‘ชาญชัย กุลถาวรากร’ บิ๊กบอส ASL จิบชาเจรจาธุรกิจ - Forbes Thailand

‘ชาญชัย กุลถาวรากร’ บิ๊กบอส ASL จิบชาเจรจาธุรกิจ

เช้าวันทำงานกลางสัปดาห์ท่ามกลางบรรยากาศเร่งรีบของคนเมือง แต่เหมือนเวลาหยุดลงชั่วคราวเมื่อได้สัมผัสอีกมิติในการพูดคุยแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการจิบชากับนักธุรกิจผู้ชื่นชอบ ‘ชา’ และสะสมความรู้เรื่องชาอย่างลึกซึ้ง


    นอกจากชอบเรียนรู้และลิ้มลองรสชาติชาจากหลายที่แล้ว ชาญชัย กุลถาวรากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด (ASL) ยังเป็นนักสะสมชาตัวยง ห้องทำงานของเขาที่อาคารสำนักงานบนถนนเกษตร-นวมินทร์ เต็มไปด้วยชาสะสมมีทั้งชาลิมิเต็ดและชาเก่าแก่มูลค่าสูง

    “ผมชื่นชอบการดื่มชามานาน สะสม และศึกษาไปเรื่อย การดื่มชาของผมไม่เหมือนใคร ผมต้องกรองทุกขั้นตอนเพื่อความปลอดภัยและได้อรรถรสชาของแท้” นักธุรกิจการเงินผู้ก่อตั้ง บล. เอเอสแอล และได้รับสมญานามว่า เป็น ‘เสือ 9 ชีวิต’ ในแวดวงหลักทรัพย์และการลงทุนเริ่มต้นบทสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ เขาเชื้อเชิญให้ลิ้มลองรสชาติของชาที่แตกต่างซึ่งมีลำดับความเข้มข้นและเจือจางต่างกันไปพร้อมสาธิตวิธีกรองชาในแบบของเขาที่ไม่เหมือนใคร เป็นวิธีเพื่อความสะอาดปราศจากสิ่งเจือปนทุกชนิด

    การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีมาช้านานทั้งจีนและญี่ปุ่น ในไทยได้รับการส่งต่อวัฒนธรรมมาจากชาวจีนที่เข้ามาลงหลักปักฐานในไทย จากคนจีนในไทยมาสู่ชาวไทยเชื้อสายจีน วัฒนธรรมหลายอย่างสืบทอดต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น วิถีการดื่มชาก็เช่นเดียวกัน ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่ทายาทหลายเจเนอเรชั่น คนจีนสูงวัยเกือบ 100% ล้วนดื่มชาเพราะรู้ว่าชามีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ โดยส่วนใหญ่เป็นการดื่มในชีวิตประจำวันแบบง่ายๆ ไม่พิถีพิถันมาก

    ต่างจากวิถีการดื่มชาของชาญชัย แม้จะเป็นการชงด้วยน้ำร้อนเหมือนกันแต่มีความพิถีพิถันต่างไป ด้วยการกรองจนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนดื่ม ซึ่งเป็นความคิดส่วนตัวเขาหลังจากศึกษาและทดลองมาก่อนหน้านี้ แม้แต่ชาคุณภาพสูงราคาต่อกิโลกรัมเกินกว่าเลข 7 หลักขึ้นไปเขาก็ชงในวิธีเดียวกัน


รู้ให้จริงทุกเรื่องที่ทำ

    “ทำอะไรก็ต้องเข้าถึงลึกซึ้งเพื่อให้ได้รู้ในเรื่องนั้นอย่างแท้จริง ดื่มชาก็ไม่ต่างกัน เราควรรู้จักชาเหล่านั้นให้ละเอียด รู้ที่มา ความพิเศษ รวมถึงคุณค่าและสรรพคุณ” ชาญชัยบอกเล่าอย่างเป็นกันเองพร้อมเริ่มการชงชาให้ผู้มาเยือนอย่างละเมียดละไม เริ่มตั้งแต่การเลือกชาให้เหมาะกับผู้ดื่ม เพราะชามีหลากหลายชนิด แต่หลายคนไม่ได้สนใจมักเรียกรวมกันว่าดื่มชาจีน แต่ที่จริงแล้วจีนจำแนกชาออกเป็นหลากหลายประเภท

    เขาไม่ได้สาธยายถึงชาทุกประเภท เอ่ยเพียงว่า ชามีความหลากหลายมากกว่าที่เราคิด และตลอดเวลาที่พูดไปชงชาไปเขาดูมีความสุขเมื่อได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ผู้มาเยือนได้รับทราบ “คนจีนดื่มชาเป็นกิจวัตร เพราะฉะนั้นหากคุยธุรกิจกับคนจีนแน่นอนคุณก็ต้องดื่มชา มันเป็นทั้งวัฒนธรรมและความรื่นรมย์” ชาญชัยอธิบายที่มาของความสนใจเรื่องชา ซึ่งเขาสัมผัสและศึกษามายาวนานกว่า 20 ปี

    เขาดื่มชาทุกวันในเวลาปกติราวบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 ซึ่งเป็นช่วง tea time หลังอาหาร แต่บ่อยครั้งเขาได้ชงและร่วมจิบกับเพื่อนพ้องที่แวะมาเยือนก่อนมื้ออาหารเที่ยง ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนก่อนรับประทานมื้อเที่ยงด้วยกัน

    “มีชาที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ผมมักแนะนำให้เพื่อนๆ ได้ดื่มก่อนมื้อเที่ยง ช่วยให้เจริญอาหาร” วันนี้ก็เช่นกันชาญชัยบอกเล่าเรื่องการดื่มชาของเขาไปพร้อมๆ กับการแนะนำให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องชาในเบื้องต้น ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนวิธีการชงและการเลือกชาให้เหมาะกับผู้ดื่ม

    ชาญชัยเลือกชาแดงหมักเป็นเคร่ืองดื่มสำหรับวันนี้ เขาอธิบายว่า นี่เป็นชาแดงจีนที่ผ่านการหมักทำให้ลื่นคอเวลาดื่ม และชาแดงนี้ก็ไม่มีกาเฟอีนจึงเหมาะกับคนที่ไม่อยากรับกาเฟอีนหรือแพ้ อย่างไรก็ดีชาแดงก็มีหลากหลายพันธุ์ตามแหล่งที่มา เขาอธิบายไปเรื่อยๆ พร้อมกับเริ่มขั้นตอนการชงในแบบของตัวเอง

    เริ่มจากการหยิบชาใส่กาเพื่อชงดื่ม วิธีของเขา การชงชาในน้ำแรกเขาจะเทชาใส่ถ้วยที่เตรียมไว้ เทใส่แล้วเททิ้งไป นี่คือการล้างถ้วยชาก่อนจะดื่มเพื่อให้ถ้วยสะอาดและอวลไปด้วยกลิ่นชา น้ำที่ยังใสของชาจะช่วยทำความสะอาดถ้วย และขณะเดียวกันก็เคลือบถ้วยเหล่านั้นด้วยกลิ่นชาที่ชงจะทำให้ได้รสชาอย่างแท้จริง เหนืออื่นใดเขาใช้กรวยกระดาษในการกรองชาครั้งสุดท้ายก่อนเทลงถ้วยทุกครั้ง


ของสะสมจรรโลงใจ

    การดื่มชาของนักธุรกิจรุ่นใหญ่แห่ง ASL เป็นกิจวัตรที่ทำจนชิน เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะเขาต้องเดินทางไปทำธุรกิจร่วมกับนักธุรกิจจีนบ่อยครั้ง และมีโครงการความร่วมมือกับ Bank of China ทำให้ต้องสัมผัสกับการดื่มชาคุยธุรกิจควบคู่ไปกับการทำงาน แต่อีกส่วนก็เป็นด้วยใจรักและชื่นชอบการดื่มชาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

    “ผมเคยไปประมูลชาและมีชาพิเศษที่มาจากเหตุการณ์สำคัญคือชาในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งชาวจีนในสิบสองปันนาได้ทำการเด็ดยอดชามาตากแห้งเป็นชาสดเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงในหลวงในวันที่ท่านเสด็จสวรรคต” นั่นคือวันที่ 13 ตุลาคม ปี 2559 ซึ่งชาล็อตนี้ผลิตออกมา 100 กิโลกรัม ชาญชัยเผยว่า เขาซื้อมาได้ 50 กิโลกรัม น่าจะเป็นคนที่ครอบครองชาพิเศษนี้ไว้มากที่สุด เป็นทั้งความชื่นชอบและศรัทธา

    สำนักงานของชาญชัยมีทั้งโต๊ะชงชาที่ออกแบบให้มีที่วางและชงชาแบบเฉพาะของเขา และมีตู้โชว์อีกหลายใบที่จัดเก็บเหล่าชาที่เขาสะสมมา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชาในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นของล้ำค่าในความรู้สึกของแม่ทัพใหญ่แห่ง ASL ที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะถูกทำขึ้นมาในวาระพิเศษ

    “คนจีนรักในหลวงมาก พอทราบว่าท่านสวรรคตพวกเขาก็เด็ดยอดชาวันนั้นมาตากแห้งผลิตเป็นชาล็อตพิเศษเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ท่าน” เขาอธิบายที่มาและความพิเศษของชาลิมิเต็ดล็อตสำคัญ

    โดยปกติแล้วชามีความสำคัญและผูกพันกับชาวจีนมาช้านาน “สำนวนจีนกล่าวถึงชาไว้ว่า 1 ปีเป็นชา 3 ปีเป็นยา 7 ปีเป็นทองคำ ประเมินค่ามิได้ มีรสชาติดีและมีคุณค่าต่อจิตใจ” ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงเก็บชาที่อายุเกินกว่า 7 ปีไว้ดื่มเองสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับพ่อค้าชาแน่นอนเขาย่อมต้องการขายในราคาสูง


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รวิศ หาญอุตสาหะ Mission to the Moon ของศรีจันทร์

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine