Danish Rahman นำทัพดานอนเสิร์ฟนวัตกรรม อาหารเด็ก-ผู้สูงวัย - Forbes Thailand

Danish Rahman นำทัพดานอนเสิร์ฟนวัตกรรม อาหารเด็ก-ผู้สูงวัย

จากธุรกิจอุปโภคบริโภคก้าวสู่ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มในฐานะผู้นำตลาดนมสำหรับเด็กในไทยและอีกหลายประเทศไม่ได้ทำให้ความสนุกในการทำงานของ Danish Rahman กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประธาน สเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น ประจำอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของดานอน (Danone) ลดน้อยลง เพราะนักธุรกิจชาวอินเดียผู้นี้มีคติประจำใจว่า “Do What You Love and Love What You Do” เขารู้สึกสนุกกับทุกงานที่ทำ


ดูตลาดอาเซียน-อินเดีย

    “ทำงานกับ P&G 15 ปี ดูแลมาร์เก็ตติ้งในตลาดอาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่น จากนั้นก็ move มา Danone ในปี 2557” Rahman เผยประสบการณ์คร่าวๆ ของเขาในฐานะผู้บริหารบริษัทข้ามชาติในการพูดคุยกับทีมงาน Forbes Thailand โดยแม้ผลิตภัณฑ์ของ P&G และดานอนจะต่างกัน แต่ความเหมือนของทั้งสององค์กรคือ การเป็นบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล

    Rahman บอกว่า เขาทำงานกับดานอนมาแล้ว 9 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่ที่เขาก้าวเข้ามาร่วมงานกับดานอนในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธุรกิจสเปเชียลไลซ์ นิวทริชั่น ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2557 จากนั้นในปี 2561 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการประจำประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ดูแลรับผิดชอบด้านกลยุทธ์และธุรกิจ และสร้างความแข็งแกร่งด้านการจัดจำหน่าย

    ประสบการณ์ของ Rahman กว่า 20 ปีคือ การคลุกคลีดูแลตลาดหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงอินเดีย และล่าสุดประเทศไทย เขาเป็นผู้บริหารสูงสุดดานอน ประเทศไทย ได้ราว 2 ปี ช่วงที่ Rahman เข้ามานั้นยังอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องบริหารองค์กรในภาวะวิกฤต

    Rahman บอกว่า โชคดีที่ดานอนออกแบบการทำงานให้ทุกคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) ทำให้ช่วง 2 ปีระหว่างโควิดนั้นเดินหน้าต่อเนื่องได้ภายใต้การปรับตัวด้วยการทำ digitalization ให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไปเมื่อช่องทางขายเดิมติดปัญหา แต่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ และควิกคอมเมิร์ซ (บริการเดลิเวอรี่) เติบโต ดานอนต้องตามให้ทันเมื่อเข้าถึงก็สามารถสร้างการเติบโตได้


ปัญหาเด็กเกิดใหม่ลดลง

    ภารกิจในการดูแลเพิ่มขึ้น รับผิดชอบตลาดหลักในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคซึ่งเขาถนัดเพราะทำมาตลอดชีวิตการทำงานกว่า 20 ปี สำหรับประเทศไทยที่อยู่มา 2 ปีครึ่งในฐานะแม่ทัพองค์กรที่มีผลิตภัณฑ์สำหรับทุกช่วงวัย โดยมีผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเป็นหลัก

    สิ่งที่ท้าทายคือ ปัญหาประชากรเกิดใหม่ลดลง “ความท้าทายคือ จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง การกำกับดูแลค่อนข้างเข้มงวด ต้องทำอย่างระมัดระวัง และผลิตภัณฑ์บางอย่างของ Danone เป็นสินค้าที่ควบคุมราคา”

    ทั้ง 3 ปัจจัยล้วนเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจ ถึงกระนั้นดานอนก็ยังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดนมสำหรับเด็กไว้ได้ โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทคือ แบรนด์ Hi-Q1 Plus ขณะที่แบรนด์ Dumex ที่ทำตลาดมาก่อนถือว่าประสบความสำเร็จที่ดีเช่นกัน “ข้อมูลจาก Nielsen ระบุว่า ตลาดรวมผลิตภัณฑ์นมเด็กในไทยมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท Danone เป็นเบอร์ 1 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 38%”

    สำหรับประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในแผนพัฒนาธุรกิจด้วยความยั่งยืนที่ชัดเจน “ไทยสำเร็จค่อนข้างเร็วจากการทำ Triple Zero คือ carbon, waste, และ water ซึ่งเราภูมิใจมาก” แม่ทัพดานอน ประเทศไทย ย้ำและว่า สิ่งที่ทำนี้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจทิศทางเดียวกับบริษัทแม่ดานอนที่ฝรั่งเศสซึ่งวางแนวการเติบโตธุรกิจควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือแนวทางของความยั่งยืนตั้งแต่วันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจจนถึงปัจจุบัน


ปัญหาสุขภาพเด็กโจทย์สำคัญ

    ภายใต้โอกาสจากฐานประชากรที่จะเพิ่มขึ้น ทว่าในภูมิภาคนี้ยังมีปัญหาที่ดานอนให้ความสำคัญวางเป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้รองรับกับปัญหาที่พบว่า ทั้งไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอินเดียสัดส่วนเด็กกว่า 35-40% มีปัญหาเลือดจางและขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นผลเสียในระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา และเป็นภัยเงียบที่ซ่อนตัวเติบโตไปพร้อมกับเด็กๆ เหล่านี้

    “Danone ได้ create awareness กับพาร์ตเนอร์เพื่อร่วมผลักดันแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมสุขภาพเด็กตามสโลแกน One Planet. One Health สู่สังคม” ผู้นำดานอน ประเทศไทย ยังเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาเขาได้ทำงานในหลายประเทศ กับอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำงานกับโรงพยาบาลซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหานี้มาแล้วที่ประเทศมาเลเซีย และยอมรับว่าแต่ละประเทศมีกฎระเบียบและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

    อย่างไรก็ตามดานอนปฏิบัติตามกติกาของแต่ละประเทศอย่างเคร่งครัดและเห็นด้วยกับการกำกับดูแลด้านอาหารว่าเป็นกฎระเบียบสำคัญที่ต้องยึดปฏิบัติให้ถูกต้อง ยอมรับว่ามีข้อจำกัดหลากหลายบางอย่างทำได้และอีกหลายอย่างที่ห้ามทำแต่เขาย้ำว่า ดานอนจะทำอย่างดีที่สุด

    “รู้สึกเศร้าที่พบว่า เด็กๆ 35-40% ของภูมิภาคนี้มีปัญหาขาดธาตุเหล็ก จึงได้เริ่มโครงการนี้เมื่อ 2 ปีก่อน แต่พอเกิดเหตุการณ์โควิดทำให้ชะงักไป เราจะนำกลับมาสานต่อให้สำเร็จ” Rahman ย้ำ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘สุริยน ศรีอรทัยกุล’ รังสรรค์บิวตี้ เจมส์ ยกระดับอัญมณีไทยดังไกลทั่วโลก

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine