จับตาดูการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลในสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงหลังนาย Donald Trump พลิกล็อกชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน โดยหนึ่งในความคาดหวังที่ขับเคลื่อนการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นนั้นได้แก่นโยบายปฏิรูปภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุนผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ โดยตัวแทนพรรค Republican ที่ครองเสียงข้างมากในสภา และนาย Donald Trump ว่าที่ประธานาธิบดีเสนอให้ปฎิรูปโครงสร้างภาษีนิติบุคคล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ ซึ่งได้มีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบภาษีในหลายด้าน ได้แก่
หนึ่ง ลดอัตราภาษีนิติบุคคล (Corporate tax) เพื่อให้บริษัทในสหรัฐฯ สามารถแข่งขันกับบริษัทนอกประเทศ ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น โดยในปัจจุบันอัตราภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ อยู่ที่ 35% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ที่ 25% โดยนาย Trump เสนอให้ลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 15% แต่ตลาดคาดว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติให้ลดอัตราภาษีลงเหลือ 20-25% เราประเมินว่าการลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงทุก 5% จะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 4%
สอง ให้ ภาษีอัตราพิเศษ สำหรับบริษัทที่นำกำไรที่เกิดขึ้นนอกประเทศกลับเข้ามาในประเทศ (Repatriation tax) โดยตามกฎหมายเดิม กำไรที่เกิดขึ้นนอกประเทศจะถูกเก็บภาษีในอัตราภาษีนิติบุคคลเมื่อมีการนำกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งทำให้บริษัทส่วนใหญ่ เลือกที่จะสะสมกำไรไว้นอกประเทศเพื่อจะหลีกเลี่ยงการถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพื่อเป็นการจูงใจให้บริษัทนำเงินที่อยู่นอกประเทศกลับเข้ามาหมุนเวียนและกระตุ้นการลงทุนในประเทศ คณะกรรมการปฏิรูปภาษีของพรรค Republican จึงเสนอให้ลดอัตราภาษีสำหรับกำไรนอกประเทศลงเหลือ 10% เป็นการชั่วคราว ซึ่งเราคาดว่าการลดภาษีดังกล่าวอาจทำให้มีเงินไหลกลับเข้าสหรัฐฯ ได้มากถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจนำไปใช้จ่ายเงินปันผลหรือซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงใช้ลงทุนเพื่อขยายกิจการหรือจ่ายคืนหนี้ในประเทศ
สาม ให้บริษัทเลือกหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนได้เต็มจำนวน โดยตามข้อเสนอการปฏิรูปภาษีใหม่บริษัทจะสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนได้เต็มจำนวนในปีที่มีการลงทุน แทนที่จะทยอยหักค่าเสื่อมราคาในช่วงระยะเวลาหลายปี โดยบริษัทที่เลือกหักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนเต็มจำนวนจะไม่สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายในปีนั้นมาหักจากกำไรได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนให้กับบริษัท อย่างไรก็ดีการบังคับใช้กฎหมายตามที่เสนอต้องมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีซึ่งอาจใช้เวลานาน และมีเสียงต่อต้านจากภาคเอกชน
สี่ เปลี่ยนเกณฑ์เป็นการจัดเก็บภาษีตามแหล่งที่ขาย (Destination-basis) ซึ่งจะทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังนอกประเทศไม่ต้องนำมาคิดรวมเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ในขณะที่ต้นทุนสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศจะไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน การจัดเก็บภาษีตามเกณฑ์ดังกล่าวนับเป็นการใช้เงินภาษีเพื่ออุดหนุนการผลิตในประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทที่เน้นการผลิตส่งออก เช่น อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินได้ประโยชน์ ในขณะที่บริษัทที่มีต้นทุนการนำเข้าและมีอัตรากำไรต่ำ เช่น เสื้อผ้าและสิ่งทอ จะเสียประโยชน์ อย่างไรก็ดีการจัดเก็บภาษีตามเกณฑ์ดังกล่าวอาจถือเป็นการกีดกันการค้า ซึ่งอาจขัดกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) และน่าจะมีเสียงต่อต้านจากภาคเอกชน
นโยบายปฏิรูปภาษีดังกล่าวนับเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และรวมไปถึงเศรษฐกิจโลก ซึ่งนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศควรจับตามองในปีหน้า
TAGGED ON