ประสบการณ์ที่สั่งสมในบริษัทข้ามชาติผสานกับคอนเนคชั่นอันแข็งแกร่งจากบริษัทยักษ์ใหญ่กว่า 17 ปี กลายเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้นสำคัญของอาณาจักรเทรดดิ้งที่ทลายกรอบสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบพร้อมเบนเข็มยังเส้นทางการเป็นผู้ผลิตกาวลาเท็กซ์ เติมเต็มดีมานด์ต่างแดน
เส้นทางธุรกิจที่ไม่จำกัดโอกาสการเติบโตเฉพาะการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ให้กับบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน ด้วยความมุ่งมั่นขยายธุรกิจให้แข็งแกร่งมั่นคงในระยะยาว นับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจก้าวออกจากบริษัทสัญชาติอเมริกันในประเทศไทย เพื่อเริ่มต้นสร้างอาณาจักรของตัวเองในปี 2538 ด้วยความมั่นใจในประสบการณ์ ความรู้ และ ความสามารถที่สั่งสมร่วม 17 ปี
“ผมทำงานกับบริษัทต่างประเทศในธุรกิจเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมี และพลังงานตั้งแต่ยังเป็นเซลล์ จนเป็นผู้จัดการทั่วไปและกรรมการบริษัท ตอนนั้นเราอายุ 40 ปีและคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้นใหม่ในธุรกิจที่เราเคยทำ รวมถึงรู้จักกับลูกค้าอย่าง ปตท.ปูนซีเมนต์ เป็นกลุ่มลูกค้าเริ่มแรก เราพยายามหาสินค้าเพิ่มเติมจนได้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้รายใหญ่จากต่างประเทศอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกจำนวนมาก” กิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) เล่าถึงก้าวแรกที่เริ่มต้นบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมีคัลส์ จำกัด ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นยูเอซีในภายหลัง เพื่อนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อปี 2553
ในช่วงที่บริษัทกำลังสร้างรายได้ทะยานสู่ 800 ล้านบาท กิตติมองเห็นสัญญาณอันตรายของการเป็นตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าที่ต้องอาศัยความแข็งแกร่งของผู้ผลิตจากต่างประเทศ ทศวรรษต่อมาของบริษัทจึงเป็นการต่อยอดโอกาสด้านพลังงานช่วงปี 2549 โดยเฉพาะพลังงานทดแทน จับมือกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียมด้วยการถือหุ้น 30% ในบริษัท บางจากไบโอฟูเอลจำกัด (BBF) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลที่บางปะอิน อยุธยาโดยมีกำลังการผลิตเริ่มแรก 360,000 ลิตรต่อวัน และลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตอีก 450,000 ลิตรต่อวัน
“แม้ธุรกิจจะเติบโตทำกำไรมาตลอด 10 ปีแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างการซื้อขายควบรวมบริษัทต่างประเทศ และการแข่งขันของผู้ผลิต ทำให้เรามองธุรกิจเทรดดิ้งไม่ยั่งยืน และเริ่มสนใจการเป็นผู้ผลิตซึ่งขณะนั้นบางจากที่เป็นลูกค้ากำลังสนใจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะเอทานอลและไบโอดีเซล จึงชวนเราลงทุนถือหุ้น 30% ถึงทุกวันนี้” กิตติ ยังคงระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในวันนี้
เบิกทางสู่ธุรกิจพลังงาน
จากนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนของภาครัฐและความรู้ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมผ่านการทำงานร่วมกับกลุ่มบางจาก กิตติ มั่นใจเดินหน้าธุรกิจพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง ด้วยการจับมือกับพันธมิตรฟาร์มเลี้ยงสุกรขนาดกลางจำนวนกว่า 30,000 ตัว เริ่มต้นโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง (Compressed Bio-methane Gas หรือ CBG) ที่แม่แตง เชียงใหม่ โดยนำของเสียจากฟาร์มหมูผสมกับหญ้าเนเปียร์ที่ชาวไร่ปลูกเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตเชื้อเพลิงในรถยนต์ทดแทนการใช้ก๊าซ NGV กำลังการผลิตประมาณ 6 ตันต่อวันหรือ 2,160 ตันต่อปี
“เรามองว่าธุรกิจทางด้านการผลิตน่าจะมาถูกทาง เราจึงตัดสินใจนำ UAC เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ โดยเริ่มโครงการก๊าซชีวภาพจากของเสียฟาร์มสุกรที่เชียงใหม่เป็นโครงการแรก ช่วงนั้นรายได้น่าจะประมาณ 700-800 ล้านบาท เพราะโรงไฟฟ้าขนาดไม่ใหญ่จำนวนไม่มาก จากนั้นเราจึงเริ่มขออนุญาต PPA ผลิตไฟฟ้าด้วย”
กิตติ กล่าวถึงการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อปี 2553 ชื่อย่อ UAC เพื่อระดมทุนเดินหน้าธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ ก่อนจะเตรียมย้ายสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทยังขยายธุรกิจพลังงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพโดยใช้พืชพลังงานหรือหญ้าเนเปียร์ การก่อสร้างโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Petroleum Production Plant หรือ PPP) การเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่สุโขทัย รวมถึง ยังลงทุนในการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop)
“เรายังเห็นโอกาสน่าสนใจจากการนำก๊าซบ่อน้ำมันที่ถูกเผาทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์มาศึกษาอย่างจริงจังและตัดสินใจสร้างโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าที่สุโขทัยเพื่อผลิตแก๊ส NGV ใช้กับรถยนต์ LPG ใช้ในการหุงต้ม ผลิตสารละลายโซลเวนท์ในอุตสาหกรรมเคมี และผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรวมถึงโครงการลงทุนพลังงานในต่างประเทศ “เราศึกษาโครงการลงทุนพลังงานต่างประเทศนานพอสมควร ทั้งเมียนมา ลาว เวียดนาม และญี่ปุ่น เราเตรียมไว้หมดแล้วขึ้นอยู่กับว่าจะเริ่มก่อสร้างและดำเนินการอย่างไร โดยน่าจะได้เห็นเป็นเรื่องเป็นราวที่ลาวและเวียดนามในปีนี้ เราเน้นการจับมือกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น ซึ่งต้องกลั่นกรองให้มั่นใจว่าเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดี”
เดินเครื่องผลิตเคมีภัณฑ์
บนเส้นทางธุรกิจพลังงานที่ทอดยาวทั้งในไทยและกลุ่มประเทศ CLMV กิตติยังคงสนใจทุกโอกาสสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้กับอาณาจักร UAC โดยเฉพาะการเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ซึ่งเติบโตสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการและปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ด้วยการจดทะเบียนจัดตั้ง
บริษัทยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลีเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ หรือ
UAPC ในปี 2558
สำหรับการดำเนินธุรกิจของ UAPC แบ่งเป็นการผลิตและจัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์อีมัลชั่น โพลิเมอร์ (Emulsion Polymer) หรือลาเท็กซ์ (Latex) แบรนด์ Avacryl ด้วยคุณสมบัติการเป็นตัวประสานให้เกิดแรงยึดเกาะวัสดุหรือเชื่อมรวมวัสดุเป็นเนื้อเดียวกันตามความต้องการ โดยสามารถใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปหลากหลายอุตสาหกรรมเช่น อุตสาหกรรมสีและการเคลือบ อุตสาหกรรมกาวและเทปกาว อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์และการพิมพ์ รวมทั้งให้บริการรับจ้างผลิตเคมีภัณฑ์ประเภทโซลูชั่นโพลิเมอร์
“เราเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่สามารถสร้างกำไรตลอด โดยมองการต่อยอดด้านการผลิต ซึ่งมีหลายอย่างน่าสนใจแต่การขยายธุรกิจต้องใช้เวลาสร้างโรงงานหลายปีกว่าจะผลิตได้ ในช่วงนั้นเราได้พบกับบริษัทผลิตลาเท็กซ์อีมัลชั่นที่ต้องการขายกิจการต่อ เราจึงเข้าซื้อกิจการและเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10,000 ตันต่อปีเป็น 24,000 ตันต่อปีที่นครราชสีมา”
กิตติย้ำถึงความเชื่อมั่นในการเติบโตของธุรกิจเรือธง ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเพิ่มราว 200 ล้านบาททันทีที่ซื้อกิจการ นอกจากนี้ ผู้บริหารวัย 64 ปี ยังเดินหน้าแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 180 ล้านบาทเป็น 240 ล้านบาท พร้อมนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้า โดยเตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก 120 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ต่อหุ้น 0.50 บาท หรือคิดเป็น 36.25% ของทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน
“ธุรกิจการผลิตของเรามีพลังงานและเคมีภัณฑ์คิดเป็นสัดส่วนรายได้รวม 30% และน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ 50% เท่ากับธุรกิจเทรดดิ้งที่ปัจจุบันประมาณ 70% โดยมียอดขายรวมทั้งกลุ่ม 3 พันล้านบาทในปี 2563 จากปีนี้ 2 พันกว่าล้านบาท เราพยายามดึงเคมีภัณฑ์และพลังงานรวมกันให้ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของธุรกิจ”
“กลยุทธ์แต่ละธุรกิจต่างกันมาก เทรดดิ้งต้องเน้นคุณภาพสินค้า ผู้ผลิต ความรับผิดชอบของผู้ผลิต reliability และราคา ส่วนพลังงานมีระยะเวลาตามสัญญาการผลิตไฟฟ้าที่แน่นอน ผู้ซื้อและราคาชัดเจน เราจะทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตต่ำาและได้กำไรขณะที่การผลิตเคมีภัณฑ์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงสุด แต่มีโอกาสอีกมาก เราต้องคิดค้นวิจัยสินค้าให้มีความแตกต่าง พัฒนาคุณภาพ และทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อปรับผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตามความต้องการ”
ด้านหลักการบริหารตลอดระยะเวลามากกว่า 2 ทศวรรษ กิตติเชื่อมั่นในคติ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” โดยพยายามถ่ายทอดและปลูกฝังให้พนักงานในองค์กรเห็นความสำคัญของการรับฟังและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด