Roland Hoehn นายฝรั่งของบริษัทเครื่องทำน้ำอุ่นชื่อดังจากเยอรมนี บินเดี่ยวปักธงตลาดในไทยก่อนบริษัทแม่จากเยอรมนีจะรุกเข้ามาจดทะเบียนดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการ โดยใช้ไทยเป็นฐานทำตลาดในเอเชีย
แขกรับเชิญคอลัมน์ Dine with the Boss ฉบับนี้เป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด Roland Hoehn เขาเกิดและเติบโตที่เยอรมนี แต่ทว่าชีวิตส่วนใหญ่ของเขามาทำงานและสร้างครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย 24 ปีแล้ว เป็นผู้บุกเบิกตลาดของสตีเบล เอลทรอนในภูมิภาคนี้ ก่อนที่บริษัทแม่จากเยอรมนีจะรุกเข้ามาจดทะเบียนดำเนินธุรกิจในไทยด้วยการก่อตั้ง บริษัท สตีเบล เอลทรอน จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเซีย จำกัด ในอีกหลายปีต่อมา Roland Hoehn กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเซีย จำกัด นายใหญ่ของบริษัทข้ามชาติจากเยอรมนีรายนี้ไม่เพียงเป็นผู้บริหาร แต่เขายังเป็นผู้บุกเบิกตลาดและนั่งบริหารตั้งแต่ก่อตั้งกิจการในไทย โดยก่อนหน้าที่จะตั้งบริษัท Roland เข้ามาทดลองตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นในไทยก่อนที่บริษัทแม่จะตัดสินใจเข้ามาเปิดกิจการอย่างเป็นทางการ โดยใช้ไทยเป็นฐานทำตลาดในเอเชีย “ผมเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2540 ก่อนที่ Stiebel Eltron จะตั้งบริษัทในไทยราว 1 ปี โดยทดลองตลาดผ่าน agent หลังจากนั้นบริษัทแม่ก็เข้ามาเปิดบริษัทในไทย” Roland เล่าจุดเริ่มต้นการเปิดตลาดในไทยพร้อมแจงว่า บริษัทแม่ สตีเบล เอลทรอนที่เยอรมนีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2467 ใกล้ครบ 100 ปี เป็นบริษัทที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากในเยอรมนีและยุโรป- บินเดี่ยวปักธงตลาดในไทย -
ประเทศไทยไม่ใช่การทำงานต่างประเทศครั้งแรกของ Roland เพราะก่อนหน้าจะมาอยู่เมืองไทย เขาเคยไปทำางานที่ประเทศอื่นมาก่อน และด้วยความที่เป็นคนเปิดกว้างยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำให้เขามีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ไม่ยาก “ตอนที่ผมมาเมืองไทยครั้งแรกผมมาคนเดียว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือตื่นเต้น คุ้นเคยกับภูมิภาคนี้พอควร เพราะก่อนหน้านี้เคยทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอเชีย ต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนและธุรกิจในเอเชียมาตลอด” Roland อธิบายพร้อมเล่าว่า เขาเคยทำงานอยู่หลายเมืองในเอเชีย เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง เพราะฉะนั้นจึงคุ้นเคยกับเอเชียและชอบที่จะอยู่เอเชีย ชอบวัฒนธรรม ชอบอาหาร ผู้คน และภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี
- แจ้งเกิดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ -
“ปี 2540 เมื่อผมมาเรามี agent ที่นี่อยู่แล้ว ผมมาแบบ one-man show ปี 2541 ผมมีพนักงาน 1 คน ในปี 2542 มีพนักงาน 3 คน และเริ่มผลิตสินค้าด้วยตัวเองคือ เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องทำน้ำอุ่น จากก่อนหน้านี้นำเข้าทั้งหมด” นั่นคือปีแรกของการผลิตที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งโรงงานของสตีเบล เอลทรอนช่วงแรกอยู่ที่เมืองทองธานี ต่อมาจึงย้ายไปอยู่ที่จังหวัดอยุธยา หลังจากมองหาพื้นที่ตั้งโรงงานมาหลายแห่ง ทั้งระยอง ชลบุรี แต่สุดท้ายก็เลือกที่อยุธยา อ. บางปะอิน เป็นโรงงานที่ผลิตส่งขายในไทย 70% อีก 30% ส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน ไลน์ผลิตส่วนใหญ่เป็นเครื่องทำความร้อนด้วยระบบไฟฟ้า เช่น เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องทำน้ำอุ่น หม้อต้ม ปั๊มน้ำ และเครื่องกรองน้ำ โดยสินค้าหลักคือ เครื่องทำน้ำร้อน “เรา expert ในไลน์ผลิตหลักเครื่องทำน้ำร้อน มีชื่อเสียงมากที่เยอรมนี และสินค้าที่ผลิตในไทยก็ได้มาตรฐานเยอรมันทุกอย่าง เรายืนหยัดในคุณภาพมาตรฐานจากบริษัทแม่” มาตรฐานที่ Roland กล่าวถึงคือ การออกแบบที่สวยงามและคุ้มค่าคุ้มราคา ไม่แพงเกินไป และมีบริการดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี
- ตลาดสะดุดช่วง “โควิด-19” -
ผ่านวิกฤตครั้งสำคัญน้ำท่วมใหญ่มาได้ หลังจากนั้นอีกราว 8-9 ปีก็มาเจอวิกฤตที่ต่อเนื่องถึงปัจจุบันคือ ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ทำให้ยอดขายของสตีเบลฯ 2 ปีลดลงไปราว 15% “ปี 2564 ปรับขึ้นมาได้ราว 5% ยอมรับว่าไม่เข้าเป้า เพราะผลกระทบโควิด-19 แต่ยังดีกว่าธุรกิจ retail, modern trade โฮมโปร, บุญถาวร, ไทวัสดุ ที่ติดล็อกดาวน์ยอดตก แต่ถึงกระนั้น Stiebel Eltron ก็ยังมียอดขายระดับหนึ่งจาก dealer ที่มีมากกว่า 200 ราย และ modern trade ที่มียอดขายออนไลน์เพิ่มเข้ามา “โครงการ B2B แย่มาก ไม่มีโครงการใหม่โปรเจ็กต์หายหมด ยังดีที่ออนไลน์ยอดเพิ่มขึ้นแต่ก็เป็นสัดส่วนไม่มาก ช่องทางหลักของการขายหายไปจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดขายพลาดเป้า แม้จะมีออนไลน์เพิ่มเข้ามาแต่ไม่มากพอที่จะชดเชยกันได้” แม่ทัพวัย 57 ปีของสตีเบล เอลทรอน เอเซีย เผยและว่า ในช่วงล็อกดาวน์บริษัทฯ ได้พยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการทำตลาด เช่น อี-คอมเมิร์ซ, ไดเร็กเซลส์ มองหาโอกาสใหม่ในการขาย และไม่ได้หยุดขาย เพราะมีอี-คอมเมิร์ซเป็นช่องทางการทำตลาด แต่ก็ชดเชยยอดขายที่หดหายจากงานโครงการไม่ได้ อย่างไรก็ตาม Roland เชื่อว่า ในปี 2565 ตลาดจะค่อยๆ กลับมา “แม้จะมี Omicron แต่เราเชื่อว่าจะไม่แรงมาก เรามองว่าตลาดหลังโควิดจะกลับมา” ผู้บริหารสตีเบล เอลทรอน เอเซีย เชื่ออย่างนั้น จึงพยายามประคองกิจการให้เดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- “CIOS” ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำปี 2022
- สุมาลี คริสธานินทร์ นำทัพโนวาร์ตีสไทยดึงทุนวิจัยยาเข้าประเทศ
- SMS กลยุทธ์เก่า แต่เด็ด ที่แบรนด์หันมาใช้
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine
