สหรัฐฯ กับการเดินทางในโค้งสุดท้ายของวงจรเศรษฐกิจ (Late-Cycle)
ย่างเข้าสู่ปีที่ 10 ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากวิกฤติในปี 2008 ซึ่งถือเป็นวงจรเศรษฐกิจที่ยาวนานเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ หลังจากวงจรในช่วงปี 1991-2001 ที่กินเวลายาวนานถึง 10 ปี
โดยปกติ วงจรเศรษฐกิจจะถูกแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา คือ ช่วงวิกฤติ ฟื้นตัว ร้อนแรง และชะลอตัว แต่ปรากฏว่าในระยะหลัง นักเศรษฐศาสตร์ได้ให้นิยามเพิ่มเติมของช่วงรอยต่อระหว่างช่วงฟื้นตัวและร้อนแรงเหมือนในช่วงระหว่างปี 2016-2017 ว่าเป็นช่วงทอง หรือ Goldilocks Economy คือช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจเติบโตสม่ำเสมอ ไม่ร้อนแรงจนเกิดเป็นภาวะเงินเฟ้อ และไม่เชื่องช้าจนเกิดภาวะถดถอย
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ปี 2018 เพียงไม่นาน ความกังวลจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศ รวมทั้งการตอบโต้ด้วยมาตรการกีดกันการค้า ที่อาจนำมาซึ่งต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อ ที่อาจเป็นเหตุของการสิ้นสุดของวงจรเศรษฐกิจครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนให้ตลาดหุ้น ซึ่งสะท้อนได้ดีจากการเพิ่มขึ้นของดัชนี VIX ที่เป็นตัวแทนความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐ จากที่เคยแตะระดับต่ำสุดนับแต่วิกฤติปี 2008 ที่ 9% ในปี 2017 กลับกระชากขึ้นอย่างฉับพลันมาแตะระดับสูงกว่า 37% เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ Goldilocks นี้อาจสิ้นสุดในอีกไม่ช้า นั่นหมายถึงเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงการขยายตัวช่วงสุดท้ายหรือ Late-cycle ซึ่งมีลักษณะทั่วไปคือเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ราคาหุ้นสูงขึ้น และเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรแบนราบ (Flattening yield curve) เพราะดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งกว่าระยะยาว
ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงว่าเศรษฐกิจสหรัฐ อยู่ระยะแรกหรือปลาย Late-cycle และภาวะกระทิงของตลาดหุ้นจะจบลงปีนี้หรือยังจะวิ่งต่อได้อีก 1 หรือ 2 ปี แม้บทเรียนจากอดีตบอกว่าภาวะถดถอยมักมาแบบไม่ทันตั้งตัว แต่หนึ่งในสัญญาณเตือนภัยที่พอใช้ได้ คือเมื่อดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่ายาว เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีลักษณะเป็น Inverted yield curve คือเส้นที่ลาดลงจากซ้ายไปขวา เพราะอัตราดอกเบี้ยระยะยาวต่ำกว่าสั้น บ่งชี้ถึงคาดการณ์ว่าในอนาคตการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลดน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการใช้เงินลดลง อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยต่ำลง นั่นคือเศรษฐกิจจะยิ่งชะลอตัวตกต่ำลงเรื่อยๆ และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด
ภาพรวมปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐ มีเสถียรภาพจากการขยายตัวสม่ำเสมอ อัตราการว่างงานและระดับดอกเบี้ยต่ำ ราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ยังเพิ่มขึ้น เส้นอัตราผลตอบแทนยังไม่เป็น Inverted yield curve (แต่ก็มีความลาดชันต่ำ หรืออัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าสั้นไม่มาก)
อย่างไรก็ตาม มี 3 ปัจจัยเสี่ยง ที่อาจทำให้วงจรครั้งนี้สิ้นสุดเร็วกว่าคาด ประเด็นแรกคือความอ่อนแอในภาคธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาภาวะถดถอยมักเกิดหลังช่วงที่ธุรกิจเร่งขยายกิจการจนกระแสเงินสดติดลบ และเมื่อเศรษฐกิจเริ่มชะลอ กำไรจะลดลง ซ้ำเติมสถานการณ์ที่บริษัทขาดแคลนเงินสด จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจขาดทุนและขาดสภาพคล่อง ลดการจ้างงาน ฉุดรั้งการบริโภค และผลักให้เศรษฐกิจโดยรวมตกต่ำ
ณ จุดนี้ เรื่องนี้ยังไม่น่าเป็นกังวลมาก เพราะภาคธุรกิจสหรัฐ มีกระแสเงินสดเป็นบวกและฐานะการเงินแข็งแกร่ง ประเด็นที่สองคือภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า ซึ่งเรื่องนี้ธนาคารกลางสหรัฐมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอีกในระยะ 1-2 ปี ข้างหน้า ท้าทายการดำเนินนโยบายทางการเงิน เพราะต้องหาจุดพอดีของระดับและช่วงเวลาในการขึ้นดอกเบี้ย
หากธนาคารกลางดำเนินนโยบายทางการเงินผิดพลาด เช่น ปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วหรือแรงเกินไป ภาวะถดถอยในระยะอันใกล้คงยากที่จะหลีกเลี่ยง ประเด็นสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบหนักต่อความต้องการบริโภคสินค้าและปริมาณทรัพยากร เช่น สงครามโลก สงครามการค้า และความขัดแย้งในแหล่งพลังงาน เป็นต้น
สิ่งที่เลี่ยงได้ยากใน Late-cycle คือความเสี่ยงทั้งในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงและความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงิน เพราะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ จากทิศทางนโยบายการเงินและการคลังในเชิงสนับสนุนสภาพคล่องและการฟื้นตัวเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแรง สู่การลดมาตรการพิเศษเพื่อให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจเป็นไปตามกลไกตลาด และเพิ่มความเข้มงวดเชิงนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและฟองสบู่ในราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ หากจุดใดจุดหนึ่งผิดพลาด ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าเกินไป มากหรือน้อยเกินไป ย่อมผลักให้เศรษฐกิจในช่วง Late-cycle เดินเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น