น้ำตาลบุรีรัมย์พลิกผืนดินที่ราบสูงขับเคลื่อนธุรกิจพันล้าน เดินหน้าผนึกกำลังเกษตรกรนับหมื่น เนรมิตเมืองน้ำตาลครบวงจร พร้อมรุกธุรกิจพลังงานทดแทนสร้างความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
“ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” คือคำกล่าวที่สะท้อนภาพอาณาจักรไร่อ้อยเนื้อที่กว่าแสนไร่ในจังหวัดบุรีรัมย์ได้อย่างชัดเจน ไร่อ้อยสุดลูกหูลูกตาแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงอู่ข้าวอู่น้ำที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรชาวไร่จำนวน 15,000 ครอบครัวเท่านั้น หากแต่เป็นรากฐานทางธุรกิจที่สำคัญในการผลิตน้ำตาลและต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของกลุ่มบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ทศวรรษ วิเชียร ตั้งตรงเวชกิจ ผู้ค้นพบสมบัติที่ซ่อนอยู่ในดินแดนที่ราบสูงตั้งแต่ปี 2506 และริเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรบุรีรัมย์ทำการเพาะปลูกอ้อย ภายใต้ชื่อโรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาวสีรำส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น กากอ้อย กากหม้อกรอง และกากนํ้าตาล ต่อยอดธุรกิจอย่างครบวงจร ในฐานะผู้บุกเบิกไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขึ้นอยู่กับปริมาณและความสม่ำเสมอของวัตถุดิบอ้อยที่ใช้ผลิตน้ำตาล อนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ยังคงระลึกถึงวันที่รับช่วงธุรกิจต่อจากบิดา “สมัยก่อนเกษตรกรทำไร่อ้อยขาดทุน ผมออกจากบ้านก็ไม่มีความสุข ไม่กล้ามองหน้าใคร ผมจึงกลับมานั่งคิดหาวิธีการพยายามให้เขาได้กำไรและมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น ด้วยการร่วมกับชาวไร่อ้อยพัฒนาโปรแกรม และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงการรวมใจชาวไร่อ้อยนับหมื่นครอบครัว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้อาชีพ” อนันต์ กล่าว อนันต์ มุ่งมั่นเดินหน้าตามปรัชญา “น้ำตาลสร้างในไร่” ด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มผลตอบแทนต่อไร่ให้เกษตรกร ด้วยเทคโนโลยีและการจัดการอย่างใส่ใจที่มาใช้ในพื้นไร่ ท้องทุ่งซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการผลิต อาทิ การก่อตั้ง บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จํากัด หรือ BRD สนับสนุนด้านวิชาการและการจัดการอ้อย นักส่งเสริมการปลูกอ้อย การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) การสร้างอากาศยานไร้คนบังคับหรือ UAV สำหรับสำรวจไร่อ้อยที่ความสูง 300 เมตร “ไร่อ้อยทุกแปลงของเรามีการลงทะเบียนและเข้าระบบออนไลน์ ทั้งเราและเกษตรกรสามารถเปิดดูข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ ทุกเวลา เช่น วันที่ปลูก วันที่เก็บเกี่ยวผลผลิต พันธุ์อ้อยที่ปลูก ความหวานในขณะนั้นคำนวณเป็นจำนวนเงินได้เท่าไหร่ หรือ การบำรุงรักษาในช่วงเวลานั้นเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่”อนันต์ กล่าวถึงการบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วโลกเดินทางเข้าศึกษาดูงานในอาณาจักรน้ำตาลบุรีรัมย์ ในที่สุดความเพียรพยายามของ อนันต์ ได้สะท้อนกลับมายังผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตเริ่มต้น 3,003 ตันอ้อย/วัน กลายเป็น 22,000 ตันอ้อย/วัน พร้อมจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวสีรำในประเทศ และส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปยังต่างประเทศ และจากกระบวนการผลิตน้ำตคาลได้ต่อยอดความหวานสู่พลังงาน สู่โรงงานปุ๋ยและโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลต้นแบบโรงแรกของประเทศไทยที่จำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) ได้แก่ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC)ที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าชีวมวล บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด (KBF) ดำเนินธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากกากหม้อกรอง (ตะกอน) กำลังการผลิตประมาณ 30,000 ตัน/ปี เพื่อให้ชาวไร่นำไปใช้ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตต่อไร่อ้อยสูงขึ้น และช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกของชาวไร่ได้ ในปัจจุบันผลการดำเนินงานของ น้ำตาลบุรีรัมย์ สามารถสร้างรายได้ในปี 2557 จำนวน 3.95 พันล้านบาท และกำไรสุทธิ 235.97 ล้านบาท ภายใต้สินทรัพย์รวม 5.38 พันล้านบาท ในอนาคต อนันต์ปั้นฝันเมืองน้ำตาล เตรียมทุ่มงบลงทุนจำนวนมากกว่า 1 พันล้านบาท ให้กับก้าวต่อไปของ น้ำตาลบุรีรัมย์ ทั้งด้านธุรกิจน้ำตาลและพลังงานทดแทน สำหรับธุรกิจน้ำตาล การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งที่ 3 ภายใต้ชื่อ บริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์พลัส จำกัด โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจและเกษตรกร “เราเชื่อในปรัชญา น้ำตาลสร้างในไร่ และต้องการสร้างรากฐานทางอาชีพที่มั่นคงให้เกษตรกร เราพยายามทำธุรกิจให้เป็น zero waste ด้วยการใช้ประโยชน์ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆ ในอนาคตเราอยากสร้างน้ำตาลบุรีรัมย์ให้เป็นเหมือน sweetness area เมื่อเข้ามาในเมืองของเราจะพบกับโซนต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่า น้ำตาลสามารถกระจายไปยังผลิตภัณฑ์อื่นหรือธุรกิจอื่นได้อย่างไร”คลิ๊กอ่าน "“น้ำตาลสร้างในไร่” ทรัพย์ในดินแห่งบุรีรัมย์" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ OCTOBER 2015