ปทุมพร ตรีวิศวเวทย์ บุตรสาวคนสุดท้องของ วรเทพ วงศาสุทธิกุล ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมยางพาราของไทย กับบทบาทซีอีโอของ “บริษัท เลเท็กซ์ ซิสเทมส์ จำกัด (มหาชน)” ธุรกิจครอบครัวที่วันนี้กำลังถูกเดิมพันครั้งสำคัญทั้งการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการดันบริษัทขึ้นสู่ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนอนยางพาราธรรมชาติ 100% เบอร์ 1 ของไทย
“เราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับยางพารารวมถึงกระบวนการต่างๆ ในโรงงานมาก่อนเลย เป็นลูกคนเดียวที่พอเรียนจบแล้วไม่ได้ยุ่งเกี่ยวธุรกิจครอบครัวตั้งแต่แรก เราเป็นสาวออฟฟิศในเมือง เลยนึกภาพไม่ออกว่าการต้องเข้ามาดูหน้างาน ควบคุมการผลิตภายในโรงงานกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางพาราคืออะไร สุดท้ายมันอาจเป็น destiny ก็ได้ ทำให้เราก้าวมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งพ่อมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้ามารับหน้าที่นี้” ปทุมพรเอ่ยกับ Forbes Thailand เป็นประโยคแรก บนอาณาจักรผลิตเครื่องนอนยางพาราธรรมชาติ 100% ขนาดใหญ่กินเนื้อที่หลายสิบไร่ ใน ต.หอมศีล อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมเล่าว่าครอบครัว “วงศาสุทธิกุล” (นามสกุลเดิมของเธอ) เชี่ยวชาญเรื่องน้ำยางพารามาตั้งแต่ยุคพ่อ คือ วรเทพ วงศาสุทธิกุล ที่ปัจจุบันเป็นนายกกิตติมศักดิ์สมาคมน้ำยางข้นไทย และอุปนายกสมาคมยางพาราไทย รวมถึงเป็นประธานกรรมการ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB บริษัทแม่ของเลเท็กซ์ฯ “ปัจจุบันพี่ชายคนโต (ภัทรพล วงศาสุทธิกุล) รับหน้าที่ดูแล TRUBB ร่วมกับคุณพ่อ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ขณะที่เลเท็กซ์ฯ เอง ต้องหาคนที่ไว้ใจได้เพื่อเข้ามาทำให้ธุรกิจเดินต่อไป...”จุดเริ่มต้นของ “เลเท็กซ์ฯ”
ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของธุรกิจเครื่องนอนภายใต้ บริษัท เลเท็กซ์ ซิสเทมส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LS จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทฯ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2546 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 4 ล้านบาท โดยนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสลงทุนในสัดส่วน 49% และนักลงทุนชาวไทย 51% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายที่นอนที่ผลิตจากน้ำยางพาราธรรมชาติ มีโรงงานตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ด้วยกำลังการผลิตที่นอนมากกว่า 18,000 ชิ้นต่อปี ต่อมากิจการของบริษัทฯ ภายใต้การบริหารของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม (ชาวฝรั่งเศส) ประสบปัญหาทางการเงิน จึงได้ติดต่อให้วรเทพและกลุ่มนักลงทุน ที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจและน้ำยางข้น เข้ามาฟื้นฟูกิจการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 และสานต่อธุรกิจที่ขณะนั้นมีทิศทางไปได้อีกไกล จึงทำการเพิ่มทุนเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตสินค้าแห่งใหม่ที่ ต.หอมศีล อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา (ที่ตั้งของบริษัทเลเท็กซ์ฯ ในปัจจุบัน) และขยายโรงงานใน จ.ระยอง อีกหนึ่งแห่ง โดยยุบโรงงานที่ลาดกระบังลง ปัจจุบัน TRUBB ถือหุ้นในบริษัทเลเท็กซ์ฯ ในสัดส่วน 56.17%ปรับทัพรุกตลาดเครื่องนอนเต็มสูบ
ธุรกิจของเลเท็กซ์ฯ ภายใต้การนำของเธอ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ธุรกิจผลิตที่นอน หมอน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แบบไม่ติดตราสินค้า หรือ Non-Brand โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2560) กลุ่มธุรกิจ Non-Brand ถือเป็นธุรกิจหลักของบริษัท มีสัดส่วน 95.76% ของรายได้จากการขายรวม เน้นค้าส่งให้ผู้ประกอบการประกอบที่นอนทั้งในไทยและต่างประเทศ 2. ธุรกิจผลิตที่นอน หมอน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้แบรนด์ของบริษัท หรือเรียกว่าธุรกิจ Brand ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2560) มีสัดส่วน 4.24% ของรายได้จากการขายรวม ปัจจุบันมี 4 แบรนด์ ได้แก่ Latex System, Sleepertist, TNF และ Nap&Night โดยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่ม “เรือธง” สำคัญของปทุมพร ที่เธอมองว่ามีโอกาสทำรายได้อีกมหาศาล “ตัวที่จะเป็นนางเอกของเราคือแบรนด์ Sleepertist เป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมที่เราจะทำตลาดเอง และส่งออกไปต่างประเทศด้วย เป็นตัวชูโรงบุกไปยุโรป อเมริกา รวมถึงในเอเชียด้วย เป็นแผนที่มองไว้อีกสัก 2 ปีข้างหน้า...” ขณะที่ Latex Systems บริษัทเน้นเป็นแบรนด์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ที่อยากได้แบรนด์ของบริษัทไปติดที่ตัวสินค้า ส่วน TNF ถือเป็นแบรนด์สำหรับลูกค้าระดับกลาง ปิดท้าย Nap & Night เป็นสินค้าราคาประหยัดส่องแผนใหญ่ขยายลงทุน
แผนใหญ่ที่ถือเป็น “Think Big” ของบริษัทเลเท็กซ์ฯ ภายใต้การนำของปทุมพรคือ การดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะระดมทุนช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 นับเป็นเดิมพันครั้งสำคัญ เพื่อเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตผ่านการลงทุนเพิ่มในโครงการ ได้แก่ โครงการลงทุนซื้อโรงงานผลิตหมอนยางพาราใน จ.ระยอง มูลค่าลงทุน 243 ล้านบาท และได้ตกลงซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกจำนวนประมาณ 13 ไร่ ใช้เงินลงทุนรวม 109 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเพื่อปรับปรุงสายการผลิตหมอน สายการผลิตที่ 1 และลงทุนติตตั้งสายการผลิตที่ 2 อีกประมาณ 133 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตหมอนยางพารา รวมถึงยังมีแผนลงทุนอาคารโชว์รูม “flagship” สำหรับแสดงสินค้าของบริษัทในกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยวที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 50 ล้านบาทชูคุณภาพ “น้ำยางพารา”
สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของบริษัทเลเท็กซ์ฯ คือ คุณภาพของน้ำยางพาราที่เป็นธรรมชาติ 100% ไม่ผสม เป็นสิ่งที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทมาอย่างยาวนาน “เราไม่เคยลดสเปกน้ำยางพาราจากซัพพลายเออร์ลง สเปกที่เราขอต้องได้ แน่นอนว่าซัพพลายเออร์ของเราซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้ โดยเฉพาะใน จ.สุราษฏร์ธานี ก็มีความพร้อมมาก ทำให้เราไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพของน้ำยางพารา จุดแข็งมากๆ ของเราคือ ยางพาราคุณภาพดี กลิ่นธรรมชาติมากที่สุด ไม่เหม็น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นเรามาก”- KUN 'เฟอร์นิเจอร์อะลูมิเนียม' แบรนด์ไทย หันบุกผู้บริโภครายย่อย หวังยอดขายโต 20%
- สุวรรณา เอี่ยมพิกุล 'เซียงเพียว' ส่งสรรพคุณไกลในอาเซียน
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม "ปทุมพร ตรีวิศเวทย์ เนรมิต "ยางพารา" สู่งาน "เครื่องนอน" ระดับเวิลด์คลาส" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine