สมิต ทวีเลิศนิธิ ปรุงนิธิฟู้ดส์ให้ถึงพันล้าน - Forbes Thailand

สมิต ทวีเลิศนิธิ ปรุงนิธิฟู้ดส์ให้ถึงพันล้าน

ทายาทรุ่นสองผู้มาสร้างตำรับใหม่ให้แก่ธุรกิจผลิตสินค้าเครื่องเทศและสินค้าเกษตรแปรรูปของครอบครัวที่เชียงใหม่ หวังมุ่งสู่การทำรายได้แตะพันล้านบาทภายในปี 2563 ปรุงกิจการให้เข้มข้นขึ้นด้วยการก่อตั้งสถาบันวิจัยรสชาติอาหาร

เมื่อการค้าส่งพืชผักที่ปากคลองตลาดไม่ใช่อนาคตที่สดใสสำหรับการหาเลี้ยงครอบครัว กอบชัย ทวีเลิศนิธิ จึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปเริ่มทำการค้าพืชผลการเกษตร ณ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2532 ก่อนขยับขยายสู่การตั้งโรงงานอบลำไยเอี่ยมกสิกิจ กระทั่งเข้าสู่เส้นทางธุรกิจเครื่องเทศอบแห้งจนยึดเป็นสายอาชีพหลักที่เน้นผลิตกระเทียมผงและกระเทียมเจียวป้อนอุตสาหกรรมอาหารในนาม บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด เมื่อปี 2541 จากคำแนะนำของน้องชายอย่าง สุรพล ทวีเลิศนิธิ ผู้เคยทำงานกับบริษัทจำหน่ายเครื่องปรุงรสมาก่อน จนเมื่อปี 2551 ที่สุรพล ผู้เป็นอาของ สมิต ทวีเลิศนิธิ วัย 38 ปี ต้องการวางมือจึงส่งไม้ต่อให้แก่ลูกชายคนโตของผู้ก่อตั้งและทายาทรุ่น 2 เป็นผู้ยกระดับองค์กรให้เติบโตยิ่งกว่าในอดีต
สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ในวัย 38 ปี
สมิตมีพื้นฐานการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมอุตสาหการจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ The University of North Carolina at Chapel Hill พ่วงด้วยประสบการณ์ทำงานทั้งในสายไอทีและการเงินที่สหรัฐอเมริกา “วันที่พ่อโทรมาถามว่าอยากให้กลับมาช่วย ผมใช้เวลาตัดสินใจแค่ 3 นาทีเอง” สมิตกล่าว และถึงแม้โจทย์ที่ครอบครัวมอบให้กรรมการผู้จัดการคนใหม่ในวันนั้นมีเพียงให้ดูแลกิจการที่กำลังไปได้สวยอยู่แล้วให้เดินไปแบบตลอดรอดฝั่ง แต่ก็มีความท้าทายคือทำอย่างไรให้นิธิฟู้ดส์เติบโตอย่างมั่นคงให้ได้ ดันมูลค่าสู้คู่แข่ง เมื่อตั้งหลักได้สมิตก็มุ่งแนวทางต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยยกระดับเครื่องเทศคุณภาพสูงและสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ ให้ออกมาเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ทางออกที่จะขยายธุรกิจจึงเป็นการต่อยอดไปยังสินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรสอาหาร ที่มาในรูปแบบและรสชาติที่แตกต่างจากเจ้าตลาด “ถ้าเราจะมัวแต่ขายเครื่องเทศแบบเดิมๆ ก็คงสู้สินค้าที่มาจากจีน อินเดีย หรือแม้แต่เวียดนาม ที่ราคาถูกมากๆ ไม่ไหว จึงต้องหาทางออกว่าทำอย่างไรเราจะหารายได้หล่อเลี้ยงกิจการในระยะยาว ผมจึงเลือกที่จะเดินในเส้นทางผลิตเครื่องปรุงรสตามแผนธุรกิจที่ผมกำหนดเอง”
โรงงานผลิตนิธิฟู้ดส์ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ฮอด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
ในส่วนแนวทางการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น สมิตเล่าว่าสำหรับตลาดในประเทศจะกระจายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่าย 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือส่งสินค้าให้โรงงานอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ส่วนสินค้ากลุ่มผู้บริโภค ภายใต้แบรนด์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นนั้น มีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ และร้านค้ามินิมาร์ทตามต่างจังหวัด รวมทั้งหมดกว่า 150 แห่งทั่วประเทศ “รายได้หลักกว่า 95% ยังมาจากธุรกิจจำหน่ายเครื่องเทศส่งโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลืออีก 5% มาจากกลุ่มสินค้าที่เป็นแบรนด์ของบริษัททั้ง 3 แบรนด์ แต่เราต้องการให้รายได้จากทั้งสองฝั่งที่อยู่ 50:50 ในอนาคต” สำหรับการส่งออกที่เริ่มเมื่อปี 2556 นั้น สมิตเล่าว่ามีการส่งออกทั้งในมาเก๊า ไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ และจำหน่ายบนเว็บไซต์ Amazon ในสหรัฐฯ “กระนั้นรายได้จากการส่งออกก็ยังเบาบางมากเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศ โดยครองสัดส่วนเพียง 3% ของรายได้รวมเท่านั้น และเช่นกันที่เราอยากให้รายได้จากทั้งในและต่างประเทศอยู่ที่อัตรา 50:50” แจ้งเกิด 3 แบรนด์ Urban Farm คือตราสินค้าแรกของนิธิฟู้ดส์ในปี 2554 โดยยึดแนวคิดการนำของคุณภาพดีจากฟาร์มไปให้คนในเมืองได้รับประทาน แจ้งเกิดด้วยผลิตภัณฑ์ผักอบแห้งตรา Urban Farm โดยเริ่มนำไปเสนอเข้าห้างเล็กๆ ก่อน แล้วจึงเดินหน้าพัฒนาสินค้ากลุ่มที่ 2 นั่นก็คือ ซอสผงปรุงรสข้าวอบตรา Urban Farm หลากหลายรสชาติ ได้แก่ ข้าวอบกระเทียมเห็ดหอม ข้าวอบผงกะหรี่ ข้าวอบต้มยำ ข้าวอบแกงเขียวหวาน เป็นต้น ใช้สำหรับทำข้าวผัดในหม้อหุงข้าว หลังจากนั้น สมิตเริ่มพัฒนาสินค้าใหม่เป็นซอสผงข้าวผัดตรา Pocket Chef ปรับเป็นซองขนาดเล็ก สามารถทำรับประทานได้ 1-2 ที่ ไม่ต้องเตรียมเครื่องปรุงหลายอย่าง ซึ่งเมื่อนำสินค้าตัวนี้ไปออกงานแสดงสินค้า ส่งผลให้ Trader/Exporter สนใจและเริ่มมีการส่งออกไปยังประเทศจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม และเยอรมนี
ผลิตภัณฑ์ดาวเด่นภายใต้แบรนด์ที่นิธิฟู้ดส์สรรค์สร้างขึ้นเอง
สำหรับสินค้าอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังเติบโตนั่นก็คือ East Kitchen ซึ่งเป็นสินค้าประเภทผงเครื่องแกง ผงผัด เกิดจากแนวคิด “ผมจะทำอาหารเอเชียให้คนทั้งโลกปรุงได้อร่อย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลกก็ตาม” ซึ่งสมิตเล่าว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์มาจากข้อสังเกตที่ว่าอาหารไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกผลิตออกมาให้คนต่างชาติสามารถปรุงและรับประทานได้ง่ายๆ จึงออกมาเป็นสินค้า East Kitchen ที่ช่วยตอบโจทย์ให้กับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่อาจไม่รู้วิธีการทำอาหารไทยให้อร่อย ด้วยการใช้ผงเครื่องแกงหรือผงผัด East Kitchen เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องปรุงเพิ่มก็ทำอาหารไทยได้และมีหลากหลายรสชาติ เช่น รสกะเพรา แกงกะหรี่ญี่ปุ่น ต้มยำ ต้มข่าไก่ เป็นต้น ปั้นงาน R&D ปั่นรายได้ นับจากปี 2554 ที่ริเริ่มแจ้งเกิดแบรนด์สินค้าของบริษัท จนถึงปี 2560 มีผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาแล้วรวม 160 รายการ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ขับเคี่ยวมาเกือบ 6 ปี ทางบริษัทจึงมองว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในแวดวงอาหารที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองแต่ขาดแคลนทรัพยากรและประสบการณ์ โดยการตั้งสถาบันวิจัยรสชาติอาหาร บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ขึ้นเมื่อต้นปี 2560 เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนี้ และยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้แก่นิธิฟู้ดส์ด้วย “เราเคยลองผิดลองถูกมาก่อน จากที่เคยเอาวัตถุดิบทุกอย่างมาใส่ผสมรวมกันในกระบะ จนพัฒนามาถึงตอนนี้ก็อยากช่วยแบ่งปันกับผู้ประกอบการอื่นๆ ให้เขาไม่ต้องเริ่มจากศูนย์” สำหรับขอบข่ายด้านบริการพัฒนารสชาติให้สินค้านั้น สมิตเล่าว่าครอบคลุมในเรื่องวิจัยรสชาติอาหาร ผลิตผงปรุงรส ผลิตซอสปรุงรสและกระบวนการบรรจุ ขณะที่บริการต่อยอด ได้แก่ ขออนุญาต อ.ย. ออกแบบฉลาก กระบวนการลดต้นทุน และการปกป้องสูตรอาหาร ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นโบแดง เช่น ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอายุการเก็บที่นานขึ้นในอุณหภูมิปกติโดยที่คุณภาพไม่เปลี่ยน หรืออีกผลงานคือซุปก๋วยเตี๋ยวแบบผงเข้มข้น ไม่ต้องใช้เวลาในการเคี่ยวซุปนาน 6 ชั่วโมง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บและจัดส่งให้กับร้านสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ลดของเสียที่เหลือจากการขายไม่หมด โดยที่ผลิตภัณฑ์ซุปผงที่พัฒนาขึ้นมานั้นมีรสชาติที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยไม่ใช้ผงชูรส https://www.instagram.com/p/BfTOmxWFo_0/?utm_source=ig_embed ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อันดับแรกคือโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีความต้องการวัตถุดิบเครื่องเทศ ผงปรุงรส หรือรสชาติอาหารใหม่ๆ อันดับที่ 2 คือกลุ่มร้านอาหารที่มีระบบการจัดการแบบครัวกลาง (chained restaurants) บริการของบริษัทน่าจะสามารถช่วยให้ร้านอาหารจัดการระบบในครัวได้เร็วขึ้น พร้อมกับมีความสม่ำเสมอของรสชาติ “เรากำลังเตรียมการทำเรื่องที่ใหญ่มากขึ้น คือ ปฏิวัติการเพาะปลูกเกษตรในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการลดต้นทุนการเพาะปลูก ...โดยมีการจัดตั้งทีม Farming of the Future หรือทีมเกษตรแห่งอนาคตที่หวังจะทำให้วงการเกษตรไทยเกิดการพัฒนาผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างนิธิฟู้ดส์และเกษตรกร ในอนาคตถ้าถามถึงเรื่องกระเทียมต้องนึกถึงบริษัท นิธิฟู้ดส์ ให้ได้ครับ” ภาพ: นิธิฟู้ดส์
ติดตาม "สมิต ทวีเลิศนิธิ ปรุงนิธิฟู้ดส์ให้ถึงพันล้าน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine