จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของคู่สามีภรรยาที่ดิ้นรนสู้ชีวิตหลังสิ้นเนื้อประดาตัวจากเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านมาสู่แบรนด์เครื่องปรุงรสอาหารไทยที่สร้างชื่อกว่าครึ่งศตวรรษ
วันนี้ รัฐพงษ์ วัฒนาพร ทายาทรุ่น 3 วัย 39 ปี บริษัทอุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด กำลังคร่ำเคร่งจัดทัพ “พันท้ายฯ” เข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชนด้วยเป้ามาร์เก็ตแคป 2-3 หมื่นล้านบาทภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ผลงานวิจัยหลายสำนักที่ระบุธุรกิจครอบครัวกว่า 95% ไม่สามารถอยู่รอดและส่งต่อผ่านไปถึงทายาทรุ่นที่ 4 เกือบจะเป็นเรื่องจริงในยุคของ รัฐพงษ์ วัฒนาพร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด หากว่าพ่อของเขา สมเกียรติ วัฒนาพร ผู้นำธุรกิจในรุ่น 2 ของครอบครัวพันท้ายฯ ซึ่งประสบความสำเร็จในการสานต่อธุรกิจจากผู้ก่อตั้งรุ่นแรก ประสบความล้มเหลวในการ “ดัดนิสัย” ลูกชายคนเดียวของเขาให้พ้นจากการเป็น “เด็กเกเร” ที่เกือบจะเรียนไม่จบในระดับอุดมศึกษา สมเกียรติ วัฒนาพร จึงตัดสินใจส่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนไปฝึกงานกับลูกค้าที่ทำธุรกิจแวร์เฮ้าส์นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าจากเอเชียในสหรัฐฯ เพื่อให้ลิ้มชิมความลำบาก หลังพบว่ารัฐพงษ์เรียนมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญไปแล้ว 2 ปีโดยที่ยังไม่ได้เกรดแม้แต่วิชาเดียว “คุณพ่อเป็นคนฉลาดอีกคนหนึ่ง...มองการณ์ไกล แรกๆ ผมโกรธเขานะเพื่อนๆ ผมได้ไปเรียนต่ออังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย แล้วทำไมเขาถึงส่งเราไปลำบาก” รัฐพงษ์ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาดูแลธุรกิจพันท้ายฯ อย่างเต็มตัวในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ รับผิดชอบธุรกิจส่งออกที่ทำรายได้เกินครึ่งให้กับบริษัทกล่าวกับ Forbes Thailand รัฐพงษ์กล่าวครอบครัวพันท้ายฯ มีสายสัมพันธ์เป็นเวลายาวนานกับคู่ค้าในต่างแดนซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 300 รายใน 5 ตลาดหลัก ได้แก่ อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย จีน ในจำนวนนี้ ประมาณ 80-90% เป็นชาวเอเชียที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศ “จริงๆ (พันท้าย) เพิ่งกลับมาในประเทศ 10 กว่าปีนี้เอง” รัฐพงษ์กล่าวเปิดตำนาน “พันท้ายฯ” กว่าจะมาเป็นธุรกิจที่มียอดขาย2 พันกว่าล้านบาทต่อปี พันท้ายฯ เริ่มตำนานจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของรุ่นปู่ เมื่อ “สมศักดิ์-สุรีย์” ที่ประสบโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในชีวิตเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งบริเวณใกล้กับตลาดท่าฉลอม จ.สมุทรสาคร ซึ่งพระเพลิงได้ลามมาไหม้ตลาดและบ้านเรือนในบริเวณนั้นรวมถึงบ้านของเขาจนหมดสิ้น ทำให้ต้องอพยพที่อยู่อาศัยเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทอดข้าวเกรียบขาย แต่หลังจากที่ขายดิบขายดีก็เริ่มโดนลอกเลียนแบบ ทั้งสองจึงคิดหาวิธีสร้างความแตกต่างโดยทำน้ำพริกเผาแถมมาให้ลูกค้าเพื่อให้ใช้จิ้มกินกับข้าวเกรียบ จนมาวันหนึ่งมีคนขอซื้อน้ำพริกนี้เพื่อไปคลุกกินกับข้าว สุรีย์จึงเกิดไอเดียในการนำเอาของที่เคยแจกฟรีๆ ไปบรรจุขวดขาย จากนั้นน้ำพริกตัวที่ 2 ถือกำเนิดตามมาติดๆ เมื่อสุรีย์ได้ฟังเรื่องเล่าจากคนข้างบ้านที่เพิ่งออกจากคุกว่ามีความยากลำบากต้องกินข้าวแดงคลุกกับ “น้ำพริกนรก” ซึ่งทำจากพริกทอดกับน้ำมันและมีรสเผ็ดมาก หลังจากนั้นสุรีย์ก็ได้คิดสร้างสรรค์น้ำพริกสูตรอื่นๆ อีกมากมาย เช่น น้ำพริกสวรรค์ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกพญาโศก ฯลฯ แต่สินค้าก็ยังเป็นที่รู้จักในนามของ “น้ำพริกหน้าโรงบาล” จึงเกิดความคิดสร้างตราสินค้าโดยไปเอาหัวเรือสุพรรณหงส์มาขอจดเป็นชื่อยี่ห้อ แต่ไม่ผ่านเพราะมีผู้มาขอจดไว้ก่อนแล้ว จึงตัดสินใจใช้ชื่อ “พันท้ายนรสิงห์” จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของแบรนด์พันท้ายฯ ในปี 2505 ธุรกิจครอบครัวนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งมียอดขายประมาณปีละ 300 กว่าล้านบาทเท่านั้น จนกระทั่ง 15-16 ปีที่แล้วที่รัฐพงษ์ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามามีส่วนร่วมบริหารงานร่วมกับคุณพ่อและคุณลุง (สมเกียรติและสุนทร) พันท้ายฯ จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตขนาดกลางที่มียอดรายได้กว่า 2 พันล้านบาทที่มีกำไรและผลประกอบการมั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็มของ "ก้าวที่กล้าของพันท้ายฯ" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กรกฎาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine
