบอกว่าคุณพ่อของเขาต้องการทำโรงเรียนแพทย์ เพื่อสืบสานปณิธานสร้างคนเพื่อไปรักษาคน ชุมชน และสังคม แต่ก็เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และคงไม่สามารถทำโดยลำพังได้ ขณะนี้จึงกำลังพิจารณามองหาพาร์ทเนอร์ มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีคณะแพทย์ โดยทางกลุ่มอาจเข้าไปเสริมทีมแพทย์เพื่อการเรียนการสอน และต่อเนื่องกับเครือข่ายธุรกิจโรงพยาบาลที่ทำอยู่ให้ครบวงจร “ทุกวันนี้เราก็พัฒนาแพทย์ ด้วยการส่งไปอบรมในต่างประเทศ ล่าสุดไปดูงานที่อินเดียมา มหัศจรรย์มาก ที่อินเดียการแพทย์เจริญ หมอส่วนใหญ่มาจากอังกฤษและอเมริกา และมีประสบการณ์สูงเพราะทำเคสผ่าตัดและส่องกล้องยากๆ เป็นร้อยๆ เคสในแต่ละวัน ซึ่งอินเดียมีประชากรเยอะ เขาต้องบริการให้เพียงพอ ทำให้หมอที่นี่เก่งและประสบการณ์สูง” ดร.สาธิต กล่าวด้วยว่าการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาเพิ่งดำเนินการมาได้เพียง 40% ของความตั้งใจเท่านั้น หนทางสู่การให้บริการทางการแพทย์ของพริ้นซิเพล เฮลธ์แคร์ ยังอีกยาวไกล เขายังมีไฟ มีความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ โดยมีคุณพ่อเป็นทั้งแรงบันดาลใจ และที่ปรึกษาชั้นดีที่ยังคงช่วยประเมินคุณภาพโรงพยาบาลของเขาในทุก 4 เดือนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพราะทำด้วยใจและพร้อมที่จะส่งต่อความรู้สู่ทีมแพทย์รุ่นหลัง ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็ม "สาธิต วิทยากร ลูกไม้ใต้ต้นธุรกิจโรงพยาบาลในนาม “พริ้นซิเพิล” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine