TAMCO เก็บเกี่ยวการเติบโตจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถเกี่ยวนวดข้าวที่สร้างรายได้กว่า 400 ล้านบาท พร้อมเร่งเครื่องโดย กิตติศักดิ์ หยกอุบล ทายาทรุ่น 2 ผู้รับช่วงต่อ เล็งเป้าหมายการผลิตสู่ 1,000 คันต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า
จากเงินทุนเริ่มแรกเพียง 80,000 บาทที่เก็บเกี่ยวจากการค้าพืชไร่ของสองพี่น้องนาม สมชัย และ ชนะธัช หยกอุบล แปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจค้าเครื่องจักรการเกษตร ณ เมืองแปดริ้วภายใต้ชื่อบริษัท โรงงานเกษตรพัฒนาฉะเชิงเทรา จำกัด ในปี 2518 ก่อนที่สมชัยจะตัดสินใจย้ายรกรากมาที่ จ. พิษณุโลก ซึ่งเป็นศูนย์กลางระหว่างภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างพร้อมเดินเครื่องกิจการใหม่ภายใต้ บริษัท เครื่องจักรกลเกษตรไทย จำกัด (TAMCO) เพื่อผลิตและจำหน่ายรถเกี่ยวนวดข้าวในปี 2534 โดยมี กิตติศักดิ์ หยกอุบล บุตรชายคนโตวัย 35 ปีของสมชัย เป็นผู้สืบสานธุรกิจต่อจากบิดาและดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปัจจุบัน กิตติศักดิ์ย้อนความหลังในยุคที่เริ่มเข้าสู่กิจการค้ารถเกี่ยวข้าวในสมัยบิดาว่า ธุรกิจดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลไทยในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่วางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ Newly Industrialized Countries (NIC) ประหนึ่งเป็น “เสือตัวที่ 5” ของเอเชีย ทำให้ประเทศไทยในยุคนั้นเริ่มเกิดการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร จึงนำไปสู่การตัดสินใจผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ซึ่งผ่านการลองผิดลองถูกอยู่ราว 3 ปีจึงวางขายได้อย่างเป็นทางการ “หลังจากนั้นเราเล็งเห็นว่าปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานจะเกิดขึ้นในอนาคต เราจึงเริ่มมองหาว่าจะทำอะไรได้บ้าง จนไปพบรถเกี่ยวนวดข้าวที่ตอนนั้นเริ่มนำเข้ามาขายในเมืองไทย จึงนำแนวคิดนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้น แล้วพอเริ่มขายได้ เราก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมา จากราคาขายเพียง 30,000 - 60,000 บาทต่อคัน ในระยะแรก ตอนนี้กลายเป็นราคาประมาณ 2 ล้านบาทต่อคันแล้ว” กิตติศักดิ์กล่าว เขาเล่าต่อว่า แม้ตอนแรกไม่มีความคิดที่จะกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว แต่ด้วยช่วงที่เรียนจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขา Engineering Management (with Merit) จาก Coventry University ประเทศอังกฤษ ก่อนจะเริ่มหางานทำนั้น ได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านและค้นพบว่า แทนที่จะไปเป็นลูกจ้างของบริษัทอื่นเขาควรกลับมาช่วยงานพ่อแม่ที่มีอายุมากขึ้นทุกวัน “ผมมองว่าจะดีกว่าถ้าได้ตอบแทนพ่อแม่ ไม่ใช่เลือกกลับมาทำงานให้กิจการของครอบครัวเพราะง่ายกว่าต้องไปหางานทำ แม้ว่าตอนแรกตั้งใจจะไปหาประสบการณ์จากบริษัทอื่นก่อน แต่เมื่อทำแล้วก็ทำมายาวนานจนถึงวันนี้” ถึงแม้ว่าจะซึมซับประสบการณ์บางส่วนมาตั้งแต่เด็กแต่พอถึงเวลาจริง ก็ยังคงต้องปรับตัวในการทำงานพอสมควร โดยเฉพาะการปรับมุมมองระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็ถือว่าไม่ลำบากมากนักเพราะสมชัยเป็นคนที่เปิดกว้างและพร้อมรับฟัง รวมถึงให้โอกาสลูกได้พิสูจน์ฝีมือและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทายาทคนโตของ “หยกอุบล” เริ่มพิสูจน์ตัวในธุรกิจครอบครัวเมื่อ 11 ปีก่อน จากการเป็นพนักงานฝ่ายจัดซื้ออยู่ 3 ปีแล้วย้ายมารับผิดชอบด้านการผลิตอีกราว 4 ปี จนขึ้นมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการเมื่อ 3 ปีก่อน และได้รับความไว้วางใจจนเลื่อนขั้นเป็นกรรมการผู้จัดการในที่สุดในปัจจุบันกิตติศักดิ์สามารถสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยรายได้มากกว่า 400 ล้านบาท โดยเน้นดำเนินการผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวพร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงเพื่อใช้งานได้หลายรูปแบบจำนวน 3 รุ่น ได้แก่ “ไอ้หนุ่มไวไฟ” (มากกว่า 40 ไร่/วัน) “ปลดหนี้” (30-40 ไร่/วัน) และ “เงินมี” (20-30 ไร่/วัน) ซึ่งที่มาของชื่อแต่ละรุ่นนั้นเกิดจากความตั้งใจที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ใช้งาน นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง กิตติศักดิ์ยังขยายอาณาจักรธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตรไทยจากสำนักงานใหญ่ที่ จ. พิษณุโลก สู่การสร้างเครือข่ายอีก 11 สาขาทั่วประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี พิจิตร อุทัยธานี ขอนแก่น สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จของ TAMCO จากมุมมองของกิตติศักดิ์ คือความซื่อสัตย์กับลูกค้า โดยเฉพาะจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่จะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าผู้ผลิตรายอื่น รวมถึงมีการสื่อสารกับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีข้อมูลและโจทย์ที่สามารถนำมาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ด้วยความพยายามเรียนรู้และมุ่งมั่นของกิตติศักดิ์ ทำให้ธุรกิจก้าวผ่านอุปสรรคมาได้ถึงวันนี้ แต่ก็มีช่วงที่ต้องพบกับความท้าทายหนึ่งในนั้นคือความผิดพลาดของการเลือกชิ้นส่วนจากประเทศเยอรมนีที่นำมาประกอบผลิตภัณฑ์แล้วให้ผลที่ตรงกันข้ามกับที่คาดหวัง ซึ่งปัญหานี้ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาท และส่งผลกระทบยาวนานราว 2 ปีนับจากที่เริ่มจำหน่ายรถเกี่ยวนวดข้าวรุ่นนั้น “ตอนแรกที่ใช้สินค้าตัวอย่างมาทดสอบก็เป็นไปด้วยดี แต่เมื่อใช้ประกอบผลิตภัณฑ์เพื่อขายให้ลูกค้าแล้ว กลับไม่เป็นตามที่เคยทดสอบ ถึงขนาดที่เวลาลงพื้นที่จริงแล้วรถวิ่งไม่ได้เลย เราก็ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาให้เพราะเวลาที่ขายอะไรไปแล้วเกิดปัญหาเราจะไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ แม้ว่าจะค้นพบสาเหตุภายหลังว่า คุณภาพชิ้นส่วนไม่เหมือนตอนทดสอบเพราะซัพพลายเออร์ใช้แหล่งผลิตคนละที่กับสินค้าตัวอย่าง” ดังนั้น กิตติศักดิ์จึงเห็นความจำเป็นในการวางมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบเดียวกันขึ้นอีกโดยเน้นเรื่องความทนทานเป็นอันดับแรกเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริงในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ทั้งยังกำหนดระยะเวลาการทดสอบไม่ต่ำกว่า 1 ปี เช่นเดียวกับการคัดสรรซัพพลายเออร์ที่มีความรับผิดชอบเป็นอย่างดีด้วย ไม่เฉพาะการทดสอบผลิตภัณฑ์ บริษัทยังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายแอบเปลี่ยนอะไหล่ โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้วก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเริ่มผลิตชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจหลักของรถเกี่ยวนวดข้าวขึ้นเองภายใต้เทคโนโลยีที่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันบริษัทยังเล็งเห็นความสำคัญของการเสริมพลังยอดขายให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยพยายามช่วยลดข้อจำกัดด้านกำลังเงินของลูกค้า บริษัทจึงตัดสินใจตั้งบริษัทในเครือได้แก่ บริษัท แทมโก้ แคปปิตอล จำกัด เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อแก่ลูกค้าที่ต้องการซื้อรถเกี่ยวนวดข้าวขึ้น บ่มเพาะ TAMCO ยุคใหม่ จากจุดเด่นของบริษัทที่เน้นการสื่อสารกับลูกค้าเพื่อรับรู้ความต้องการอย่างแท้จริงและนำมาใช้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เมื่อปี 2542 TAMCO ได้กลายเป็นผู้ผลิตรถเกี่ยวนวดข้าวรายแรกของไทยที่มีถังเก็บข้าวให้ลูกค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยุคที่ 2 ซึ่งมาจากความต้องการของลูกค้าในประเทศมาเลเซีย อันเป็นแนวคิดเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์รถเกี่ยวนวดข้าวที่มาจากยุโรป ปัจจุบันนับเป็นช่วงเวลาสำคัญของ TAMCO ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 อันเป็นยุคที่ให้ความสำคัญในเรื่องลดการใช้แรงงานคนเพื่อผลิตรถเกี่ยวนวดข้าว จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เครื่องจักรผลิตชิ้นงานหลักที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานฝีมือในการเชื่อมโลหะเท่าในอดีต TAMCO ใช้เวลากว่า 6 ปีในการศึกษา ก่อนตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องตัดเลเซอร์ และเครื่องพับแบบ พร้อมกับพัฒนาฝ่ายออกแบบให้สร้างสรรค์งานที่สามารถใช้เครื่องจักรดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยให้สามารถผลิตชิ้นงานโลหะที่ซับซ้อนแต่ตรงวัตถุประสงค์ของการใช้งานมากขึ้น “ระบบการผลิตใหม่จะช่วยให้เรายกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพของตัวรถได้มากขึ้น เพื่อเป็นรถเกี่ยวนวดข้าวรุ่นใหม่ที่จะพร้อมวางขายในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยมีจุดเด่นตรงมีระบบโปรแกรมอัตโนมัติให้เลือก สามารถควบคุมการทำงานของรถได้ง่ายจึงช่วยลดการพึ่งพาแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ที่นับวันก็จะยิ่งหายากขึ้นทกุ ที นอกจากยังช่วยประหยัดน้ำมันมากขึ้น ซึ่งจะมีผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ เฉลี่ยถึง 10%” ทั้งนี้วิวัฒนาการดังกล่าวยังนำไปสู่แผนงานที่ TAMCO ต้องการผลิตรถให้ได้ถึง 1,000 คันต่อปีภายใน 5 ปีข้างหน้า ในปัจจุบัน TAMCO มียอดขายจากต่างประเทศไม่เกิน 2% แต่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนให้ถึง 40% ภายใน 5 ปีด้วยการขยายสาขาและหาพันธมิตรเพิ่มคลิกอ่าน "กิตติศักดิ์ หยกอุบล เพาะ TAMCO ยุคใหม่ให้แตกรวง" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine